Aftersun1

Aftersun: มิติของสุนทรียศาสตร์แห่งการถ่ายทอดความรัก ความเจ็บปวด และตัวตนที่พร่าเลือน

อุณาโลม จันทร์รุ่งมณีกุล

มันไม่ใช่หนังเรียบง่ายอย่างที่เข้าใจตอนแรกเลย แต่เป็นหนังที่เต็มไปด้วย “ความหมาย” ที่ถ่ายทอดความเจ็บปวด ความรัก และนัยทางวัฒนธรรมของคนอังกฤษในช่วงทศวรรษ 1990 ได้อย่างลึกซึ้งด้วยศิลปะภาพยนตร์ที่แหวกขนบไวยากรณ์

That's me in the corner
That's me in the spot-light
Losing my religion
Trying to keep up with you
And I don't know if I can do it

(Losing my religion-R.E.M.)

*เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของหนัง

เป็นหนังที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในหลายเวทีประกวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอังกฤษและยุโรป และล่าสุดเข้าไปชิงออสการ์ในสาขาดารานำชาย (Paul Mescal) และถูกโหวตว่าเป็นหนังที่ดีที่สุดของบรรดานักวิจารณ์ในอังกฤษปี 2022 ในขณะที่หลายคนอาจจะรู้สึกว่าหนังเนือยและเข้าใจได้ยากในบางช่วง แต่คนอังกฤษจะ “รู้สึกอิน” กับหนังเรื่องนี้มากขั้นสุด เพราะเหตุผลหลายประการ ทั้งด้วยภาษาหนังที่สุดสร้างสรรค์ เพลงประกอบ mise-en-scene และ ประเด็นหลักในหนัง

โดยส่วนตัวคิดว่า มันไม่ใช่หนังเรียบง่ายอย่างที่เข้าใจตอนแรกเลย แต่เป็นหนังที่มีวิธีการเล่าเรื่องเป็นแบบ non-narrative หรือ alternative narrative คือไม่มีโครงสร้างของบทตามสูตรสำเร็จภาพยนตร์ทั่วไป เป็นหนังที่เต็มไปด้วย “ความหมาย” ที่ถ่ายทอดความเจ็บปวด ความรัก และนัยทางวัฒนธรรมของคนอังกฤษในช่วงทศวรรษ 1990 ได้อย่างลึกซึ้งด้วยศิลปะภาพยนตร์ที่แหวกขนบไวยากรณ์หนังไปพอควร และเปิดโอกาสให้คนดูตีความโดยไม่เปิดเผยอะไรชัดเจนเหมือนหนังกระแสหลักทั่วไป

หนังเกี่ยวกับโซฟี สาวน้อยวัย 11 ขวบ (แสดงโดย Frankie Corio) ที่ไปเที่ยวตุรกีกับคาลัม (แสดงโดย Paul Mescal) พ่อวัยหนุ่มที่กำลังจะครบรอบวันเกิด 31 ปี ต่างฝ่ายต่างพยายามจะถ่ายทอดความรักความใส่ใจให้กัน แต่ในความสัมพันธ์ของพ่อที่มีอายุน้อยกับลูกสาวที่คาดหวังแบบเด็กในวัย 11 ขวบ มีนัยของความเจ็บปวด พร่าเลือน แปลกแยก อ่อนล้า สูญเสียพลัดพราก ภายใต้รูปแบบการสื่อสารของหนังเรื่องนี้

เพื่อจะตีความในเชิงสุนทรียศาสตร์แบบเจาะลึก ขอรื้อถอนองค์ประกอบของหนังโดยในที่นี้จะขอแบ่งบทวิจารณ์ชิ้นนี้เป็น 3 ส่วนคือ Form-Content-Context หรือ รูปแบบของหนัง เนื้อหาหนัง และบริบทหนัง โดยจะขอกล่าวถึง context ก่อนเป็นอันดับแรก

Context: ความแปลกแยก แสวงหาความหวัง และไร้ทางออก

บริบทสองระดับที่เชื่อมโยงและขับเคลื่อนการเล่าเรื่อง นำไปสู่การเปิดเผย “เบื้องลึก” ความในใจของตัวละคร คือ บริบทของสังคมอังกฤษในยุคทศวรรษ 1990 และบริบทของท้องถิ่นสกอตเองในห้วงเวลานั้น ในช่วงทศวรรษ 1980-1990 เสียงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาพ่อแม่ในวัยหนุ่มสาว หรือที่เราเรียกในเมืองไทยว่า เป็นพ่อแม่ก่อนวัยอันควร นับเป็นปัญหาที่ถูกหยิบมาพูดถึงบ่อยครั้งในสื่อมวลชน ในวงการการศึกษา และในหมู่นักการเมืองของอังกฤษ ปัญหาของพ่อแม่ที่อายุน้อย (เช่น ตัวละคร คาลัม-แสดงโดย Paul Mescal) ตามมาด้วยอีกหลายปัญหาใหญ่ของสังคมอังกฤษ ตั้งแต่ความไม่มีวุฒิภาวะในการเลี้ยงเด็ก รายได้ไม่เพียงพอในการเลี้ยงครอบครัว การหย่าร้างแตกแยกของสามีภรรยา และ การหันเข้าหายาเสพติดในหมู่หนุ่มสาว

