
งานชิ้นนี้ถือเป็นหนังบุกเบิกรูปแบบ “ethnofiction*” ที่ผสมผสานสารคดีกับเรื่องแต่ง ถ่ายทำในเมืองอาบีจาน ประเทศไอวอรีโคสต์ โดยนำเสนอชีวิตของแรงงานอพยพชาวไนเจอร์ที่ย้ายมาหางานทำในย่านแออัดของเมืองหลวง
สิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้แหวกแนวก็คือวิธีการสร้าง ซึ่งรูชใช้เวลา 9 เดือนเข้าไปคลุกคลีกับคนในชุมชน และให้พวกเขา “รับบทเป็นตัวเอง” เพื่อเล่าเรื่องชีวิตของตัวเอง แต่ “ใช้ชื่อของดารา-ตัวละครจากหนังฮอลลีวูด” ที่พวกเขาชื่นชอบ เช่น เอ็ดเวิร์ด จี. โรบินสัน, เอ็ดดี้ คอนสแตนติน, ทาร์ซาน แล้วหนังก็ตามติดไปถ่ายทำชีวิตของพวกเขาเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ ทั้งชีวิตยามกลางวันที่พวกเขาไปแบกกระสอบในท่าเรือด้วยค่าแรงเพียงวันละ 20 ฟรังก์ และชีวิตกลางคืนในบาร์ที่แต่ละคนดื่มเพื่อลืมความทุกข์
ไม่เพียงวิธีเล่าที่ต่างจากสารคดีทั่วไป แต่กระบวนการสร้างก็ต่างด้วย รูชไม่ได้มีไอเดียตายตัวตั้งแต่ต้น เขาใช้วิธีถือกล้อง 16 มม. (ซึ่งมีน้ำหนักเบา) ถ่ายทำไปเรื่อย ๆ และไปในทุกที่ที่ตัวละครไป จนกระทั่งได้ฟุตเทจมากพอจะนำมาสร้างเรื่องราว จากนั้นเขาก็ให้นักแสดงมาบันทึกบทพูดในสตูดิโอที่พิพิธภัณฑ์มนุษย์ในปารีส แล้วนำมาซ้อนทับกับเสียงถนนที่บันทึกมาจากอาบีจาน ทำให้หลาย ๆ ฉากเกิดบรรยากาศคล้ายความฝัน
Moi, un noir ได้รับรางวัล Louis Delluc Prize และได้รับคำชมว่า เป็นตัวอย่างของสารคดีทดลองที่มาจากมุมมองที่ไม่ใช่กระแสหลักและส่งผลเปลี่ยนแปลงวิธีที่ผู้คนมองทั้งสารคดีและเรื่องแต่ง นอกจากนั้นหนังยังส่งอิทธิพลอย่างมากต่อการเกิดขบวนการ French New Wave ของฝรั่งเศส โดยเฉพาะการใช้การตัดต่อแบบ jump cut และใช้นักแสดงสมัครเล่นซึ่งเป็นวิธีที่ต่อมา ฌอง-ลุก โกดาด์ นำไปใช้ในหนังเรื่อง Breathless โดยโกดาด์เองยกย่องว่าหนังเรื่องนี้ “เข้าถึงระดับความจริงที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์”
(*ethnofiction หมายถึง ภาพยนตร์ชาติพันธุ์วิทยากึ่งสารคดีกึ่งบันเทิง [ethnographic docufiction] ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างภาพยนตร์สารคดีและภาพยนตร์บันเทิงในขอบเขตของมานุษยวิทยา วิธีการหลัก ๆ คือการให้คนท้องถิ่นมารับบทเป็นตัวเองในฐานะสมาชิกของกลุ่มชาติพันธุ์หรือกลุ่มสังคมนั้น ๆ และใช้การเล่าเรื่องแบบบันเทิงหรือผสมจินตนาการ)
สารคดีเรื่องนี้เปิดฉากมาในเซ็นทรัลปาร์กโดยชวนให้เราเข้าใจว่า เป็นการบันทึกเหตุการณ์การแคสติ้งหรือการคัดตัวนักแสดงธรรมดา ๆ ของหนังเรื่องหนึ่ง (สมมติว่าหนังเรื่องนั้นชื่อ A) แต่จริง ๆ แล้ว กรีฟส์แอบซ่อนการทดลองอันซับซ้อนไว้ โดยเขาจัดเตรียมทีมถ่ายทำหลายชุด (ทั้งกล้องหลัก กล้องเบื้องหลัง และกล้องแอบถ่าย) แล้วบอกให้แต่ละทีมบันทึกภาพซึ่งกันและกันไว้ให้หมด
