“คนเกาหลีคุ้นเคยกับความรุนแรง เพราะเราเพิ่งเจอยุคเผด็จการมา 50 กว่าปีเท่านั้น”

Memories of Murder ได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในหนังเกาหลีที่ดีที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 …บงจุนโฮเขียนบทและกำกับงานมาสเตอร์พีซชิ้นนี้เป็นหนังยาวเรื่องที่ 2 ของชีวิตในปี 2003 ขณะที่เขาอายุ 34 ปี


บงเรียน Korean Academy of Film Arts จบมา 9 ปีก่อนหน้านั้น หนังจบของเขาคือ Incoherence ความยาว 28 นาทีซึ่งยังคงได้รับการพูดถึงว่าเป็นหนึ่งในหนังสั้นนักศึกษาที่ฉลาดและออริจินัลที่สุด หลังเรียนจบเขาไปเป็นผู้ร่วมเขียนบทและผู้ช่วยผู้กำกับให้หนังเกาหลีเรื่องสำคัญอย่าง Motel Cactus (1997) และร่วมเขียนบทหนังทริลเลอร์ Phantom, The Submarine (1999)

Barking Dogs Never Bite (2000) เป็นหนังยาวเรื่องแรกของบงจุนโฮที่แจ้งเกิดแก่เขาอย่างสวยงาม แม้จะไม่ประสบความสำเร็จนักด้านรายได้ แต่ก็เป็นผลงานชั้นดีที่ช่วยให้เขาต่อยอดสู่งานถัดมาอย่าง Memories of Murder ได้ …โดยไม่มีใครนึกฝันว่า กลายเป็นงานชิ้นนี้นี่เองที่กวาดทั้งรางวัลและเงินอย่างถล่มทลายระดับสร้างปรากฏการณ์ (หนังคว้าแชมป์บ็อกซ์ออฟฟิศปี 2003 ในเกาหลี แซงหน้า The Matrix Reloaded ซึ่งเป็นหนังต่างประเทศทำเงินสูงสุดในเกาหลีขณะนั้น) และทำให้ชื่อ “บงจุนโฮ” ก้าวมาอยู่แนวหน้านับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

“ผมอยากทำหนังทริลเลอร์ แต่ไม่ใช่แบบที่ขับเคลื่อนด้วยพล็อตเป็นหลักเหมือนหนังฮอลลีวู้ด ผมอยากทำหนังทริลเลอร์สไตล์เกาหลียุคเก่าที่เน้นแง่มุมความเป็นมนุษย์และอารมณ์ ผมชอบอ่านนิยายแนวนี้มาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมแล้วล่ะ ชอบสังเกตว่าคนเรามีปฏิกิริยาอย่างไรเวลาโดนจับในคดีอาชญากรรมที่ตนก่อขึ้น”

ความสำเร็จของ Memories of Murder เกิดจากส่วนผสมอันเข้มข้นระหว่างรสชาติความบันเทิงแบบเกาหลี และการหยิบเอาข่าวสะเทือนขวัญสุดโด่งดังในยุค 1980 มานำเสนอใหม่ ตบท้ายด้วยการสอดแทรกท่าทีวิพากษ์วิจารณ์สังคมเกาหลีอย่างทั้งมืดหม่นและมีอารมณ์ขัน อันล้วนเป็นเสน่ห์สำคัญที่เราจะพบได้อีกเสมอในผลงานต่อๆ มาของเขา

“มันเป็นคดีฆาตกรต่อเนื่องคดีแรกที่เกิดขึ้นในเกาหลี และผมยังคงจดจำความรู้สึกตอนนั้นได้ดี ในระยะเวลาหกปี มีการฆาตกรรมไปทั้งสิ้นสิบศพ เกิดขึ้นในต่างจังหวัดซึ่งก็ไม่ได้อยู่ไกลจากโซลเท่าไหร่ ไม่มีเหตุจูงใจเรื่องเงินหรือการแก้แค้น เห็นได้ชัดว่า มันเป็นคดีฆ่าข่มขืนผู้หญิงเพียงอย่างเดียว” บงจุนโฮเล่า

“ผมใช้เวลานานมากเพื่อศึกษาเรื่องราวทั้งหมด และผมเริ่มหมกมุ่นกับมัน ผมอ่านหนังสือพิมพ์ทุกฉบับที่มีการรายงานข่าว ออกไปสัมภาษณ์คนทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับคดี ไม่ว่าจะเป็นนักข่าว ตำรวจ หรือชาวบ้านที่มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลานั้น