ในส่วนบริบทท้องถิ่นของสกอตแลนด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมือง Edinburgh – Glasgow ที่เป็นสองเมืองใหญ่ของสกอตแลนด์ที่มีหนุ่มสาวจำนวนมากออกแสวงหาความก้าวหน้าของชีวิต ด้วยการเดินทางไกลไปศึกษาและทำงานในเมืองที่ใหญ่กว่าเช่น ลอนดอน แต่ขณะเดียวกันก็พบว่าปัญหาความแปลกแยกระหว่างตัวตน กับสิ่งที่กำลังดำเนินไปเป็นภาระที่หนักอึ้ง การเดินทางเข้าลอนดอนไม่ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จเสมอไป ความพ่ายแพ้ อ่อนล้าและเจ็บปวดของเหล่าหนุ่มสาว ปัญหาเหล่านี้สะท้อนอยู่ในตัวคาลัม พ่อที่มีงบน้อยแต่ต้องการสร้างความสุขให้ลูกสาววัยรุ่น และอยู่ในบทเพลงของทศวรรษที่ 1990 ที่หนังเรื่องนี้ใช้เป็น Key materials เพื่อสะท้อนสิ่งที่อยู่ในจิตใจของตัวละคร

บริบททางวัฒนธรรมในห้วงเวลานั้น ที่สำคัญคือ เพลงประเภท Electronic-dance และ Rave culture ของอังกฤษ คำว่า Rave culture มีความหมายกว้างและมีที่มาที่ไปจากรากเหง้าของสังคมในอังกฤษ เมื่อนำมาใช้กับ Rave party มักจะถูกตีความว่าจะเกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์เพลงแบบ Electronic-dance ที่มีแสงเลเซอร์โชว์ ยาเสพติด และปาร์ตี้สนุกสุดเหวี่ยงของวัยรุ่นที่มารวมตัวกันเพื่อปลดปล่อยความทุกข์ แสดงตัวตนอีกด้านหนึ่ง แสวงหาความหวัง และแสวงหาเพื่อน

ด้วยวัฒนธรรมนี้เอง การร่วมเรฟปาร์ตี้จึงเป็นฉากสำคัญของหนังทุกครั้งที่ตัวเอกคือ คาลัม กำลังดำดิ่งลงจิตใต้สำนึกที่มีแสงไฟทั้งมืดและสว่างวาบเป็นช่วงๆ เป็นจินตนาการสำคัญของหนังที่จะชวนผู้อ่านคิดต่อไปว่า เพราะอะไร และทำไมฉากเหล่านี้จึงต้องมาบ่อย และสำคัญอย่างไร

Film Form: Alternative narrative – สุนทรียศาสตร์ใน 3 มิติ

ความน่าสนใจของหนังเรื่องนี้อยู่ที่ “ภาษาหนัง” ที่รวมทั้งการออกแบบเฟรมภาพ (mise-en-scene) การถ่ายภาพ เสียงประกอบ เพลง การแสดง และวิธีการเล่าเรื่อง (narrative) นอกจากนี้ ปมปัญหาและบุคลิกตัวละครที่ดูจบแล้วอาจจะลืมได้ยากในเฟรมภาพที่ผ่านการคิดสร้างสรรค์ และ “ความหมายที่ซุกซ่อน” ในภาษาหนังของ Charlotte Wells ผู้กำกับหญิงชาวสกอตแลนด์ที่มีถิ่นกำเนิดในเมือง Edinburgh และมาเรียนต่อและทำงานในลอนดอนเช่นเดียวกับคาลัมตัวเอกของเรื่อง

ลักษณะการเล่าเรื่องเป็นแบบทางเลือก (alternative narrative) ที่ไม่ได้อยู่บนขนบของสูตรสำเร็จโครงสร้างภาพยนตร์กระแสหลักที่มักถูกตีกรอบในสามองก์หลัก คือองก์หนึ่ง (ที่มาที่ไปของปัญหาหรือตัวละคร) องก์สอง (เผชิญกับปัญหา) และองก์สาม (ทางออกของปัญหา) แต่หนังเรื่องนี้เล่าเรื่องโดยไม่เรียงตามลำดับใดๆ ไม่มีโครงสร้างของพล็อต แต่เป็นการเล่าเรื่อง 3 มิติที่ถูกนำมาปะติดปะต่อกันด้วยชั้นเชิงของสุนทรียศาสตร์หลากหลายรูปแบบ

มิติที่หนึ่ง คือ มิติที่ทุกคนเห็นและรับรู้ได้ ทั้งตัวละครและคนดูรับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (จะเห็นว่ากล้องวิดีโอเป็นเครื่องมือสำคัญ)

มิติที่สอง คือ มิติที่ตัวละครไม่รับรู้หรือพร่าเลือนมาก แต่คนดูรับรู้ (แม้จะคลุมเครือสำหรับตัวละคร แต่คนดูเห็นเกือบทั้งหมด)

มิติที่สาม คือ มิติของจิตใต้สำนึกของตัวละครหรือภาพฝัน (ปรากฏในซีนเรฟปาร์ตี้ การใช้เพลงประกอบและ Background sound)

ในแต่ละมิติ หนังถูกถ่ายทอดผ่านศิลปะภาพยนตร์ในหลายรูปแบบ

มิติที่ 1 คือ ตัวละครรับรู้ และคนดูรับรู้ ซึ่งเป็นมิติที่มักจะเป็นห้วงเวลาความรักความอบอุ่น มีความสุข และความอยากรู้อยากเห็นของโซฟี โดยมีกล้องวิดีโอเป็นตัวกลางสำคัญเริ่มตั้งแต่ที่โซฟีลูกสาววัย 11 ขวบ ถ่ายตัวเองเหมือนเล่าให้เพื่อนฟังด้วยความตื่นเต้นที่ได้มาเที่ยวทะเลที่ประเทศตุรกี (ถ่ายโดยโซฟี) และซีนที่ลาจากกันระหว่างพ่อลูกที่สนามบิน (ถ่ายโดยคาลัม)