นั่นหมายความว่า สิ่งที่เราจะได้เห็นจะไม่ใช่แค่เหตุการณ์การแคสติ้งของหนัง A เท่านั้น แต่ยังเห็นบรรยากาศที่เกิดขึ้นรอบ ๆ การถ่ายทำด้วย โดยเฉพาะเมื่อทีมงานเริ่มรู้สึกอึดอัดกับสไตล์การกำกับของกรีฟส์ที่ดูประหลาด วุ่นวายไร้ทิศทาง และเริ่มตึงเครียดขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดการถกเถียงทะเลาะกันหลังกล้อง (ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ถูกถ่ายไว้โดยอีกทีมงานหนึ่ง) เมื่อภาพทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังปะปนกัน ก็ส่งผลให้เส้นแบ่งระหว่าง “การบันทึกความจริง” และ “การถูกจัดฉาก” พร่าเลือนลง นำมาสู่ประเด็นสำคัญว่าด้วยอำนาจในกองถ่าย การควบคุมทีมงาน ไปจนถึงคำถามใหญ่ที่ว่า “การทำหนังที่แท้จริงคืออะไร”
สารคดีว่าด้วยบาดแผลทางประวัติศาสตร์ที่ถ่ายทำในช่วงการจลาจล ณ ย่านแฮนด์สเวิร์ธและลอนดอนในปี 1985 โดยจุดเด่นอยู่ตรงที่หนังไม่ได้ใช้วิธีรายงานข่าวแบบเดิม ๆ แต่ใช้เทคนิคผสมผสานวัตถุดิบหลากหลาย ทั้งฟุตเทจข่าว ภาพนิ่ง การสัมภาาณ์คนที่เกี่ยวข้องหรือเป็นประจักษ์พยานในเหตุการณ์ และการจัดวางเสียง (ที่หลาย ๆ ครั้งก็ไม่ได้เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับภาพบนจอ) จนทำให้เกิดเรื่องราวที่มีหลายชั้นซ้อนทับกัน เพราะสิ่งที่อาคอมฟราห์ต้องการจะสื่อสารก็คือ เหตุจลาจลครั้งนั้นมีความซับซ้อน มันไม่ได้มีข้อเท็จจริงเพียงหนึ่งเดียว แต่มีความจริงและความคิดเห็นจากหลากหลายมุมมองที่แตกกระจัดกระจายอยู่ เขาจึงประกอบสร้างมันขึ้นเพื่อปิดโอกาสให้ผู้ชมด้วยตนเอง
(*กลุ่ม Black Audio Film Collective ก่อตั้งในปี 1983 เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมภาพยนตร์ของคนผิวดำในวงการหนังและวิดีโอ ผลงานของพวกเขาเน้นท่าทีต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติและเพศ งานหลาย ๆ ชิ้นมีเจตนาตั้งคำถามเรื่องการนำเสนอภาพลักษณ์ของคนผิวดำและคนพลัดถิ่นในสื่อต่าง ๆ)
สารคดีสำรวจบทบาทของผู้หญิงเวียดนามทั้งในประวัติศาสตร์และสังคมร่วมสมัย ผ่านเรื่องเล่าของผู้หญิงจากทั้งเวียดนามเหนือ เวียดนามใต้ และสหรัฐอเมริกา เพื่อนำเสนอประเด็นการกดขี่ในสังคมปิตาธิปไตย (ที่มีความเชื่อว่า “ลูกสาวต้องเชื่อฟังพ่อ ภรรยาต้องเชื่อฟังสามี หญิงม่ายต้องเชื่อฟังลูกชาย”) ชีวิตหลังสงคราม และการปรับตัวของพวกเธอในต่างแดน
ครึ่งแรกของหนังถ่ายทำในโทนขาวดำและเราจะเห็นการสัมภาษณ์ที่ดูเหมือนจริง แต่ต่อมาหนังกลับเปิดเผยว่า จริง ๆ แล้วผู้หญิงที่มาให้สัมภาษณ์นั้นเป็นนักแสดงชาวเวียดนาม-อเมริกัน และบทสัมภาษณ์ก็เป็นข้อความที่แปลมาจากหนังสือ จากนั้นครึ่งหลังของหนังเปลี่ยนเป็นภาพสีและเห็นตัวผู้กำกับมินห์-ฮามาทำการสัมภาษณ์นักแสดงเหล่านั้นเรื่องชีวิตจริงของพวกเธอในฐานะผู้อพยพ นอกจากนั้นหนังยังผสมผสานสื่อหลากรูปแบบ ทั้งการเต้นรำพื้นเมือง บทกวีโบราณ ข้อความที่ปรากฏบนหน้าจอ และใช้การตัดต่อแบบกระจัดกระจาย ไม่ลื่นไหล
