หัวใจของหนังคงไม่ได้อยู่ที่พยายามจะบอกเล่า “story” และไม่ได้ต้องการ Plot สมบูรณ์แบบอย่างที่เราคุ้นชินในหนังฮอลลีวู้ด ตรงกันข้าม หนัง “ไม่ได้” ต้องการจะสร้างเรื่องเล่าที่สมบูรณ์แบบใดๆ แต่เนื้อหาสำคัญคือ การค้นหา “ตัวตน” ของพ่อว่าที่แท้จริงแล้ว ปมปัญหาที่โซฟีพอจะรับรู้อย่างพร่าเลือนคืออะไร หนังถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกอันหนักอึ้งของฝ่ายพ่อ ความคาดหวังไร้เดียงสาของลูก ความรักของลูกที่อยากจะเยียวยาความทุกข์ของพ่อ ความสัมพันธ์ของพ่อลูกท่ามกลางความโดดเดี่ยวแปลกแยกของพ่อแม่ในวัยหนุ่มสาวที่ไร้ทางออก และภาวะนั้นไม่ต่างจากความรู้สึกของโซฟีเมื่อเธอเติบโตขึ้นอยู่ในวัยเดียวกับคาลัมและมีลูกน้อย
ภาพความพร่าเลือนของความสัมพันธ์ และในที่สุดพ่อก็หายไปจากชีวิตเธอดังภาพนิ่งจากกล้องโพลารอยด์ที่เมื่อถ่ายออกมาแล้วก็ไม่ชัดเจนเสียที แม้ว่าช็อตนี้จะถูกแช่ไว้นานพอควร แต่คนดูก็เห็นเพียงแต่ภาพพ่อลูกในความดำมืดบนรูปภาพนั่นเอง (ซึ่งผิดปกติจากภาพกล้องโพลารอยด์ทั่วไปที่ควรจะค่อยๆ สว่างขึ้นจนคมชัด)
เมื่อเธอหวนกลับมาดูภาพแห่งความทรงจำจากฟุตเทจวิดีโอทั้งหมด หนังบอกเป็นนัยว่าพ่อเธออาจไม่ได้มีชีวิตอยู่แล้วด้วยซีนที่กระชากอารมณ์คนดู 2-3 ครั้ง (เช่น ซีนรถบัสกำลังจะชนคาลัม และซีนที่เขาเดินลงทะเล) เธอรู้สึกอ้างว้าง โดดเดี่ยวเช่นเดียวกับพ่อในวัยหนุ่มที่แปลกแยกจากบ้านเกิด และไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตแม้ว่าจะเดินทางไปทำงานที่ลอนดอน
“ความพ่ายแพ้” ของคาลัมในซีนจบที่สนามบิน พ่อใช้กล้องจับภาพลูกสาวที่กำลังโบกมืออำลา ต่างฝ่ายต่างบอกรักด้วยความอบอุ่น จากนั้นฟรีซภาพโซฟีที่โบกมือบายๆ และแพนมาที่โซฟีตอนวัยสาวที่มีลูกแล้ว เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวในเมืองใหญ่และแพนต่อไปเป็นภาพสุดท้ายของพ่อที่เธอเห็นในชีวิต คือ ภาพที่พ่อปิดกล้องและเดินหันหลัง (มีเสียงเด็กทารกแทรก) กลับไปที่ประตูทางออก เมื่อพ่อเปิดประตูแล้ว กลับเป็นปารตี้เรฟ ที่พ่อพร้อมจะดำดิ่งลงไปปลดปล่อยความทุกข์และความพ่ายแพ้ของตน
นอกจากเพลงประกอบแล้ว Background sound ยังทำหน้าที่เล่าเรื่องหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียงเด็กทารกที่ดังขึ้นตอนที่โซฟีอยู่ในห้องนอน และอีกครั้งที่สนามบินตอนที่คาลัมจะเดินหายไปในเรฟปาร์ตี้
ชื่อเรื่อง Aftersun ศัพท์คำนี้โดยทั่วไปคนจะนึกถึงโลชั่นทาผิวป้องกันแสงแดดไม่ให้ผิวไหม้ และจะเห็นฉากที่คาลัมทาโลชั่นนี้ให้แก่ลูก 2 ครั้ง ทั้งที่โซฟีก็พยายามอยากจะทำเอง เริ่มเรียนรู้ที่อยากจะปกป้องตนเอง แต่อีกนัยหนึ่งของชื่อเรื่องก็คือ หลังจากพระอาทิตย์ลาลับไปแล้ว มันคือความหดหู่พ่ายแพ้ที่เอาชนะไม่ได้สักครั้งแม้จะพยายามเพียงใด จนต้องพรากจากกันไป…
ตัวคาลัม ซึ่งแสดงโดยพอล เมสคาล แบกภารกิจการแสดงที่ต้องถ่ายทอดได้ทั้งมิติที่หนึ่ง สอง และสาม เป็นสามมิติที่แตกต่างกันสิ้นเชิง ไม่ต้องสงสัยว่าทำไมจึงได้รับการเสนอชื่อชิงออสการ์ ตัวน้องแฟรงกี้ โคริโอซึ่งแสดงเป็นโซฟีนั้นเสน่ห์เหลือล้น แสดงเป็นธรรมชาติเหมือนไม่แสดง และสำหรับผู้กำกับหญิงชาร์ลอตต์ เวลส์ก็เป็นความหวังของชาวอังกฤษอย่างมากในการจะก่อร่างสร้าง British new wave อีกครั้ง