แต่เมื่อถึงห้วงเวลาที่ลูกสาวต้องการบันทึกภาพที่จะเปิดเผยตัวตนของพ่อ พ่อกลับไม่ต้องการให้สิ่งเหล่านี้ถูกบันทึกไว้ในกล้อง (จริง ๆ คือ ไม่ต้องการให้อยู่ในความทรงจำของโซฟี) เช่น ฉากนึงที่โซฟีพยายามตื๊อถามพ่อว่า ในตอนที่พ่อ 11 ขวบ พ่อคิดว่าตัวเองจะเป็นยังไงในวัย 31 ขวบ ภาพวิดีโอที่โซฟีกำลังถ่ายพ่อถูกฉายบนจอทีวีเก่า โดยมีหนังสือฝึกไทชิ และฝึกสมาธิวางอยู่ข้างทีวี ด้านหลังทีวีคือกระจกส่องหน้าที่คนดูสามารถเห็นภาพบางเสี้ยวของตัวละคร แต่จะเห็นภาพเต็มทั้งหมดบนจอทีวีรุ่นเก่า

คาลัมปฏิเสธการตอบคำถามและสั่งให้โซฟีปิดกล้อง แต่โซฟีไม่ยอมจนคาลัมเป็นผู้ปิดเสียเอง หลังจากนั้น “บาดแผลวัยเด็ก” ของคาลัมจึงถูกเปิดเผยขึ้นในเงาที่สะท้อนบนจอทีวี เป็นเพียงเงาดำจางๆ แต่คนดูรับรู้จากบทสนทนาได้ว่า ครอบครัวคาลัมลืมวันเกิดเขาและยังมีแม่ที่แสดงท่าทีโมโหด้วย คนดูไม่เห็นสีหน้าของคาลัมและโซฟี และแน่นอนไม่ได้ถูกบันทึกด้วยกล้องวิดีโอ เป็นฉากที่ต้องชมการออกแบบเฟรมภาพ มิสซองแซนที่สื่อความหมายทั้งเบื้องหน้าที่เราเห็นและเบื้องลึกของจิตใจที่ซ้อนทับกันในช็อต long take ที่แค่ตั้งกล้องไว้นิ่งๆ เท่านั้น นี่คือภาษาหนังที่ผ่านการคิดอย่างแยบยล 

ในอีกหลายๆ ฉากที่คาลัมสะท้อนความเจ็บปวดในชีวิตและตัวตนที่ขาดวิ่น หนังจะถ่ายทอดเพียงเงามืดดำหรือด้านหลังของเขา โดยที่ไม่มีความชัดเจนในเฟรมภาพ แต่คนดูก็รู้สึกได้ว่าเขาเจ็บปวดและเหนื่อยล้า ความไม่ชัดเจนในการถ่ายทอดความเจ็บปวดของคาลัม เป็นการเล่าเรื่องที่จะกล่าวถึงในมิติที่สอง

ในมิติที่หนึ่งนี้ เมื่ออยู่ต่อหน้าลูกและต่อหน้าคนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาสว่างจ้าช่วงกลางวัน คาลัมคือพ่อที่พยายามทำหน้าที่อย่างดีที่สุดและมีปฏิสัมพันธ์กับลูกที่กำลังเติบโตอย่างมีความหวัง ความอบอุ่น มีคำสอนมากมาย มีการปกป้องเท่าที่เขาจะทำได้ แม้แต่ซีนเล็กๆ อย่างการทา “aftersun” โลชั่นป้องกันผิวไหม้ที่คาลัมเตือนโซฟีเสมอว่าให้ป้องกันตัวเอง 

ขณะเดียวกันในมิตินี้ โซฟีก็พยายามเยียวยาบาดแผลในวัยเด็กของพ่อเท่าที่เด็ก 11 ขวบจะเข้าใจและทำได้ ในซีนที่คนดูจะเห็นว่าโซฟีพยายามโปะโคลนลงบนผิวของพ่อ และไปกระซิบบอกลูกทัวร์ทุกคนให้ร้องเพลงอวยพรวันเกิดให้พ่อหน่อย แต่เมื่อกล้อง tilt up ไปเจอคาลัม คนดูก็ไม่สามารถเห็นสีหน้าเขาได้ว่าเขารู้สึกอย่างไร เพราะเขาอยู่ใต้เงามืด

รูปแบบที่ถ่ายทอดตัวละครด้วยการจัดแสงเงามืดเช่นนี้พบในมิติที่สอง ซึ่งเป็นอีกมิติหนึ่งที่ถูกถ่ายทอดออกมาแบบปะติดปะต่อ เต็มไปด้วยความผิดหวังในตัวเอง ความเจ็บปวด ความพ่ายแพ้ต่อการดิ้นรนต่อสู้กับปัญหาในจิตใจของพ่อ มันคือมิติที่ตรงกันข้ามกับมิติแรก

ในวิธีการเล่าเรื่องของมิติที่สอง (คนดูจะเห็นภาพต่างๆ แต่ตัวละครคือโซฟีจะไม่เห็น) อันเป็นมิติอันเศร้าหดหู่ของคาลัม หนังใช้การถ่ายทอดด้วยศิลปะการวางเฟรม การใช้สี และการจัดแสง

