รอยต่อยุค 60 ถึง 70 เป็นช่วงเวลาที่หลายๆ แห่งของโลกได้รับผลกระทบทั้งตรงและอ้อมจากสงครามเวียดนาม ทั้งบรรยากาศการลุกฮือประท้วงของประชาชน ไปจนถึงการปะทะกันของสองขั้วแนวคิดอย่างเสรีนิยมและคอมมิวนิสต์
ในฝรั่งเศสปี 1968 ก็เช่นกัน ช่วงเวลานั้น ประชากรเพิ่มจำนวนขึ้นอันเป็นผลพวงของยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สังคมเต็มไปด้วยเด็กและคนหนุ่มสาวที่พบว่าสิ่งที่รอพวกเขาในอนาคตมีเพียงความว่างเปล่าและยากไร้ แม้ภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัวจนแรงงานเป็นที่ต้องการ แต่สวนทางกันคือระบบการศึกษาฝรั่งเศสซึ่งยังไม่เอื้อและไม่ตอบโจทย์ประชากรจำนวนมากเช่นนี้ รัฐบาลจึงสร้างวิทยาเขตหลายแห่ง บางแห่งเปิดสอนทั้งที่ตึกยังสร้างไม่เสร็จ หลักสูตรตกหล่น หรือแม้แต่อาจารย์ผู้สอนที่ไม่เชี่ยวชาญ
จึงช่วยไม่ได้ที่นักศึกษาเหล่านี้จะรู้สึกว่าฝรั่งเศสกำลังทอดทิ้งพวกเขา หนำซ้ำ ยังเรียกร้องจากพวกเขามหาศาลโดยไม่มีอะไรตอบแทน พวกเขานิยามความรู้สึกของการเติบโตมาในฝรั่งเศสปลายยุค 60 ไว้ว่า “เราไม่มีคนนำ ไม่มีอะไรให้เราตาม ไม่มีใครรับผิดชอบชีวิตเรา มีแต่เราเท่านั้นที่ต้องรับผิดชอบตัวเอง”
มหาวิทยาลัยปารีส วิทยาเขตน็องแตร์ เป็นหนึ่งในผลลัพธ์ของเศรษฐกิจที่พังทลายและความไม่ไยดีประชากรของรัฐบาล ความรู้สึกอึดอัดแพร่ขยายไปในหมู่นักศึกษาอย่างรวดเร็ว นักศึกษากลุ่มซ้ายจัดจึงนำการประท้วง แต่เจ้าหน้าที่รับมือด้วยการประกาศปิดมหาวิทยาลัย เหล่านักศึกษา อาจารย์ และประชาชนจึงมารวมตัวกันเพื่อต่อต้านการปิดสถาบันนี้กว่า 6,000 คน จนเกิดเหตุปะทะระหว่างมวลชนและตำรวจ ลงเอยด้วยการที่นักศึกษานับร้อยถูกจับกุม
แน่นอนว่าจลาจลครั้งนี้ส่งแรงกระเพื่อมมหาศาล สหภาพนักเรียนมัธยมประกาศสนับสนุนผู้ชุมนุมและเข้าร่วมในวันต่อมา โดยมีข้อเรียกร้องหลักๆ ดังนี้ 1) ข้อกล่าวหาต่างๆ ที่นักศึกษาและนักเรียนได้รับต้องถูกยกเลิก 2) ตำรวจต้องออกจากมหาวิทยาลัยทันที และ 3) เปิดมหาวิทยาลัยดังเดิม
ทว่าสถานการณ์เริ่มวุ่นวายขึ้น เมื่อมีรายงานข่าวเท็จว่ารัฐบาลตอบตกลงแล้ว เหล่าผู้ชุมนุมจึงยอมเดินทางกลับที่พักก่อนจะพบว่าข้อตกลงทุกอย่างเป็นเรื่องโกหก ความคุกรุ่นจากเยาวชนเหล่านี้จึงพุ่งพรวด พวกเขายื่นข้อเสนอให้รัฐบาลยอมเจรจาโดยตรง แต่สิ่งที่พวกเขาได้รับกลับเป็นการบุกจู่โจมของตำรวจกลางดึกอย่างที่ไม่มีใครทันตั้งตัว เกิดการนองเลือดบาดเจ็บต่อเนื่องยาวนานจนรุ่งสาง
การปราบปรามโดยรัฐอย่างรุนแรงนี้ถูกรายงานข่าวในเช้าวันนั้น คลื่นความโกรธเคืองแผ่ขยาย กลุ่มผู้ใช้แรงงานเข้าร่วมการเดินขบวนจนมีผู้ชุมนุมรวมกว่า 800,000 ราย ซึ่งกว่าครึ่งไม่ใช่นักเรียนนักศึกษา แต่เป็นประชาชนธรรมดา นักวิชาการวิเคราะห์ว่า พวกเขาเข้าร่วมทั้งด้วยความเห็นใจที่เยาวชนต้องเผชิญหน้ากับความรุนแรง และด้วยความคั่งแค้นที่ถูกบ่มเพาะมายาวนาน เมื่อนักศึกษาจุดชนวนงัดกับรัฐบาล พวกเขาจึงเห็นแสงเรื่อเรืองแห่งความหวังว่ารัฐจะรับฟังเสียงของพวกเขาและชีวิตพวกเขาจะดีขึ้น นำมาสู่สโลแกนของผู้ประท้วงที่ว่า “สิบปี! เกินทนแล้ว!” ซึ่งหมายถึงวาระการดำรงตำแหน่งของ ชาร์ล เดอ โกล ปธน.ฝรั่งเศสในเวลานั้นนั่นเอง
เพื่อจะแก้ไขสถานการณ์นี้ที่ทรงพลังและสั่นสะเทือนสังคมครั้งใหญ่ เศรษฐกิจชะงักงันจากการที่แรงงานออกไปประท้วงและนัดหยุดงาน ฌอร์ฌ ปงปีดู นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสจึงเสนอปรับปรุงนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ, ปฏิรูปการศึกษา, เดอ โกล ออกแถลงการณ์ลาออกและจะให้มีการเลือกตั้งใหม่เร็วที่สุด โดยขอร้องให้เหล่าแรงงานกลับไปทำงานดังเดิม สถานการณ์จึงเริ่มคลี่คลาย ผู้ชุมนุมสลายตัวเพื่อรอเลือกตั้งครั้งใหม่และวาดหวังอนาคตที่ดีกว่า
เหตุการณ์ประท้วงปี 1968 ของฝรั่งเศสได้กลายเป็นหนึ่งในตัวอย่างคลาสสิกของโลกว่าด้วยแรงกระเพื่อมจากคนกลุ่มเล็กๆ สู่คนกลุ่มใหญ่ และมันชี้ให้เห็นว่า เมื่อใดที่ผู้คนรู้สึกว่ารัฐทอดทิ้งและเสียงของพวกเขาไม่มีใครรับฟัง การณ์จะลงเอยด้วยความเดือดดาลและรุนแรงเสมอ
subscribe to newsletter to stay up to date with our films & events