มีหลายองค์ประกอบที่ทำให้ Merry Christmas, Mr. Lawrence (1983) เป็นที่ฮือฮาในหมู่คนดูทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวอเมริกันตั้งแต่มันยังไม่ออกฉาย คือข้อแรก มันนำแสดงโดยราชาเพลงร็อคผู้แสบสันอย่าง เดวิด โบวี่, ข้อสอง นี่เป็นงานประเดิมหนังจริงจังของดาราตลกจอมเก๋า ทาเคชิ คิตาโน่, ข้อสาม คนทำเพลงประกอบคือเจ้าหนุ่มนักดนตรีไฟแรงหน้าหล่อ ริวอิจิ ซากาโมโตะ และข้อสี่ มันคือหนังของเจ้าพ่อหนังฉาวอย่าง นางิสะ โอชิม่า นั่นไงล่ะ!
หลังจากโอชิม่าระเบิดฟอร์มร้อนแรงด้วยหนังแสนจะฉาวแบบ “เล่นจริง” อย่าง In the Realm of the Senses (1976) จนโดนแบนไปหลายตลบ ก็ทำให้หลายคนจับตาดู Merry Christmas, Mr. Lawrence ที่เขากำกับอย่างหวาดหวั่น จนรู้สึกวางใจได้ระดับหนึ่งเมื่อเห็นหน้าหนังที่ว่าด้วยทหาร แต่การณ์กลับไม่เป็นดังคาด! เมื่อ Mr. Lawrence ที่เล่าถึงเชลยชาวอังกฤษในค่ายกักกันญี่ปุ่น ดันเพียบไปด้วยประเด็นแสนจะดุเดือด ทั้งชาตินิยม, สงคราม แถมยังแฝงความอีโรติกอีกต่างหาก!
โรเจอร์ อีเบิร์ต นักวิจารณ์หนังชื่อดังชาวอเมริกัน เขียนถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร “ผู้พันเซลเลียร์” (โบวี่) กับ “ร้อยเอกยาโนอิ” (ซากาโมโตะ) ว่า “กลิ่นอายความสัมพันธ์ของสองตัวละครนี้นี่แหละที่ทำให้บรรยากาศหนังเต็มไปด้วยความแปลกประหลาด” โดยความสัมพันธ์นั้นไม่ถูกบอกเล่าอย่างเปิดเผย แต่แฝงเร้นอยู่ในท่าทีที่ชวนให้เรารู้สึกได้ นอกจากนั้น มันยังถูกตีความว่าสื่อถึงความสัมพันธ์ของสองวัฒนธรรมตะวันตกกับตะวันออก ที่ท่วมท้นไปด้วยความรักความชังและความขัดแย้งที่น่าเจ็บปวด
มากไปกว่านั้น Merry Christmas, Mr. Lawrence ยังเลือกถ่ายทอดมุมหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่สอง ผ่านเรื่องราวความโหดร้ายจนแทบถึงขั้นไร้เหตุผลของนายทหารชาวญี่ปุ่น มันจึงสร้างความขัดใจให้ชาวญี่ปุ่นไม่น้อยเมื่อออกฉาย แต่แน่นอนที่ผู้กำกับเบอร์แรงอย่างโอชิม่าก็ย่อมออกมาตอบโต้อย่างไม่แยแสใดๆ ว่า “ความรักชาตินี่มันช่างเป็นสิ่งแปลกประหลาดเสียจริงนะ แค่การที่คุณยืดอกแล้วเที่ยวบอกใครต่อใครว่าประเทศเรายอดเยี่ยมแค่ไหนน่ะ ไม่ได้เป็นการแสดงออกว่ารักชาติหรอก …สำหรับผมแล้ว คุณต้องพูดความจริงเกี่ยวกับประเทศของคุณให้ได้ก่อนไม่ว่าจะในแง่ไหน นั่นต่างหากที่เรียกว่าความรัก
“ตอนอยู่ต่างประเทศ ทีมงานห่วงว่าถ้าหนังเข้าฉายในญี่ปุ่น ผมอาจถูกฝ่ายขวาหัวรุนแรงโจมตี โทษฐานที่แสดงมุมอัปลักษณ์ของญี่ปุ่นให้ชาวโลกเห็น” โอชิม่าเล่า “แต่ผมไม่เคยถูกพวกเขาโจมตีเลยนะ …เพราะพวกขวาสุดโต่งไม่ยอมมาดูหนังของผมเลยด้วยซ้ำ”
โอชิม่าเติบโตมาในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และเห็นบาดแผลมากมายที่ไม่อาจเยียวยาได้ของชาวญี่ปุ่น รวมถึงพลังจากฝั่งขวาที่เคยขยายตัวใหญ่โตจนเข้าร่วมสงครามและเป็นสาเหตุหนึ่งของการแผ่อิทธิพลจักรวรรดิญี่ปุ่นที่ตัวโอชิม่าเองไม่เห็นด้วย