ฉากสำคัญหนึ่งที่อาจจะสะเทือนใจคนเป็นพ่อทุกคนคือ ฉากที่โซฟีอยากร้องคาราโอเกะแต่พ่อไม่ชอบร้องเพลง เพลงที่โซฟีร้องคือ Losing my religion (R.E.M) คือ การบอกเล่าความในใจของสาวน้อยที่มีต่อชีวิตวัยรุ่นของเธอ และเธอปรารถนาที่สุดที่จะให้พ่อร่วมร้องด้วย แต่พ่อปฏิเสธอย่างแข็งกร้าว การแสดงของแฟรงกี้ดีมากในซีนนี้ ในขณะที่เธอร้อง…

I thought that I heard you laughing
I thought that I heard you sing
I think I thought I saw you try

เป็นซีนที่ถ่ายทอดความในใจของสาวน้อยด้วยเพลงแห่งยุค เมื่อร้องเสร็จพ่อกลับบอกว่าอาจจะส่งเธอไปเรียนร้องเพลง แต่สิ่งที่ช็อกพ่อคือคำตอบของลูกที่ว่า “หยุดคำสัญญาที่จะจ่ายเงินเพื่อเธอ เพราะเธอรู้ดีว่าพ่อไม่มีเงินที่จะทำแบบนั้นสักครั้ง” หลังจากนั้นคาลัมขอตัวขึ้นห้องไปนอน ซีนที่โซฟีไม่รับรู้เลยคือ ความผิดหวังในตัวเอง ความพ่ายแพ้ ความอ่อนแอในจิตใจของพ่อ ซึ่งถูกออกแบบให้อยู่ในฉากกลางคืนหรือในสภาพดำมืด เช่น ฉากที่พ่อออกเดินไปในความมืด ไปถึงริมชายหาดและเดินลงทะเลหายไปในความมืด ฉากร้องไห้สะอื้นบนเตียง ทั้งหมดนี้คนดูรับรู้ได้ แต่ตัวลูกไม่ได้รับรู้ แต่อย่างไรก็ตามด้วยความช่างสังเกตและเฉลียวฉลาดของโซฟี เธอพอจะเข้าใจว่าพ่อมีปัญหาในชีวิตแต่เธอก็ไม่อาจเข้าใจได้ว่าคืออะไรกันแน่

ซีนที่มีนัยของ “ความตาย” ของคาลัมถูกถ่ายทอดออกมาอย่างน้อย 3 ครั้งตั้งแต่ต้นจนจบ แม้หนังจะไม่ได้เปิดเผยว่าเขาตายหรือไม่ แต่การเปิดช่องว่างให้คนดูปะติปะต่อความทรงจำของบาดแผลเหล่านี้และตีความด้วยตัวเอง คือเสน่ห์ของหนัง

ซีนที่อยู่ในมิติที่สอง ที่กล้องจับเพียงแผ่นหลังของคาลัมบนเตียงนอน เขาสะอื้นไห้จนตัวโยน อาจจะด้วยความผิดหวังในชีวิต ต้องการปลดปล่อย หรือเจ็บปวดก็ตาม (หลังจากเหตุการณ์ที่เขาเดินลงทะเลในความมืด และเหตุการณ์ที่ลูกสาวจัดการเซอร์ไพรส์วันเกิดเขา ซึ่งเขาขาดไปในวัยเด็ก) แต่ก็ยิ่งตอกย้ำอาการป่วยไข้ทางจิตใจของเขา โดยที่คนดูไม่เห็นหน้าของเขา ไม่แน่ใจว่าตัวตนเขาจริงๆ รู้สึกอะไร และโซฟีก็ไม่เคยรับรู้ว่าพ่อมีอาการเช่นนี้เลยแม้แต่ครั้งเดียว ทุกครั้งที่มีซีนเหล่านี้จะเป็นฉากกลางคืน จัดแสง low key ตัวละครอยู่ในความมืดและบางครั้งก็พร่าเลือน ซึ่งเป็นไปได้ว่า การรับรู้ของโซฟีในวัยเด็กนั้น เธอไม่เข้าใจและรับรู้สิ่งเหล่านี้น้อยมาก เป็นการรับรู้ในมิติที่พร่าเลือนมากของโซฟี

ซีนที่ดีมากในการออกแบบเฟรมภาพ บทสนทนา และการใช้สัญลักษณ์จากสีและของประกอบฉากอย่างเต็มที่คือ ซีนที่แบ่งออกเป็นสองฝั่งด้วยกำแพงที่กั้นอยู่ตรงกลางระหว่างลูกที่นั่งบนโซฟาในห้อง ฉากและของประกอบฉากทั้งหมดในฝั่งของลูกคือสีขาวสว่างและแสงสีส้มโทนอบอุ่น และพ่อที่นั่งบนโถส้วมในห้องน้ำ ฉากคือผนังสีเขียวเข้ม หมองหม่น แสงค่อนข้างมืด ในขณะที่ลูกกำลังนั่งอ่านนิตยสารวัยรุ่นสมัยนั้น “Girl Talk” ที่หน้าปกพาดหัวคำว่า LOVE (โดยที่พ่อไม่รู้ว่าโซฟีตั้งใจอ่านนิตยสารแบบนี้) ตัวพ่อกำลังพยายามตัดเฝือกออกจากแขน และมีเลือดไหลออกตลอดเวลา เมื่อพ่อเอ่ยปากถามว่าอ่านหนังสือที่พ่อให้อ่านหรือยัง โซฟีรีบเปลี่ยนเล่มเอาหนังสือที่ “ควรอ่าน” มาถือแทน ในขณะที่พ่อพยายามด้วยความเจ็บปวดที่จะเยียวยาบาดแผลของตัวเอง แต่ก็มีเลือดไหลไม่หยุด