มินห์-ฮาใช้วิธีเหล่านี้เพื่อทำให้เราเกิดความรู้สึกแปลกแยกต่อสิ่งที่เห็นและได้ยิน เธอท้าทายให้เราคิดเรื่อง “ความจริงที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อ” และเกิดคำถามต่อท่าทีที่สื่อกระแสหลักในโลกตะวันตกมักใช้ในการนำเสนอ “วัฒนธรรมอื่น” โดยเฉพาะวัฒนธรรมของชาติยุคหลังอาณานิคม
Surname Viet Given Name Nam เป็นหนังได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในวงการหนังและวงวิชาการ ในฐานะสารคดีที่สำรวจประเด็นอัตลักษณ์ เพศสภาพ และการพลัดถิ่นผ่านรูปแบบการทดลองที่หลากหลาย จนถูกนำไปศึกษาในหลักสูตรภาพยนตร์ศึกษาและสตรีศึกษาในมหาวิทยาลัยทั่วโลก
หนังสารคดีที่แฮร์โซ้กถ่ายด้วยฟิล์ม 16 มม. เพื่อนำเสนอความเลวร้ายของสงครามอ่าว แต่ความแหวกแนวกล้าหาญอยู่ตรงที่เขาเล่าโดยไม่อธิบายบริบททางประวัติศาสตร์และการเมืองใด ๆ ของสงครามนั้นเลย แถมยังเลือกเล่ามันผ่านมุมมองของ “ผู้สังเกตการณ์ที่เหมือนมาจากต่างดาว” อีกต่างหาก ภาพที่เราได้เห็นจึงเป็นภาพแปลกประหลาดที่แสดงถึงหายนะของสงคราม โดยเฉพาะภาพน่าสะพรึงกลัวของทุ่งน้ำมันที่ถูกทำลายในคูเวตซึ่งดูแปลกตาและให้ความรู้สึกเหมือนอยู่บนดาวดวงอื่น ประกอบเข้ากับดนตรีคลาสสิกทรงพลังจากวากเนอร์ มาห์เลอร์ และชูเบิร์ต
ทั้งหมดนี้ส่งผลให้สารคดีเปลี่ยนหน้าตา จากการอธิบายข้อเท็จจริงและบริบทเพื่อจะวิพากษ์สงครามแบบตรงไปตรงมา กลายเป็น “การไตร่ตรองเชิงอภิปรัชญา” แทน
Lessons of Darkness คว้ารางวัล Grand Prix จากเทศกาลหนังนานาชาติเมลเบิร์น และ นสพ.ลอสแอนเจลิสไทมส์จัดให้มันเป็น “สารคดีที่น่าจดจำที่สุดแห่งปี 1992” โดยนักวิจารณ์กล่าวว่าวิธีการของแฮร์โซ้กนั้นทำให้เกิดภาพที่ทั้งงดงามและสงบนิ่ง ซึ่งยิ่งทำให้เรารับรู้ความบ้าคลั่งของโลกใบนี้ได้หนักหน่วงยิ่งขึ้น ที่น่าสนใจคือตอนมันไปฉายในเทศกาลหนังเบอร์ลินนั้น มีคนดูลุกขึ้นตะโกนด่าทอที่แฮร์โซ้ก “เปลี่ยนความสยดสยองของสงครามให้กลายเป็นความสวยงาม” ซึ่งแฮร์โซ้กโกรธมากและตอบโต้ว่าคนดูเข้าใจผิด เขายืนยันว่ามีศิลปินระดับโลกมากมายที่ก็เคยใช้วิธีคิดนี้ (คือ ใช้ความงามเพื่อเสียดสีและขับเน้นความโหดร้ายในโลกแห่งความเป็นจริง) เช่น ในงานจิตรกรรมของโกยา เป็นต้น
หนังที่พาเราไปสัมผัสประสบการณ์สุดเข้มข้นของการทำประมงเชิงพาณิชย์นอกชายฝั่งนิวอิงแลนด์เรื่องนี้ สร้างนิยามใหม่ให้กับคำว่า “สารคดี” ด้วยการทดลองแบบสุดขั้ว ทั้งโดยการใช้กล้อง GoPro ขนาดจิ๋วที่ติดอยู่กับตัวชาวประมง, ติดไว้กับอุปกรณ์จับปลา และบางครั้งก็ใช้วิธีโยนกล้องลงทะเลไปเลย เพื่อจับภาพจากมุมมองที่ไม่มีทางเกิดขึ้นได้เด็ดขาดถ้าใช้วิธีถ่ายทำแบบทั่วไป