“คนที่มีอิทธิพลต่อผมมากที่สุดคือ อดีตตำรวจที่รับผิดชอบคดีนี้ เขาร้องไห้ระหว่างที่เราคุยกันหลายต่อหลายครั้ง สิ่งนี้ทำให้ผมมีความไม่แน่ใจกับตัวเอง เพราะผมไม่เคยชอบตำรวจเลย แต่หลังจากที่ผมได้คุยกับเขาผมก็กลับมาคิดทบทวนกับตัวเองอีกครั้ง สิ่งที่ติดตรึงอยู่ในใจผม คือ ความปรารถนาอันหมดจดของเขาที่ต้องการจะจับกุมคนร้าย

“ในขั้นตอนการเขียน ผมตัดสินใจลดระยะเวลาของคดีให้สั้นลง รวมถึงลดจำนวนเหยื่อด้วย ส่วนรายละเอียดของการฆ่านั้นผมนำมาจากรายงานการบันทึกแบบคำต่อคำ ในความเป็นจริงแล้วมีตำรวจจำนวนมากจากโซลเดินทางมาเพื่อไขคดี และสิ่งนี้สร้างความขัดแย้งขึ้นระหว่างพวกเขาและตำรวจท้องถิ่น และเมื่อเรื่องราวดำเนินไปพวกเขาก็มีทางของตัวเองในการทำงาน ผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากที่เราจะได้เห็นพวกเขาทำงานด้วยกันในหนัง

“เมื่อปี 1996 มีละครเวทีที่สร้างจากคดีนี้ชื่อ “Come to See Me” ซึ่งผมทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ และตลอดเวลาที่ผมดูละคร มันก็ได้จุดประกายไอเดียหลายๆ อย่างในตัวผมและผมอยากดัดแปลงหลายๆ อย่างมาเป็นบทหนัง แต่โปรดิวเซอร์ของผมไม่อยากวุ่นวายกับเรื่องซื้อลิขสิทธิ์ในตอนแรก เพราะเขามองว่ามันสร้างจากเรื่องจริง แต่ผมเป็นฝ่ายยืนยันให้เขาทำ ผมเป็นฝ่ายชนะ ฉากหลายฉากในหนังมาจากละครเวที ส่วนตัวละครผมเป็นคนสร้างขึ้นใหม่”

บงจุนโฮเรียกพวกเขาว่า “ขี้แพ้ผู้น่ารัก”

ตำรวจสืบสวนสองนาย หนึ่งเป็นตำรวจท้องถิ่น อีกคนส่งตรงจากกรุงโซล พวกเขาเกลียดขี้หน้ากันตั้งแต่แรกเจอ ต้องสืบคดีร่วมกัน แล้วก็ทะเลาะกัน มีความเห็นไม่ลงรอยและมีวิธีการทำงานคนละแบบ แต่ในท้ายที่สุดแล้วทั้งสองไม่ได้ถูกนำเสนอให้เป็นตำรวจคู่หูเพื่อนรักแบบในตอนจบแบบ Rush Hour นี่เป็นอีกสิ่งที่ทำให้หนังของบงจุนโฮไม่เหมือนหนังสืบสวนตามสูตรสำเร็จทั่วไป
 

”จริงๆ มันเหมือนเป็นความหมกมุ่นเฉพาะตัวของผม ผมชอบจับตัวละครพวกนี้ลงไปในสถานการณ์ที่มันเป็นไปไม่ได้ที่จะแก้ไข สิ่งนี้แหละครับที่จะทำให้เกิดเรื่องราวที่ทรงพลัง ถ้าคุณจับซูเปอร์ฮีโร่ไปปฎิบัติภารกิจ ผลลัพธ์มันคาดเดาง่ายเกินไป ในหนังของผมมีโครงสร้างที่เหมือนๆ กันหมด ไม่ว่าพวกขี้แพ้เหล่านี้จะต้องเจอกับฆาตกรต่อเนื่องหรือสัตว์ประหลาดก็ตาม ผู้ชมเกาหลีคุ้นเคยกับหนังซูเปอร์ฮีโร่กันแล้ว ผมอยากให้หนังของผมแตกต่างจากหนังฮอลลีวู้ด ผมอยากให้มีใครสักคนในหนังที่ผู้ชมสามารถแทนตัวเองลงไปในนั้นได้”

“ไม่มีใครว่างมาช่วยเราได้เลย พวกเขาถูกส่งไปปราบปรามการประท้วงกันหมด”