ความหมายที่ซุกซ่อนอยู่ อาจจะเป็นการพยายามเยียวยาตัวเองของพ่อให้หายจากอาการบาดเจ็บ และอยากมอบสิ่งดี ๆ ให้ลูก (อ่านหนังสือดีๆ) ในขณะที่ฝั่งของลูกก็กำลังอยากรู้อยากเห็นตามวัยสดใส (mise-en-scene ที่สว่างทุกจุด) แต่พ่อก็ทำไม่สำเร็จ ตรงข้ามกลับมีอาการบาดเจ็บหนักขึ้น (mise-en-scene เขียวเข้มหม่นหมอง แสงมืด) ทั้งสองชีวิตที่แตกต่างอยู่ในเฟรมเดียวกันแต่ให้โทนที่ต่างกันสุดขั้ว

แม้แต่การวางเฟรมภาพของการพยายามเยียวยาตัวเองของคาลัม ซึ่งโซฟีไม่เห็นหรือเห็นเพียงเศษเสี้ยวและไม่เข้าใจ คือ ฉากการฝึกไทชิ ที่คาลัมพยายามทำเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ตัวเอง ซึ่งคนดูก็เห็นตัวคาลัมเพียงเศษเสี้ยวเช่นกัน

ในวิธีการเล่าเรื่องของมิติที่ 3 คือ มิติของจิตใต้สำนึกหรือภาพฝัน คือ การที่คาลัมและโซฟีดำดิ่งลงไปในซีนของเรฟปาร์ตี้ที่มีการเต้นรำกันสุดเหวี่ยง ซึ่งหลายครั้งที่หนังแสดงให้เห็นถึงการปลดปล่อยของคาลัม การดึงดันและสับสนของโซฟี และที่สุดคือการประสานเข้าหากันได้ของทั้งสองฝ่ายท่ามกลางความพร่าเลือนของเรื่องราวต่างๆ แต่มิตินี้เต็มไปด้วยความขัดแย้งและกดดัน และจะถูกตัดต่อแทรกเข้ามาทุกครั้งที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่ในภาวะอ่อนแอหรือคับข้องใจ

ฉากที่โซฟีถูกลากไปเต้นรำทั้งที่เธอไม่ชอบเต้นในเรฟปาร์ตี้ ทั้งการจัดแสงภายใต้วัฒนธรรมคลับที่ใช้แสงเลเซอร์ (ความมืดและสว่างสลับเป็นเหมือนไฟแฟลช) เป็นภาพที่ไม่มีอะไรชัดเจนมากนัก แต่กลับถูกทำให้ชัดเจนในความรู้สึกของคนดูด้วยความหมายที่ซุกซ่อนอยู่ด้วยเพลง Under pressure (Queen and David Bowie)

….Pressure pushin’ down on me
Pressin’ down on you, no man ask for
Under pressure that brings a building down
Splits a family in two, puts people on streets

…….

‘Cause love’s such an old-fashioned word
And love dares you to care for
The people on the edge of the night
And love dares you to change our way of
Caring about ourselves
This is our last dance
This is our last dance
This is ourselves
Under pressure

เพลงประกอบในเรื่องนี้ทำหน้าที่สำคัญในการขับเน้นสิ่งที่อยู่ในใจของตัวละครที่อาจจะแสดงออกต่อคนอื่นได้ยาก แต่ก็ปรากฏอยู่ในหนังตลอดเรื่องเป็นจำนวนกว่า 10 เพลง

Content: รอยต่อความสัมพันธ์และตัวตนที่แหว่งวิ่น

หัวใจของหนังคงไม่ได้อยู่ที่พยายามจะบอกเล่า “story” และไม่ได้ต้องการ Plot สมบูรณ์แบบอย่างที่เราคุ้นชินในหนังฮอลลีวู้ด ตรงกันข้าม หนัง “ไม่ได้” ต้องการจะสร้างเรื่องเล่าที่สมบูรณ์แบบใดๆ แต่เนื้อหาสำคัญคือ การค้นหา “ตัวตน” ของพ่อว่าที่แท้จริงแล้ว ปมปัญหาที่โซฟีพอจะรับรู้อย่างพร่าเลือนคืออะไร หนังถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกอันหนักอึ้งของฝ่ายพ่อ ความคาดหวังไร้เดียงสาของลูก ความรักของลูกที่อยากจะเยียวยาความทุกข์ของพ่อ ความสัมพันธ์ของพ่อลูกท่ามกลางความโดดเดี่ยวแปลกแยกของพ่อแม่ในวัยหนุ่มสาวที่ไร้ทางออก และภาวะนั้นไม่ต่างจากความรู้สึกของโซฟีเมื่อเธอเติบโตขึ้นอยู่ในวัยเดียวกับคาลัมและมีลูกน้อย

ภาพความพร่าเลือนของความสัมพันธ์ และในที่สุดพ่อก็หายไปจากชีวิตเธอดังภาพนิ่งจากกล้องโพลารอยด์ที่เมื่อถ่ายออกมาแล้วก็ไม่ชัดเจนเสียที แม้ว่าช็อตนี้จะถูกแช่ไว้นานพอควร แต่คนดูก็เห็นเพียงแต่ภาพพ่อลูกในความดำมืดบนรูปภาพนั่นเอง (ซึ่งผิดปกติจากภาพกล้องโพลารอยด์ทั่วไปที่ควรจะค่อยๆ สว่างขึ้นจนคมชัด)