ผลที่ได้คือแม้หลาย ๆ ฉากจะหวือหวาจนน่าเวียนหัวไปบ้าง แต่มันประสบความสำเร็จในการทำให้เราซึมซับ “ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับท้องทะเล” ได้อย่างเต็มที่ ยิ่งเมื่อหนังใช้การออกแบบเสียงที่ผสมผสานทั้งเสียงใต้น้ำ เสียงเครื่องจักร และเสียงธรรมชาติ ก็ยิ่งทำให้คนดูรู้สึกเหมือนได้ดำดิ่งเข้าไปอยู่ในโลกของชาวประมงเหล่านี้จริง ๆ
Toponymy หรือ “ภูมินามวิทยา” หมายถึงการศึกษาที่มา ความหมาย และการใช้งานของชื่อสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งเพเรลหยิบคำนี้มานำเสนอให้เห็นเป็นภาพ โดยนำกล้องไปบันทึกชื่อของเมือง 4 เมืองในรัฐตูกูมัน ประเทศอาร์เจนตินา แต่ละเมืองตั้งชื่อตามนายทหารที่เสียชีวิต “ในการต่อสู้กับกลุ่มต่อต้านรัฐบาล”
วิธีที่เพเรลใช้นั้นน่าสนใจมาก ๆ เขาจงใจบันทึกและจัดเรียงภาพอย่างเป็นระบบเข้มงวด เราจะเห็นชุดภาพทั้งที่มาจากพิมพ์เขียวเก่า ๆ ของเมือง ภาพถ่ายจากหอจดหมายเหตุ และภาพของเมืองในปัจจุบัน ทั้งหมดเป็นช็อตนิ่ง ๆ ที่ถูกจัดองค์ประกอบภาพเหมือนกันเปี๊ยบ ขณะที่สภาพของป้ายและบ้านเมืองที่เห็นก็แลดูทรุดโทรม และแทบไม่มีคนท้องถิ่นปรากฏตัว มีเพียงเสียงที่ดังมาจากนอกเฟรม ราวกับว่าเฟเรลไปถ่ายทำในเมืองร้างที่มีแต่ผีและวิญญาณ
ทั้งหมดนี้สื่ออะไร? เพเรลต้องการให้เรารับรู้ถึง “การควบคุมของเผด็จการ” แล้วขบคิดว่า อำนาจทางการเมืองนั้นหล่อหลอมพื้นที่กายภาพอย่างไร และสถาปัตยกรรมหรืองานออกแบบต่าง ๆ ที่หลงเหลือมาจากยุคนั้นสามารถเผยให้เห็นการควบคุมทางการเมืองได้อย่างไรบ้าง
สารคดีนำเสนอผลกระทบจากการทำเหมืองถ่านหินของจีนในมองโกเลีย โดยอิงโครงเรื่องหลวม ๆ มาจาก Divine Comedy ของดันเต้ ด้วยการพาเราเดินทางจาก “นรก” (พื้นที่เหมืองสีแดง) ผ่าน “แดนชำระ” (ชุมชนรอบเหมืองสีน้ำเงิน) ไปสู่ “สวรรค์” ซึ่งแท้จริงแล้วกลับเป็นเมืองร้างสีเทามัวหม่น อันเป็นปลายทางน่าเศร้าของเหล็กที่ผลิตจากชีวิตคนงาน
สิ่งที่ทำให้ Behemoth โดดเด่นคือวิธีการเล่าเรื่องที่แหวกจากสารคดีทั่วไป แทนที่จะใช้การสัมภาษณ์หรือบรรยายตรงไปตรงมา หนังเลือกใช้ภาพที่ทรงพลังและสัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่น “คนนำทาง” ที่ถือกระจกสะท้อนภาพคนตายและอดีต และ “คนเล่าเรื่อง” ที่เป็นชายเปลือยหันหลังให้ผู้ชม ตลอดทั้งหนังเราจะได้ยินบทสนทนาแค่ไม่กี่ครั้ง ส่วนใหญ่แล้วเป็นเสียงร้องแหบพร่าเหมือนเพลงชุมชนดั้งเดิมและดนตรีประกอบที่สร้างความหลอนให้แก่บรรยากาศ
หนังเรื่องนี้ถูกแบนในประเทศจีนเพราะวิพากษ์วิจารณ์อุตสาหกรรมเหมืองถ่านหินและรัฐบาล แต่ในเวทีนานาชาติ มันได้รับการยอมรับอย่างงดงาม ทั้งได้เข้าฉายที่เทศกาลหนังเวนิซปี 2015 และได้รับคำชมมากมายในการเสนอภาพที่เหนือจริงเพื่อสะท้อนความจริงอันโหดร้ายของนโยบายพัฒนาชาติจีน ซึ่งทอดทิ้งทั้งสิ่งแวดล้อมและมนุษย์