“ฉันโทรขอให้ทหารส่งกำลังมาช่วยเรา เพราะคืนนี้จะเกิดการฆาตกรรม แต่ไม่มีใครว่างมาได้เลย พวกเขาถูกส่งไปปราบปรามการประท้วงที่ซูวอนกันหมด” …ฉากเล็กๆ ใน Memories of Murder ที่แม้จะโผล่มาแวบเดียว แต่กระแทกใจคนดูดังอึ้กฉากนี้ บ่งบอกได้ดีว่า สำหรับบงจุนโฮแล้ว นี่ไม่ใช่แค่หนังฆาตกรรมระทึกขวัญตำรวจจับผู้ร้ายแน่
 
เรื่องราวในหนังเริ่มต้นในปี 1986 ที่เกิด “คดีข่มขืนแล้วฆ่าที่ฮวาซ็อง” ซึ่งสะเทือนขวัญคนทั้งเกาหลีใต้ และฉากข้างต้นนั้นน่าจะหมายถึงเหตุการณ์ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษาประชาชนทั่วประเทศในปี 1987 ซึ่งเต็มไปด้วยความรุนแรงเดือดพล่าน ก่อนขยายตัวออกกลายเป็นการต่อสู้ครั้งใหญ่ซึ่งรู้จักกันในชื่อ “June Democratic Struggle”
 
การประท้วงนี้เป็นผลต่อเนื่องจากอารมณ์คุกรุ่นของผู้คน หลังเหตุการณ์ล้อมปราบอันโหดเหี้ยมที่ควังจูในเดือนพฤษภาคม 1980 และ “ช็อนดูฮวัน” ก้าวขึ้นยึดอำนาจ พร้อมประกาศขอเวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วคืนการเลือกตั้งให้แก่บ้านเมืองภายใน 7 ปี ทว่าตลอดระยะเวลานั้น การดำรงตำแหน่งของเขามีแต่เรื่องน่ากังขา มีการใช้ความรุนแรงกำจัดผู้เห็นต่าง และเมื่อครบกำหนดตามสัญญา เขากลับหักหลังด้วยการใช้กลยุทธ์ทางการเมืองปิดโอกาสของประเทศที่จะได้เป็นประชาธิปไตย ทั้งยังวางแผนสืบทอดอำนาจเผด็จการทหารต่อไปอีก ส่งผลให้ผู้คนทั่วประเทศเกิดความโกรธแค้นและระเบิดกลายเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ดังกล่าว
 
“สังคมเกาหลีในช่วงนั้นเต็มไปด้วยความวุ่นวาย ชีวิตทุกวันมีแต่ความรุนแรง” บงจุนโฮกล่าว “ผมจึงทำ Memories of Murder โดยไม่ได้สนใจคำถามที่ว่า ‘ใครคือฆาตกร’ ของคดีเหี้ยมโหดนี้ มากเท่ากับคำถามที่ว่า ‘สังคมแบบไหนกันที่ทำให้เกิดเรื่องเหี้ยมโหดเช่นนั้นขึ้นมาได้?'”
 

(*บทความแนะนำเรื่อง June Democratic Struggle : อ่าน “เมื่อวันนั้นมาถึง: สามัญชนกับกระบวนการประชาธิปไตย” โดย จักรกริช สังขมณี ได้ที่ https://www.the101.world/june-struggle)

ความรุนแรงโหดเหี้ยมของตำรวจ

บงจุนโฮไม่เพียงสะท้อนปัญหาหนักในสังคมเกาหลีใต้ยุค 80 ประเด็นนี้ ผ่านฉากตัวละครตำรวจทำร้ายผู้ต้องสงสัยหลายๆ ฉากเท่านั้น แต่ยังมีฉากเล็กๆ ฉากหนึ่งที่เขาจงใจหยิบคดีจริงสุดอื้อฉาวมาสอดแทรกไว้ด้วย นั่นคือ ฉากร้านอาหารที่เจ้าหน้าที่โชไปเมาอาละวาดหลังจากถูกหัวหน้าลงโทษ ซึ่งจอทีวีในร้านกำลังรายงานข่าว “คดีมุนกุยดง”