เมื่อเธอหวนกลับมาดูภาพแห่งความทรงจำจากฟุตเทจวิดีโอทั้งหมด หนังบอกเป็นนัยว่าพ่อเธออาจไม่ได้มีชีวิตอยู่แล้วด้วยซีนที่กระชากอารมณ์คนดู 2-3 ครั้ง (เช่น ซีนรถบัสกำลังจะชนคาลัม และซีนที่เขาเดินลงทะเล) เธอรู้สึกอ้างว้าง โดดเดี่ยวเช่นเดียวกับพ่อในวัยหนุ่มที่แปลกแยกจากบ้านเกิด และไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตแม้ว่าจะเดินทางไปทำงานที่ลอนดอน

“ความพ่ายแพ้” ของคาลัมในซีนจบที่สนามบิน พ่อใช้กล้องจับภาพลูกสาวที่กำลังโบกมืออำลา ต่างฝ่ายต่างบอกรักด้วยความอบอุ่น จากนั้นฟรีซภาพโซฟีที่โบกมือบายๆ และแพนมาที่โซฟีตอนวัยสาวที่มีลูกแล้ว เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวในเมืองใหญ่และแพนต่อไปเป็นภาพสุดท้ายของพ่อที่เธอเห็นในชีวิต คือ ภาพที่พ่อปิดกล้องและเดินหันหลัง (มีเสียงเด็กทารกแทรก) กลับไปที่ประตูทางออก เมื่อพ่อเปิดประตูแล้ว กลับเป็นปารตี้เรฟ ที่พ่อพร้อมจะดำดิ่งลงไปปลดปล่อยความทุกข์และความพ่ายแพ้ของตน

นอกจากเพลงประกอบแล้ว Background sound ยังทำหน้าที่เล่าเรื่องหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียงเด็กทารกที่ดังขึ้นตอนที่โซฟีอยู่ในห้องนอน และอีกครั้งที่สนามบินตอนที่คาลัมจะเดินหายไปในเรฟปาร์ตี้

ชื่อเรื่อง Aftersun ศัพท์คำนี้โดยทั่วไปคนจะนึกถึงโลชั่นทาผิวป้องกันแสงแดดไม่ให้ผิวไหม้ และจะเห็นฉากที่คาลัมทาโลชั่นนี้ให้แก่ลูก 2 ครั้ง ทั้งที่โซฟีก็พยายามอยากจะทำเอง เริ่มเรียนรู้ที่อยากจะปกป้องตนเอง แต่อีกนัยหนึ่งของชื่อเรื่องก็คือ หลังจากพระอาทิตย์ลาลับไปแล้ว มันคือความหดหู่พ่ายแพ้ที่เอาชนะไม่ได้สักครั้งแม้จะพยายามเพียงใด จนต้องพรากจากกันไป…

ตัวคาลัม ซึ่งแสดงโดยพอล เมสคาล แบกภารกิจการแสดงที่ต้องถ่ายทอดได้ทั้งมิติที่หนึ่ง สอง และสาม เป็นสามมิติที่แตกต่างกันสิ้นเชิง ไม่ต้องสงสัยว่าทำไมจึงได้รับการเสนอชื่อชิงออสการ์ ตัวน้องแฟรงกี้ โคริโอซึ่งแสดงเป็นโซฟีนั้นเสน่ห์เหลือล้น แสดงเป็นธรรมชาติเหมือนไม่แสดง และสำหรับผู้กำกับหญิงชาร์ลอตต์ เวลส์ก็เป็นความหวังของชาวอังกฤษอย่างมากในการจะก่อร่างสร้าง British new wave อีกครั้ง

 

**ผู้เขียน : อุณาโลม จันทร์รุ่งมณีกุล รองศาสตราจารย์ ดร. ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช / ใช้ชีวิตในอังกฤษราว ค.ศ. 2001-2009

more articles

ช็อกวงการสารคดี! ผู้กำกับ Roadrunner ใช้ deepfake จำลองเสียงซับเจ็กต์ผู้ล่วงลับ

เกิดประเด็นอื้อฉาวและท้าทายแนวคิดในการทำหนังสารคดี เมื่อผู้กำกับ Roadrunner: A Film About Anthony Bourdain เปิดเผยว่าเสียงของบัวร์เดนที่ได้ยินในหลายๆ ฉากของหนังเรื่องนี้ไม่ใช่ของจริง แต่ถูกสร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยี deepfake!

‘กาตาลิน โตลอนตัน’ จากนักข่าวกีฬารายวัน สู่สถานะนักข่าวสืบสวนคอร์รัปชันผู้โค่นล้มรัฐบาล!

“หนึ่งในปัญหาใหญ่ที่สุดของวงการสื่อก็คือ พวกเขาเริ่มยอมรับ ‘ความไม่ปกติ’ ว่าเป็น ‘ความปกติ’ ยอมปกปิดความจริง ยอมประนีประนอมกับอำนาจ โดยไม่เคยรู้สึกผิดหรือรู้สึกโกรธอะไรเลย”

Photo Credit: “Staatsbibliothek zu Berlin (Kulturforum) interior” by Lessormore from Wikimedia Commons

“ห้องสมุด” : สถานศักดิ์สิทธิ์แห่งเรื่องเล่าและความทรงจำใน Wings of Desire

หนังคลาสสิกเรื่องนี้มีชื่อเยอรมันต้นฉบับว่า Der Himmel über Berlin แปลว่า “สวรรค์เหนือเบอร์ลิน” ซึ่งสะท้อนความรักลึกซึ้งที่วิม เวนเดอร์สมีต่อเมืองใหญ่เมืองนี้ได้เป็นอย่างดี และหนึ่งในสถานที่สำคัญที่ถูกนำเสนออย่างโดดเด่นก็คือ “หอสมุดรัฐเบอร์ลิน”

จากเมืองนรกสู่ดินแดนที่เทวดาตกหลุมรัก : เบื้องหลัง Wings of Desire

หลังคว้าปาล์มทองจาก Paris, Texas และเต็มอิ่มกับการใช้ชีวิตในอเมริกา วิม เวนเดอร์สตัดสินใจกลับเบอร์ลินเมืองแสนรัก ออกเดินสำรวจชีวิตผู้คน แล้วถ่ายทอดเรื่องราวของบ้านเมืองนี้ผ่านสายตาของ “เทวดา”

ครั้งหนึ่ง บงจุนโฮและซงคังโฮเคยถูกขึ้น “บัญชีดำ” และบัญชีดำนี้นำไปสู่การถอดถอนประธานาธิบดี!

