นอกจากมันจะพูดถึงการเกี่ยวไขว้กันของการเมือง, หนังสือ, ความรัก, ศิลปะ และเซ็กซ์แล้ว ผู้กำกับ แบร์นาโด แบร์โตลุชชี่ ยังสอดแทรกหลายฉากที่อิงกับประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ ตั้งแต่ฉากประท้วงที่ซีเนมาเตกอันเลื่องชื่อของฝรั่งเศส, ฉากสามตัวละครนำถกเถียงกันเรื่องหนังและเพลง, ฉากเลียนแบบช็อตคลาสสิกในหนังเก่า (ตั้งแต่หนังโกดาด์ไปยันหนังฮอลลีวูด และหนังเก่าของแบร์โตลุชชี่เอง), ฉากโรงหนังที่เต็มไปด้วยคนรักหนังผู้นั่งจ้องจอด้วยดวงตาเปี่ยมศรัทธาในภาพยนตร์ ไปจนถึงการมีประโยคเด็ดที่ว่า “หนังสือ แทนปืน, วัฒนธรรม แทนความรุนแรง” (Books, not guns. Culture, not violence)
ทั้งเรื่องความขัดแย้งระหว่าง “อุดมการณ์” กับ “ความเพ้อฝัน”, “ความหวังดีของพ่อแม่” กับ “การใช้อำนาจครอบงำลูก”, “ความสงบสุขมั่นคงของรัฐ” กับ “การใช้อำนาจกดขี่เสรีภาพ”, การวิพากษ์ความกลวงโบ๋เมินเฉยของเหล่าชนชั้นกลาง, การตั้งคำถามว่า เราใช้วัฒนธรรมต่อสู้แทนการใช้ความรุนแรงได้จริงไหม ฯลฯ
“นักฝัน” อันเป็นชื่อของหนังเรื่องนี้ จึงชวนให้ตีความได้หลากหลาย ตั้งแต่เรื่องปัจเจก ชนชั้น ไปจนถึงสังคม การเมือง และโลก
ฟาบิโอ เชียนเคตตี ผู้กำกับภาพคู่ใจของแบร์โตลุชชี่ในยุคหลัง ใช้วิธีเคลื่อนกล้องติดตามสามตัวละครนำแบบใกล้ชิด ทำให้คนดูรู้สึกเหมือนเข้าไปอยู่ร่วมกับพวกเขาในอพาร์ตเมนต์นั้น และสัมผัสประสบการณ์ของการอยู่ใน “โลกฟองสบู่” ที่ทุกอย่างดูสดสวยเยาว์วัยอยู่เสมอไม่มีวันเปลี่ยนแปลง แม้ว่าโลกภายนอกจะกำลังลุกเป็นไฟก็ตาม
การปฏิวัติเดือนพฤษภาที่ปารีสปี 1968 เริ่มต้นจากการประท้วงของเหล่าคนที่โกรธเกรี้ยว เมื่อรัฐแทรกแซงซีเนมาเตกอันเป็นสรวงสวรรค์ของคนรักหนัง แม้แต่คนทำหนังกลุ่มนิวเวฟฝรั่งเศสอย่างฌ็อง-ลุก โกดาด์และฟรองซัวส์ ทรูฟโฟต์ก็ยังเข้าร่วม ด้วยความเชื่อเต็มหัวใจว่า “ภาพยนตร์ไม่ใช่แค่ความบันเทิง แต่คือเชื้อเพลิงแห่งการเปลี่ยนแปลง”
แบร์โตลุชชี่ให้สัมภาษณ์ว่า ความเชื่อแบบนั้นสะท้อนจิตวิญญาณของหนุ่มสาวยุค 60 อย่างเด่นชัด พวกเขาเพิ่งค้นพบพลังของคนรุ่นเยาว์ และเชื่อว่าอนาคตที่ดีกว่าสามารถเกิดได้จากการต่อสู้ล้มล้างชนชั้นนำรุ่นเก่า ฝันแบบนี้ไม่มีที่ทางมากนักแล้วในโลกปัจจุบันอันโหดร้าย หนังเรื่องนี้จึงเป็นการอุทิศให้แก่ช่วงเวลางดงามที่ไม่มีวันหวนกลับมาอีกของเหล่า “นักฝัน” ทั้งหลาย
บท “แมตทิว” นักศึกษาอเมริกันที่มาเปิดโลกในปารีส เคยเกือบแสดงโดย เจค จิลเลนฮาล แต่เขาไม่สบายใจที่ต้องแก้ผ้าหน้าจอจึงถอนตัวไป นั่นแปลว่านักแสดงที่เราเห็นอยู่ในหนังจึงเป็นคนที่ตัดสินใจแล้วว่า “แก้เป็นแก้!”
การเปิดเผยอวัยวะอย่างจะแจ้งทำให้ The Dreamers ได้รับเรต NC-17 เมื่อเข้าฉายในอเมริกา (ซึ่งเป็นประเทศที่แบร์โตลุชชี่บ่นว่า “หมกมุ่นคิดมากเรื่องความโป๊เปลือยแบบผิดปกติจากชาวโลกจริงๆ”) และยังมีเวอร์ชั่นเรต R ที่ตัดฉากเปลือยทิ้งรวม 3 นาที
แต่ข่าวดีคือ สำหรับการฉายในไทยครั้งนี้ เราได้เรต 20+ ซึ่งแปลว่า ผู้ชมที่อายุ 20 ปีขึ้นไปจะได้ชม The Dreamers ฉบับไม่ตัดฉากใดทั้งนั้น!
subscribe to newsletter to stay up to date with our films & events