เราอาจจะจัดสารคดีเรื่องนี้ให้อยู่ในกลุ่มงานนามธรรม หนังทดลอง หรือ “slow cinema” ด้วยก็ได้ หนังถ่ายทำทั้งเรื่องในเวลากลางคืนด้วยกล้องนิ่ง ๆ พาเราไปสู่โลกที่แทบไม่มีมนุษย์ มีเพียงสัตว์ไม่กี่ชนิดอาศัยอยู่ และมีการปรากฏตัวของบางสิ่งที่ไม่อาจนิยามได้ซึ่งมาในรูปของสายลมที่พัดผ่านหุบเขา ทะเลสาบ ป่า ครั้นค่ำคืนคืบคลานเข้ามา ภาพธรรมชาติที่ดูธรรมดาก็ค่อย ๆ พัฒนาไปสู่ความเหนือธรรมชาติ บางช่วงมีการใช้ดิจิทัลสร้างภาพที่ดูก้ำกึ่งระหว่างภาพถ่ายกับภาพวาด ระหว่างความจริงกับฝันร้าย ขณะที่การออกแบบเสียงก็เต็มไปด้วยเสียงลม ฝน และเสียงร้องของสัตว์จากที่ไกล ๆ ทำให้เกิดบรรยากาศแปลกประหลาดที่ทำให้นึกถึงความตายและวันสิ้นโลก
สก็อตต์ บาร์ลีย์ ใช้เวลา 16 เดือนทำหนังเรื่องนี้ด้วยตัวเขาเอง ทั้งเขียนบท กำกับ อำนวยการสร้าง แต่งเพลง ตัดต่อ และที่น่าสนใจคือ หนังไม่มีนักแสดงและบทพูดอะไรทั้งสิ้น เขาถ่ายทำทั้งเรื่องด้วย iPhone 6 ในสก็อตแลนด์และเวลส์บ้านเกิด ภาพนิ่งกับภาพวาดที่อยู่ในหนังนั้นก็เป็นฝีมือของเขาเอง โดยส่วนที่น่าตื่นตาตื่นใจมากที่สุด (หรืออาจจะชวนหลับสำหรับบางคน) ก็คือ ช็อตภาพพระอาทิตย์ตก…ซึ่งยาวถึง 11 นาที
ฟังดูก็เดาได้ว่าหนังเรื่องนี้ต้องมีกลุ่มผู้ชมเฉพาะมาก ๆ แน่นอน แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ได้รับการยกย่องอย่างท่วมท้น นักวิจารณ์หลายคนชื่นชมวิธีที่บาร์ลีย์สร้างภาพน่าทึ่งด้วยการกลับไปสู่พื้นฐานของภาพยนตร์ (คือการถ่ายทำโลกธรรมชาติ แต่ทำให้มันกลายเป็นนามธรรม) หนังได้เข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ภาพยนตร์เรื่องแรกยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยมของ The Village Voice, Far Out จัดให้มันอยู่ในอันดับ 4 ของลิสต์ “10 หนังที่ดีที่สุดที่ถ่ายด้วยโทรศัพท์มือถือ” และ นิโคล เบเนซ นักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์เรียกมันว่า “หนึ่งในหนังที่ดีที่สุดของทศวรรษนี้”
โครงการพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านภาพยนตร์สารคดี
ได้รับการส่งเสริมจาก กองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม
Documentary Club is a group of film lovers dedicated to creating diverse spaces in Thailand for alternative films, especially documentaries. We do this by distributing films through various channels, organizing film screenings, hosting film festivals, and arranging discussion forums, in collaboration with partners from both the film industry and social sectors across the country.
Movies Matter Co.,Ltd.
Bangkok, Thailand