กว่าจะกลายมาเป็นคนทำหนังและนักแสดงระดับโลกดังที่เราเห็นในวันนี้ ทั้งคู่และเพื่อนอีกหลายชีวิตในวงการหนังเกาหลีใต้เคยผ่านช่วงเวลาแห่งการต่อสู้อันยากลำบากมาก่อน นี่อาจเป็นอีกหนึ่งข้อยืนยันชัดเจนว่า ความสำเร็จยิ่งใหญ่ของพวกเขาไม่ใช่สิ่งที่ได้มาง่ายดายด้วยความบังเอิญ!

“คนเกาหลีคุ้นเคยกับความรุนแรง เพราะเราเพิ่งเจอยุคเผด็จการมา 50 กว่าปีเท่านั้น”

“หนังของผมมักมีฉากรุนแรงจะแจ้ง เพราะความรุนแรงซึมซาบอยู่ในวัฒนธรรมของเรา” บงจุนโฮเล่าเบื้องหลัง Memories of Murder ที่เขาแปลงเรื่องจริงโหดเหี้ยมมาเป็นหนังระทึกขวัญสุดร้ายกาจ!

ซงคังโฮ : “ใบหน้าของหนังเกาหลีใต้”

“ผมไม่ใช่คนหล่อคนเท่จึงเหมาะกับคนทำหนังที่ต้องการเล่าเรื่องของคนธรรมดา – หรือพูดอีกอย่างว่า คนที่ดูผิวเผินเหมือนธรรมดา แต่แท้จริงแล้วกำลังต่อสู้กับความเลวร้ายสาหัสอยู่”

ส่อง 10 สารคดีน่าดูในเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ 2020

เทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ในปีนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 มกราคม ถึง 3 กุมภาพันธ์ และมีสารคดีน่าสนใจมากมาย ซึ่งเราคัดมาเพียง 10 เรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ และมีประเด็นหลากหลาย ครอบคลุมทั้งทางด้านสังคม เทคโนโลยี การเมือง และประสบการณ์ชีวิต […]

เจี่ยจางเคอกับจ้าวเทา : ‘คู่รัก’ และ ‘คู่หู’ มืออาชีพ

“ต่อเมื่อคุณ ‘กลาย’ เป็นตัวละครนั้นเวลาถ่ายทำจริงๆ แล้ว คุณจะเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าตัวละครนั้นเป็นใคร” ไม่มีข้อกังขาว่าจ้าวเทาคือหนึ่งในนักแสดงหญิงชาวจีนที่น่ายกย่องที่สุดคนหนึ่งของยุคสมัย […]

แผ่นหินบัญญัติ 10 ประการ โบสถ์ซาตาน และโดนัลด์ ทรัมป์!

บัญญัติ 10 ประการหรือ Ten Commandments คือคำสอนจากคัมภีร์ฮีบรูและสลักไว้บนแผ่นหินสองแผ่น มีการกระจายติดตั้งหินสลักเหล่านี้ไปตามเมืองใหญ่ๆ รวมถึงอาร์คันซอ ซึ่งเกิดเรื่องชวนเหวอขึ้น […]

รู้จักบาโฟเมต ซาตานในร่างแพะผู้ต่อต้านพระเจ้า

ถ้าคุณเป็นคนเล่นเกม Ragnarok online น่าจะคุ้นเคยกับตัวละครหน้าตาเหมือนแพะกับเคียวหนึ่งเล่มในแดน Hidden temple นั่นคือบาโฟเมต (Baphomet) วายร้ายตัวสำคัญของเกมที่นำจุดจบมาให้ผู้เล่นแล้วมากต่อมาก […]

นนทวัฒน์ นำเบญจพล กับ “ดินไร้แดน” : คนเมืองกับเรื่องชายแดน

มีนักทำหนังไทยไม่กี่คนที่เอาดีทางการทำสารคดีอย่างจริงจัง หนึ่งในนั้นคือ “นนทวัฒน์ นำเบญจพล” ผู้ใช้สารคดีบอกเล่าถึง “คนนอก” และตั้งคำถามต่อสังคมมาโดยตลอด

คุยกับไพลิน วีเด็ล ผู้พาสารคดี Hope Frozen คว้ารางวัลใหญ่ และอีกมุมของสังคมไทยในสายตาโลก 

จากนักข่าวสู่ผู้กำกับสารคดี คุยกับไพลินถึงพลังของการเล่าเรื่อง เมืองไทยในสายตาต่างชาติ และการต่อสู้ยาวไกลของเธอกว่าจะมาถึงวันคว้ารางใหญ่ระดับโลก

“ผมนับถือลัทธิมาร์กซ์หมดทั้งใจ” – แบร์นาโด แบร์โตลุชชี่

“ความเจ็บปวดร้าวรานอย่างหนึ่งของการเป็นชนชั้นกลางก็คือ พวกเขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่สิ้นหวังและรู้สึกผิดเสมอ ชนชั้นกลางจึงเป็นเรื่องที่ผมอยากสำรวจ”

51 ปี “ปฏิวัติพฤษภา 1968” (May 1968) : รู้จักประวัติศาสตร์เบื้องหลังหนัง The Dreamers

เหตุการณ์ประท้วงปี 1968 ของฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในตัวอย่างคลาสสิกของโลก ว่าด้วยแรงกระเพื่อมจากคนกลุ่มเล็กๆ ผู้ไม่อาจทนการถูกรัฐทอดทิ้งได้อีกต่อไป!