ช่วงปี 1986-1987 ของเกาหลีใต้ นอกจากจะเกิดคดีข่มขืนฆ่าที่ฮวาซ็อง (อันเป็นเหตุการณ์หลักของหนัง) ซึ่งตำรวจจับคนร้ายไม่สำเร็จแล้ว ที่พูช็อนยังเกิดเรื่องครึกโครม เมื่อคนงานหญิงออกมาประท้วงเรียกร้องสิทธิแรงงานกับสิทธิสตรีโดยมีนักศึกษาจำนวนมากเข้าร่วมขบวนการ หลายคนละทิ้งสถานภาพนักศึกษาของตนแล้วใช้บัตรประชาชนปลอมมาอยู่โรงงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับคนงาน หนึ่งในนั้นคือนักศึกษาหญิงนาม “ควอนอินซก” ซึ่งต่อมาถูกตำรวจจับกุมแล้วบังคับให้เปิดเผยชื่อเพื่อนๆ แต่เมื่อเธอปฏิเสธ ก็ถูก “มุนกุยดง” เจ้าหน้าที่ตำรวจพูช็อนลงโทษด้วยการล่วงละเมิดทางเพศอย่างรุนแรง

แม้ผู้หญิงส่วนใหญ่ในตอนนั้นอาจไม่กล้าเปิดเผยประสบการณ์เช่นนี้ให้ใครรู้ แต่ควอนตัดสินใจเล่าให้เพื่อนร่วมคุกฟัง และเรื่องราวของเธอก็ถูกส่งต่อไปยังสื่อมวลชนกับกลุ่มสตรีภายนอก ส่งผลให้องค์กรสตรีกว่า 30 แห่งผนึกกำลังกับองค์กรศาสนาออกมาเรียกร้องให้รัฐจับกุมมุนกุยดงขึ้นศาล แต่รัฐบาลไม่แยแส ซ้ำยังใส่ร้ายว่าควอนอินซกปั้นเรื่องขึ้นมาเอง สร้างความโกรธเกรี้ยวสุดขีดแก่สาธารณชนจนเกิดการรวมตัวกันเป็น “สภาสตรีต่อต้านความรุนแรงทางเพศ” (Women’s Council against Sexual Violence) และ “คณะกรรมาธิการร่วมต่อต้านความรุนแรงทางเพศ” (Joint Committee against Sexual Violence) ขึ้นที่สถานีตำรวจพูช็อนทันที

ด้วยแรงสนับสนุนจากประชาชนอย่างเต็มกำลัง องค์กรเหล่านี้ลงถนนประท้วงทุกวันเรียกร้องให้ปล่อยตัวควอนอินซก, จับมุนกุยดงมาลงโทษ และกำจัดพฤติกรรมรุนแรงของตำรวจให้หมดสิ้น ครั้นคดีของควอนขึ้นสู่ศาล ทนายจำนวนถึง 166 คนก็มาจับมือกันช่วยต่อสู้ให้เธอ ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นได้มาก่อนในสังคมเกาหลีภายใต้การปกครองของเผด็จการทหาร

ปี 1989 หลังจากติดคุกมา 13 เดือนเต็ม ควอนอินซกก็ได้กลับสู่อิสรภาพพร้อมได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาล ส่วนมุนกุยดงถูกตัดสินจำคุก 5 ปี

งานกำกับภาพ

Memories of Murder เป็นหนังที่ถ่ายในโลเคชั่นทั้งเรื่อง (ไม่ได้ใช้โรงถ่ายเลย) ซึ่งนับเป็นงานยากเพราะต้องเผชิญกับปัจจัยนอกเหนือการควบคุมมากมายเต็มไปหมด และต้องอาศัยฝีมืออันแม่นยำของผู้กำกับภาพแบบสุดๆ

บงจุนโฮให้สัมภาษณ์ว่า เขาโชคดีมากที่ได้ทำงานกับมือกำกับภาพระดับเทพ คิมฮยองกู (Kim Hyung-ku) เจ้าของผลงานอย่าง Spring in My Hometown, City of the Rising Sun, Peppermint Candy, One Fine Spring Day, Tale of Cinema (และกลับมาร่วมงานกับบงอีกครั้งใน The Host)

“งานภาพของคิมทั้งโดดเด่นและน่าเซอร์ไพรส์” บงจุนโฮกล่าว “แต่สิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุดของเขาไม่ใช่แค่เทคนิค หากคือการที่เขาเป็นผู้กำกับภาพที่เข้าใจจังหวะอารมณ์ของเรื่องราว และใช้มันเป็นตัวตัดสินใจในการเซ็ตภาพแต่ละช็อตได้อย่างน่าทึ่ง ไม่ว่าฉากนั้นๆ จะมีปัญหาเรื่องแสงเรื่องสภาพอากาศให้ต้องกังวลแค่ไหน แต่เขาจะใส่ใจเรื่องที่เราจะเล่าก่อนเสมอ

