จริยธรรมในหนังสารคดี: บทบันทึกเสี่ยงตายที่คว้าออสการ์สารคดียอดเยี่ยม!

เรื่องราวของ อเล็กซ์ ฮอนโนลด์ ชายหนุ่มนักปีนเขาที่ปีนผาหินลาดชันด้วยสูง 3,200 ฟุตด้วยมือเปล่า ทำให้ Free Solo กลายเป็นหนังสารคดีม้ามืดที่คว้ารางวัลออสการ์สาขาสารคดียอดเยี่ยมปี 2019 (ท่ามกลางคู่แข่งสุดหินอย่าง Minding the Gap, Of Fathers and Sons และ RBG) แน่นอนว่า มีหลายเหตุผลที่ส่งให้มันเป็นขวัญใจของทั้งกรรมการและคนดู (ด้วยการกวาดเงินหลังออกฉายไปแล้วทั้งสิ้น 21 ล้านเหรียญฯ) ไม่ว่าจะการเล่าเรื่องอันสุดเร้าใจฝีมือสองผู้กำกับ เอลิซาเบธ ไช และ จิมมี่ ชิน, แรงบันดาลใจท่วมท้นที่หนังส่งออกมาหาคนดูนอกจอ, งานภาพสุดตระการตา ไปจนถึงการตัดต่อลำดับเรื่องราวที่ทำให้คนดูต้องน้ำตารื้นถึงเบื้องหลังความอุตสาหะของฮอนโนลด์

อย่างไรก็ตาม ความที่หนังว่าด้วยการตัดสินใจปีนผาสูงอันสุ่มเสี่ยง ก็นำมาซึ่งคำถามที่คนทำหนังสารคดีหลายคนเคยเผชิญกันมาแล้วเช่นกัน นั่นคือ “ผลกระทบและแรงกระเพื่อมที่ผู้กำกับมีต่อตัวซับเจ็กต์”

…เป็นไปได้ไหมว่า หากไม่มีการถ่ายทำสารคดีเรื่องนี้ ฮอนโนลด์ก็อาจไม่ตัดสินใจจะปฏิบัติภารกิจเสี่ยงตายดังกล่าว? คนทำหนังจะหลีกเลี่ยงไม่ให้ตัวเองมีส่วน ‘พัวพัน’ กับเรื่องราวที่อยากถ่ายทอดได้จริงไหม? และเราจะรู้ได้อย่างไรว่า เหตุการณ์ที่ปรากฏในสารคดีคือเรื่องราวที่ปราศจากการกุมบังเหียนทิศทางของผู้กำกับ?

เหล่านี้คือ “คำถามเชิงจริยธรรม” ที่ดุเดือดอย่างยิ่ง

จิมมี่ ชิน กับ อเล็กซ์ ฮอนโนลด์ บนยอดเขาเอลแคพพิทัน ไม่กี่นาทีหลังจากฮอนโนลด์ปีนสำเร็จ

หนึ่งในตัวอย่างอื้อฉาวของการที่คนทำหนังสารคดีถูกตั้งคำถามเรื่องจริยธรรม ก็คือสารคดีการเมืองเรื่อง Torre Bela (1975, โธมัส ฮาร์แลนด์) ที่ว่าด้วยการเกิดขึ้นและล่มสลายของกลุ่มแรงงานผู้ประท้วงนโยบายถือครองที่ดินในโปรตุเกส กล้องถ่ายหนังมีสถานะประหนึ่งผู้สังเกตการณ์อย่างเงียบเชียบ ทำให้ผู้ชมรู้สึกว่าการมีอยู่ของคนทำหนังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อซับเจ๊กต์ในหนังเลย กระทั่งอีกหลายปีให้หลัง สารคดี Red Line หรือ Linha Vermelha (2011, โฆเซ ฟิลิป คอสตา) จึงตีแผ่ข้อเท็จจริงที่ว่า ที่แท้แล้วฮาร์แลนด์มีอิทธิพลมากต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ประท้วง ทั้งยังมีส่วนสำคัญในการทำให้การชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองดุเดือดและซับซ้อนยิ่งขึ้น เพื่อใช้เป็นเนื้อหาในหนังสารคดีของตัวเอง!