3 นักแสดงร้อนแรงแห่ง The Dreamers

อีวา กรีน, ไมเคิล พิตต์ และ หลุยส์ การ์เรล …สามนักแสดงหนุ่มสาวผู้กล้าเปิดเปลือยตั้งแต่ร่างกายไปจนถึงจิตวิญญาณ เพื่อสวมบทบาทนักปฏิวัติแห่งยุคสมัยในหนังร้อน!

5 เหตุผลที่ทำให้ The Dreamers คลาสสิกอย่างไม่ธรรมดา

เซ็กส์กล้าหาญ การเมืองร้อนแรง นักแสดง งานภาพ และการเป็น “หลุมหลบภัยของซีเนไฟล์” …ต่อไปนี้คือคำอธิบายว่าทำไมหนังเรื่องนี้จึงน่าจดจำ

สงสัยไหม…เขาถ่ายทำ Free Solo ที่ความสูง 3,200 ฟุตกันยังไง!?

การถ่าย Free Solo เป็นประสบการณ์สติแตกของตากล้อง เพราะไม่แค่ต้องตามถ่ายตลอด 4 ชั่วโมงของการปีนผาอันบ้าบิ่น แต่ยังต้องร่วมเสี่ยงตายเพื่อเก็บภาพให้ได้ทุกมุม!

จริยธรรมในหนังสารคดี: บทบันทึกเสี่ยงตายที่คว้าออสการ์สารคดียอดเยี่ยม!

เป็นไปได้ไหมว่า หากไม่มีการถ่ายทำสารคดีเรื่องนี้ ฮอนโนลด์ก็อาจไม่ตัดสินใจเสี่ยงตายโชว์กล้อง? อาจคือคำถามเชิงจริยธรรมนี้เองที่ทำให้ Free Solo ชนะใจออสการ์!

“ผมไม่ต้องการเล่นหนังที่มีไว้แค่เพื่อให้เราจ้องมองจอด้วยสายตาว่างเปล่า” : เดวิด โบวี่

นอกจากเป็นนักดนตรีร็อคชื่อก้องโลก เดวิด โบวี่ ยังได้รับการจดจำในฐานะนักแสดงหลากบทบาท โดยเฉพาะบททหารอังกฤษจอมขบถใน Merry Christmas Mr. Lawrence

ริวอิจิ ซากาโมโตะ : จากหนังประเดิมงานสกอร์ เลยเถิดต่อจนเป็นพระเอก!

ซากาโมโตะเป็นแฟนหนังตัวยงของ นางิสะ โอชิม่าการได้มาทำเพลงให้คนทำหนังในดวงใจก็ถือว่ายิ่งใหญ่แล้ว แต่การต้องมาเล่นหนังให้ด้วยนี่ นับเป็นเรื่องเกินฝัน!

เหตุผลแห่งความแสบสันแปลกประหลาดของ Merry Christmas, Mr. Lawrence

มีหลายองค์ประกอบที่ทำให้หนังเรื่องนี้เป็นที่ฮือฮาไปทั่วโลก เมื่อมันไม่เพียงเล่าถึงเชลยอังกฤษ แต่ยังเพียบด้วยประเด็นดุเดือดมากมาย

“หนังของผมมันประหลาด และเดวิด โบวี่ยอมมาเล่น เพราะเดวิด โบวี่ก็เป็นคนประหลาด!”

ใครเคยผ่านตาหนังของ นางิสะ โอชิม่า คงเข้าใจว่าเพราะอะไรคำว่า “ประหลาด” จึงคู่ควรกับเขา ไม่แค่วิธีเล่าวิธีกำกับ แต่ประหลาดไปจนถึงวิธีแคสติ้งนักแสดงเลยล่ะ!

10 คำถามกับอานเญส วาร์ดา : ชิงออสการ์แล้วไงยะ? ย่าโนสนโนแคร์

การได้ชิงออสการ์เป็นความฝันของคนทำหนังมากมาย แต่ อานเญส วาร์ดา ไม่คิดงั้นเมื่อได้ยินว่า Faces Places เป็น 1 ใน 5 สารคดีที่มีสิทธิลุ้นออสการ์ประจำปี 2018!

สนทนากับ อานเญส วาร์ดา และ เจอาร์ : ว่าด้วยเบื้องหลัง Faces Places

สองศิลปินที่อายุห่างกันถึง 55 ปี มาเดินทางด้วยกันแล้วสร้างหนังมาสเตอร์พีซอบอุ่นหัวใจที่คนทั้งโลกหลงรักเรื่องนี้ได้อย่างไร?

10 Stories about “JR”

ก่อนมาร่วมงานกับ อานเญส วาร์ดา ใน Faces Places เจอาร์เป็นใครทำอะไรมาก่อน? ขอแนะนำให้คุณรู้จัก 10 เรื่องเบื้องต้นของศิลปินหนุ่มสุดเจ๋งคนนี้