1) ย้อนไปเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2016 ปธน. พัคกึนฮเย ถูกสภาลงมติถอดถอนจากตำแหน่งซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของเกาหลีใต้ หนึ่งในสาเหตุสำคัญคือการบริหารงานที่ไม่โปร่งใส โดยเฉพาะจากกรณีอื้อฉาวที่รัฐบาลยุคนั้นทำ “บัญชีดำ” เป็นเอกสารหนา 60 หน้าประกอบด้วยรายชื่อศิลปิน 9,473 คนที่ “แสดงความคิดเห็นต่อต้านรัฐบาล” จึงถูกลงโทษไม่ให้ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐ ในบางรายถูกคุกคามห้ามสร้างหรือเผยแพร่ผลงานอีกต่อไป
2) ในลิสต์นั้น มีคนทำหนังที่โด่งดังระดับโลกอย่าง พัคชานวุก กับ บงจุนโฮ, นักแสดงแถวหน้าอย่าง ซงคังโฮ และโปรดิวเซอร์คนสำคัญอย่าง มิกี้ ลี แห่งค่าย CJ รวมอยู่ด้วย
3) การขึ้นบัญชีดำแบบนี้ไม่ใช่ของใหม่ เกาหลีใต้มีประวัติการเซ็นเซอร์หนังและสื่อมายาวนานตั้งแต่ยุคปกครองโดยญี่ปุ่น เรื่อยมาถึงยุคเผด็จการ พัคจองฮี (1963-1979, เขาเป็นพ่อของพัคกึนฮเย) และ ช็อนดูฮวัน (1980-1988) ที่รัฐมีอำนาจสั่งตัดสั่งแก้และแบนหนังได้ทันทีถ้าเห็นว่ามีประเด็นทางการเมืองที่ “ไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล”
4) สถานการณ์วงการหนังเกาหลีเริ่มดีขึ้นในยุค ปธน. โนแทอู (1988-1993) ซึ่งประกาศยกเลิกการเซ็นเซอร์หนังอย่างเข้มงวด ส่งผลให้เกิดคนทำหนังและหนังกลุ่ม “คลื่นลูกใหม่เกาหลี” ที่กล้าจับประเด็นทางการเมืองมากขึ้น
5) แต่ลิ้มรสเสรีภาพได้เพียง 20 ปี หนังเกาหลีก็เข้าสู่ยุคมืดอีกครั้งในช่วง ปธน. อีมย็องบัก (2008-2013) ซึ่งริเริ่มสั่งการให้ทำบัญชีดำขึ้นมา ในนั้นประกอบด้วยรายชื่อศิลปินหัวเอียงซ้าย 82 คนที่รัฐจับตาเป็นพิเศษ