Torre Bela (1975, โธมัส ฮาร์แลนด์)

ข้อหาที่ว่า “ยุให้ซับเจ็กต์ทำเรื่องเสี่ยง เพื่อให้ได้หนังเข้มข้น” จึงสร้างความกังวลแก่ไชและชินมาก แต่ทั้งคู่ก็สามารถหลบเลี่ยงปัญหานี้ได้อย่างงดงาม ซึ่งนี่คือหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้นักวิจารณ์กล่าวว่า Free Solo ไม่ใช่แค่หนังบันทึกการผจญภัยชวนหวาดเสียวธรรมดาๆ แต่มันคว้าออสการ์อย่าง “สมมง” เป็นที่สุด

วิธีที่ทั้งสองผู้กำกับใช้ก็คือ การให้กล้องตามจับภาพฮอนโนลด์โดยจัดวางระยะห่างและระยะชิดตามจังหวะอย่างเหมาะสม เหนืออื่นใดคือ การให้คนทำหนังเอง -ที่โดยทั่วไปมักจะอยู่เบื้องหลังกล้อง- ปรากฏตัวให้คนดูเห็นด้วย พร้อมขึ้นสถานะบนจออย่างชัดเจนว่า ‘ผู้กำกับ’ แล้วก็สวมบทบาทเป็นผู้ตั้งคำถามถึงการกระทำอันบ้าบิ่นของฮอนโนลด์อย่างตรงไปตรงมา

ด้วยวิธีนี้ คนดูก็ได้กลายเป็นพยานสำคัญของการถกเถียงหาจุดลงตัวระหว่างผู้กำกับกับทีมงาน และผู้กำกับกับฮอนโนลด์เอง ทั้งยังเชื้อเชิญให้คนดูร่วมวิเคราะห์สถานการณ์ตรงหน้าไปด้วยกัน (“เขาจะปีนจริงหรือ จะเสี่ยงทำไม แล้วพวกเราควรถ่ายไหม เราควรจะถ่ายอย่างไร”) จนมันได้กลายเป็นหนึ่งในเส้นเรื่องหลักและเหตุการณ์สำคัญของ Free Solo ไปโดยปริยาย (เมื่อมีบางครั้งที่ฮอนโนลด์แสดงท่าทีชัดเจนและเปิดเผยในการขอระยะห่างระหว่างตัวเขา -ซึ่งเป็นซับเจ็กต์- กับกล้อง)

อเล็กซ์ กับ ซานนี แฟนสาวของเขา

ไม่เพียงเท่านั้น ชินกับไชยังเชื่อมโยงเรื่องราวส่วนตัวของฮอนโนลด์เข้ากับเส้นเรื่องหลักด้วย โดยเฉพาะบทสนทนาอันแสนจะเป็นส่วนตัวระหว่างฮอนโนลด์กับ ซานนี แม็กแคนด์เลสส์ หญิงสาวที่เขาคบหาดูใจอยู่ เมื่อแม็กแคนด์เลสส์ตั้งคำถามถึงเหตุผลในการไต่ผาสูงชันของคนรัก และหวังว่าเขาจะเข้าใจที่เธอลังเลกับการตัดสินใจครั้งนี้ของเขา ซึ่งประเด็นนี้ก็ถูกนำมาผสานจนกลายเป็นอีกเส้นเรื่องหนึ่งที่ขับให้เห็นความมุมานะไปจนถึงบ้าระห่ำของฮอนโนลด์ได้อย่างดี

ทั้งหมดนี้จึงทำให้ Free Solo ได้รับเสียงชื่นชมอย่างสูงในปีนี้ ด้วยความที่มันไม่เพียงประสบความสำเร็จในการถ่ายทอดประสบการณ์เดือดพล่านของซับเจ็กต์ได้อย่างเร้าใจ พร้อมๆ กับที่เจาะลึกความขัดแย้งมากมายในตัวมนุษย์ได้อย่างเข้าถึงเท่านั้น แต่มันยังเป็นตัวอย่างของหนังสารคดีประเด็นท้าทาย ที่จัดวางตำแหน่งแห่งที่ของคนทำหนังและความสัมพันธ์ของพวกเขากับซับเจ็กต์และคนดูได้อย่างชาญฉลาดอีกด้วย