“สอนกล้องให้มองด้วยความรัก” : งานภาพ ‘แทนสายตาเทวดา’
เรื่องราวของเทวดาผู้เบื่อหน่ายการมีชีวิตเป็นอมตะ และตัดสินใจแลกวิญญาณอันเป็นนิรันดร์กับการได้ลงมาเป็นปุถุชนผู้มีเลือดเนื้อ รู้จักรักและเจ็บปวด …ด้วยเรื่องแบบนี้ วิม เวนเดอร์สจึงเล่ามันผ่านมุมมองของเทวดา และใช้งานภาพ “จากสายตาของเทวดา”
ว่าแต่เขารู้ได้อย่างไรว่า เทวดาน่าจะเห็นอะไร และมองโลกเบื้องล่างแบบไหน?
“หลายฉากในหนังเรื่องนี้เราต้อง ‘ตีความ’ มุมมองของเทวดา ผมจึงตั้งใจจะเคลื่อนกล้องให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อแทนสายตาของเทวดาผู้โบยบินพลางเฝ้ามองมนุษย์ ในเบอร์ลินตอนนั้น (ช่วงปี 1986-87) ไม่มีสเตดิแคมให้ใช้ เราจึงต้องพึ่งราง ดอลลี่ เครน ฯลฯ และเราก็สร้างอุปกรณ์ของเราเองด้วยเพื่อให้กล้องเคลื่อนกลางอากาศจากหน้าต่างบ้านหลังหนึ่งเข้าไปยังอีกหลังได้ และในฉากเปิดเรื่อง เราก็ถ่ายด้วยเฮลิคอปเตอร์ซึ่งหายากมากๆ ในเบอร์ลินตะวันตก เพราะไม่มีบริษัทเอกชน เราต้องไปเช่าเครื่องของกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรโดยได้นักบินอังกฤษมาช่วย
“แต่นอกจากการเคลื่อนกล้องแบบนั้น ผมยังต้องการให้กล้องทำงานที่ซับซ้อนขึ้นไปอีก ผมบอก อองรี อาเลกอง (ผู้กำกับภาพรุ่นเก๋าชาวฝรั่งเศสซึ่งเกษียณไปแล้ว แต่วิมตื๊อให้กลับมาถ่ายให้) ว่า ‘เทวดาเหล่านี้มองพวกเราด้วยความรัก ฉะนั้นเราต้องหาทางสอนกล้องให้มองตัวละครด้วยสายตาที่มีความรักมากขึ้น’ อองรีฟังแล้วจ้องหน้าผมเหมือนเห็นคนบ้า ก่อนจะถามว่า ‘ทำยังไง’ ซึ่งแน่นอนว่าผมก็ไม่รู้
“แต่ผมคิดว่า เราต้องทุ่มเทความรู้สึกใส่ใจ ห่วงใย และความรักต่อตัวเราเองลงไปในทุกช็อตที่แทนสายตาเทวดา — นั่นล่ะครับคือคำตอบ เพราะกล้องจะสะท้อนให้เห็นว่าเราใส่ความรู้สึกแบบไหนขณะมองผ่านเลนส์ …อาจจะฟังดูเว่อร์หน่อยนะ แต่ถ้าเราลองพยายามจินตนาการว่าเทวดาเฝ้ามองพวกเราอย่างไร เราอาจจะรู้สึกได้ถึงบางสิ่งภายในตัวเราที่ดีงามกว่าที่เราเคยนึก เราอาจจะสัมผัสได้ถึงความเป็นเด็กที่เราซุกซ่อนไว้
“ถ้ามีเทวดามองเราอยู่จริงๆ ผมก็เชื่อว่า ความงามเหล่านี้ของชีวิตคือสิ่งที่พวกเขาจะมองเห็น”