“ผมสงสัยมาตั้งแต่เด็กว่า แล้วใครกันจะเป็นคนรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น” เขาให้สัมภาษณ์ในปี 1985 หลัง Merry Christmas, Mr. Lawrence ออกฉายไปแล้วสองปี “จำได้ว่าครูของผม (ตอนนั้นเขาอยู่ชั้นมัธยม) ก็เคยเป็นทหารมาก่อน แต่ตอนมาสอน พวกเขากลับพูดถึงประชาธิปไตย เสรีภาพ ความเท่าเทียม และเรื่องการกุศลต่างๆ ผมรู้สึกได้ว่าพวกเขาไม่เต็มใจจะยอมรับว่าสงครามและความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น พวกเขาก็ต้องรับผิดชอบด้วย”
Merry Christmas, Mr. Lawrence จึงเป็นหนังที่เปิดเปลือยแนวคิดชาตินิยมแบบญี่ปุ่น โดยเฉพาะการตั้งคำถามต่อพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์อย่างการเซ็ปปุกุ, การใช้ความรุนแรงอันไร้เหตุผล ในนามของเกียรติยศ, การทำเพื่อชาติและองค์จักรพรรดิ ฯลฯ และแม้หนังเรื่องนี้จะถูกฝ่ายขวาในญี่ปุ่นเมินด้วยการไม่ยอมมาดู แต่ชื่อโอชิม่าก็กลายเป็นเป้าหมายของการวิพากษ์วิจารณ์ด่าทอในฐานะคนทำหนังผู้ชำแหละบาดแผลของชาติ
“ผมแค่อยากทำหนังที่บอกเล่าทุกช่วงเวลาของประเทศเราให้คนรุ่นหลังได้รู้” โอชิม่าปิดท้าย “แม้มันจะทำให้ผมต้องกลายเป็นเป้ากระสุนของศัตรูก็เถอะ”
Merry Christmas, Mr. Lawrence ดัดแปลงมาจากวรรณกรรมของ ลอเรนซ์ ฟาน เดอร์ โพสต์ นักเขียนชาวแอฟริกาใต้ที่เข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่สองและติดอยู่ในค่ายเชลยของทหารญี่ปุ่น เขานำประสบการณ์นั้นมาเขียนหนังสือชื่อ The Seed and the Sower เล่าถึงนายทหารอังกฤษที่ดิ้นรนมีชีวิตรอดในค่ายเชลย ท่ามกลางวัฒนธรรมและภาษาญี่ปุ่นที่อยู่ห่างไกลจากความคุ้นชิน
“หนังสือของฟาน เดอร์ โพสต์เอาผมอยู่หมัดตั้งแต่นาทีแรกที่เปิดอ่าน หรืออาจจะก่อนลงมืออ่านเลยด้วยซ้ำ” โอชิม่าเล่า “ผมเจอหนังสือเล่มนี้ในร้าน ตรงปกเขียนไว้ว่า ‘การเผชิญหน้าของนายทหารชาวอังกฤษกับนักรบญี่ปุ่นในค่ายเชลยบนเกาะชวา’ พอเห็นคำโปรยแบบนี้ ผมก็นึกทันทีว่า นี่ต้องเป็นหนังที่ดีได้แน่นอน”
โอชิม่านำหนังสือดังกล่าวมาดัดแปลงเป็นหนังร่วมสามสัญชาติ (สหราชอาณาจักร-ญี่ปุ่น-นิวซีแลนด์) ถ่ายทอดเรื่องราวของสงครามและความละเอียดอ่อนของมนุษย์เช่นเดียวกับในวรรณกรรม และเมื่อ ฟาน เดอร์ โพสต์ ได้ไปดูหนัง เขาก็ปลื้มปริ่มมากๆ
“มันเป็นหนังที่หนักหน่วงและยอดเยี่ยมมาก เป็นหนังว่าด้วยสงครามเพียงเรื่องเดียวที่ไม่ได้ขายความน่าสยดสยองของสงคราม แต่ลงลึกถึงจุดกำเนิดและความหมายที่แท้จริงของสงครามในจิตวิญญาณของมนุษย์ มากไปกว่านั้น มันยังเป็นหนังที่จริงใจและกล้าหาญอย่างยิ่ง
“ผมหวังว่าคนที่ไปดูหนังเรื่องนี้จะตั้งคำถามเกี่ยวกับการตัดสินและความยุติธรรม เพราะการตั้งคำถามต่อสิ่งเหล่านี้แหละที่จำเป็นในยุคสมัยใหม่ของเรา”
subscribe to newsletter to stay up to date with our films & events