“เขาจำได้หมดว่าภายในความยาวสองชั่วโมงนั้นหนังจะคัตตรงไหน ตัวละครพูดแบบนี้ๆ เพื่อนำไปสู่ฉากต่อไปอย่างไร หรือบางครั้งพอผมไปดูมอนิเตอร์แล้วรู้สึกว่าอยากให้ถ่ายเพิ่มอีกเพื่อให้เล่าเรื่องได้ราบรื่นขึ้น ก็ปรากฏว่าเขาถ่ายมาเผื่อให้เรียบร้อยไปแล้ว เขาใส่ใจในรายละเอียดของการเล่าเรื่องยิ่งกว่าผมซะอีกซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ช่วยผมได้มาก เพราะถ้าผู้กำกับภาพสนใจแต่เฉพาะภาพที่ตัวเองอยากได้ ความขัดแย้งในการทำงานจะเกิดขึ้นแน่นอน

“นอกจากนั้น คิมยังมีประสาทสัมผัสไวมากๆ ด้วยว่า ควรจะเคลื่อนกล้องเข้าหาตัวละครอย่างไร วางตำแหน่งกล้องตรงไหน วางระยะห่างระหว่างตัวละครแค่ไหน วางเฟรมจับภาพตัวละครอย่างไร ฯลฯ สัมผัสของเขาช่วยให้ภาพของหนังเราเต็มไปด้วยอารมณ์ เขาแม่นยำอย่างหาตัวจับยากจริงๆ”

“หนังของผม หรืออันที่จริงหนังเกาหลีใต้หลายต่อหลายเรื่อง มักมีฉากรุนแรงจะแจ้ง อาจจะพูดได้ว่าคนเกาหลีคุ้นเคยดีกับความรุนแรงเพราะเราเพิ่งเจอยุคเผด็จการมา 50 กว่าปีเท่านั้น” บงจุนโฮสรุป
 
“ความรุนแรงซึมซาบอยู่ในวัฒนธรรมของเรา เพียงแต่เรามองมันและนำเสนอมันอย่างมีอารมณ์ขัน มีฉากผู้คนต่อยดีกันแบบมีเสียงหัวเราะปะปนเพิ่มมาเท่านั้นเอง ตอนผมยังเรียนมัธยม ครูในเกาหลียังได้รับอนุญาตให้ตีเด็กได้ ถ้าเด็กไม่ตั้งใจเรียนหรือเกเรอะไรก็ตาม ครูจะตีเด็กไม่ยั้งมือ แต่สังคมเราทุกวันนี้เปลี่ยนไปแล้ว ถ้าครูกล้าตีเด็ก เด็กจะควักโทรศัพท์ออกมาถ่ายคลิป โพสต์ลงอินเทอร์เน็ต แล้วมันจะกลายเป็นข่าวฉาวทันที
 
“สังคมเราพัฒนามาไกลมากแล้วครับนับจากยุค 1980 ที่คุณเห็นตำรวจกระโดดถีบผู้ต้องสงสัยแบบในหนัง Memories of Murder”
Explore more

ซงคังโฮ : “ใบหน้าของหนังเกาหลีใต้”

“ผมไม่ใช่คนหล่อคนเท่จึงเหมาะกับคนทำหนังที่ต้องการเล่าเรื่องของคนธรรมดา – หรือพูดอีกอย่างว่า คนที่ดูผิวเผินเหมือนธรรมดา แต่แท้จริงแล้วกำลังต่อสู้กับความเลวร้ายสาหัสอยู่”

ครั้งหนึ่ง บงจุนโฮและซงคังโฮเคยถูกขึ้น “บัญชีดำ” และบัญชีดำนี้นำไปสู่การถอดถอนประธานาธิบดี!

กว่าจะกลายมาเป็นคนทำหนังและนักแสดงระดับโลกดังที่เราเห็นในวันนี้ ทั้งคู่และเพื่อนอีกหลายชีวิตในวงการหนังเกาหลีใต้เคยผ่านช่วงเวลาแห่งการต่อสู้อันยากลำบากมาก่อน นี่อาจเป็นอีกหนึ่งข้อยืนยันชัดเจนว่า ความสำเร็จยิ่งใหญ่ของพวกเขาไม่ใช่สิ่งที่ได้มาง่ายดายด้วยความบังเอิญ!