ตอนที่ 10 : รู้จักเทรนด์ใหม่ของสารคดี – Interactive / Immersive / Algorithmic

ลองจินตนาการว่า เรายกแว่น VR ขึ้นสวม และแล้วทันใดนั้น เราก็โผล่ไปยืนอยู่กลางค่ายผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย แถมเมื่อหันมองไปรอบๆ สิ่งที่เราเห็นก็ไม่ใช่แค่นักแสดงบนจอ แต่เรากลับรู้สึกว่าเราไปยืนอยู่ข้าง ๆ ซิดรา เด็กหญิงชาวซีเรียวัย 12 ปีที่กำลังใช้ชีวิตประจำวันในค่ายซาทารี ประเทศจอร์แดน 

บัดนี้เราไม่ได้เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ชีวิตของเธอแล้ว แต่เรากำลังหลุดเข้าไปกลายเป็นส่วนหนึ่งในโลกของเธอ!

‘ความสมจริงที่พ้นจากขอบจอ’ แบบนี้แหละคือสิ่งที่เกิดขึ้นในสารคดีความยาว 8 นาทีเรื่อง Clouds Over Sidra (2015) หนึ่งในผลงานบุกเบิกของเทรนด์การสำรวจเรื่องราวใหม่ด้วยเครื่องมือชนิดใหม่ ๆ  และการทำลายช่องว่างระหว่าง ‘จอหนัง’ กับ ‘คนดู’ วิธีเหล่านี้กำลังถูกจับตาในฐานะการปฏิวัติภาษาของการเล่าเรื่องครั้งใหญ่  จึงไม่แปลกที่เทศกาลหนังสารคดีนานาชาติชั้นนำหลายแห่งในโลกจะหันมาให้ความสำคัญกับงานเหล่านี้อย่างจริงจังขึ้นเรื่อย ๆ

ในบทความนี้ เราจะชวนให้คุณมาทำความรู้จักสารคดีที่มุ่งสร้าง ‘ความสมจริงที่พ้นจากขอบจอ’ 3 กลุ่ม ได้แก่ สารคดีแบบมีส่วนร่วม/สารคดีเชิงโต้ตอบ (Interactive Documentaries), สารคดีเสมือนจริง (Immersive Documentaries) และสารคดีเชิงอัลกอริทึม (Algorithmic Documentaries)

1. สารคดีแบบมีส่วนร่วม (Interactive Documentaries) : การเล่าเรื่องที่คนดูได้มีบทบาท

สารคดีแบบนี้จะให้ความสำคัญกับการเลือกและการมีส่วนร่วมของเรา โดยตัวหนังมักจะผสมผสานสื่อหลายรูปแบบเข้าด้วยกัน ทั้งข้อความ วิดีโอ เสียง ภาพกราฟิก ฯลฯ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่มีหลากหลายชั้น แล้วเปิดให้คนดูได้สำรวจและเลือกเส้นเรื่องเอง

ตัวอย่างเช่น Bear 71 (2012) เป็นสารคดีที่สร้างโดยคณะกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติแคนาดา (NFB) ติดตามหมีกริซลี่ตัวเมียในอุทยานแห่งชาติผ่านภาพจากกล้องวงจรปิด ข้อมูลจากระบบติดตาม GPS และการบรรยาย (จากมุมมองของหมี) เราจะไม่ได้อยู่ในสถานะคนดูเฉย ๆ แต่จะกลายเป็น ‘ผู้ติดตาม’ ที่ได้เห็นการเคลื่อนไหวของหมีขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด สารคดีเรื่องนี้ใช้วิธีนี้เพื่อให้เราได้เข้าไปรับรู้ความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างป่า เทคโนโลยี และการรุกล้ำของมนุษย์ได้ด้วยตัวเอง แทนที่จะใช้วิธีป้อนข้อมูลตรง ๆ แบบวิธีเล่าเรื่องทั่วไป

2. สารคดีเสมือนจริง (Immersive Documentaries) : การเล่าเรื่องที่คนดูได้กระโดดเข้าไปดื่มด่ำ

เป็นการใช้เทคโนโลยีที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกเหมือนได้เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์จริง และทำให้เราสำรวจเรื่องราวในแบบที่เป็นส่วนตัวและสัมผัสได้มากยิ่งขึ้น เทคโนโลยีที่สร้างประสบการณ์เสมือนจริงดังกล่าวมีคำเรียกรวม ๆ ว่า XR (Extended Reality – เทคโนโลยีความจริงขยาย) ซึ่งประกอบด้วยเทคโนโลยี 3 ประเภทด้วยกัน ได้แก่

2.1 VR (Virtual Reality – เทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน)

จะเป็นการสร้างโลกจำลองขึ้นมาใหม่ทั้งหมดเป็นดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบและสมจริง เมื่อเราสวมอุปกรณ์อย่างแว่น VR ก็จะเหมือนหลุดเข้าไปอยู่ในโลกใบนั้นทันที ทำให้ได้รับประสบการณ์ที่ดื่มด่ำ (immersive) อย่างเต็มที่

ตัวอย่างเช่น The Enemy (2017) ผลงานของ คาริม เบน เคลิฟา ที่พาผู้ชมไปพบกับทหารจากแต่ละฝั่งของความขัดแย้ง ทั้งในอิสราเอล-ปาเลสไตน์, คองโก และเอลซัลวาดอร์ นี่เป็นกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจมาก เพราะขณะที่ในสารคดีสงครามทั่วไปนั้น เราจะเป็นได้แค่ผู้สังเกตการณ์จากระยะไกล แต่งานชิ้นนี้สามารถพาเราเข้าไปคลุกคลีกับทหารทั้งสองฝ่ายอย่างใกล้ชิดเพื่อฟังประสบการณ์ ความคิด ความหวังของคนที่ถูกเรียกโดยอีกฝั่งว่า ‘ศัตรู’ มันทำให้เรายิ่งซึมซับความหมายของวลี ‘ความเป็นมนุษย์ย่อมอยู่เหนือความขัดแย้ง’ ได้อย่างชัดเจน

Notes on Blindness: Into Darkness (2016) สารคดีที่สร้างจากบันทึกเสียงของ จอห์น ฮัลล์ นักเทววิทยาผู้สูญเสียการมองเห็น มีการออกแบบเสียงกับภาพแล้วนำเทคโนโลยี VR เข้ามาถ่ายทอด ‘ประสบการณ์การใช้ชีวิตอยู่กับความมืดบอด’ ผ่านประสาทสัมผัสหลากหลายของฮัลล์ ทำให้ผู้ชมเเข้าใจผู้พิการทางสายตาได้ลึกซึ้งขึ้น

ข้างล่างนี้เป็นเทรลเลอร์ของ From the Main Square (2022) กำกับโดย ปาโบล อาร์เรส ชนะรางวัล Grand Prix Venice Immersive จากเทศกาลหนังเวนิส ใช้เทคโนโลยีภาพเคลื่อนไหวแบบ 360 องศามาทำให้เราเห็นสภาพแวดล้อมรอบตัว ความวุ่นวาย และการเปลี่ยนแปลงของเมือง เพื่อจะตั้งคำถามเกี่ยวกับแนวคิดประชาธิปไตยในสังคมสมัยใหม่

2.2 AR (Augmented Reality – เทคโนโลยีความเป็นจริงเสริม)

AR ต่างจาก VR ตรงที่ไม่ได้พาเราเข้าไปในโลกใหม่ทั้งหมด แต่เป็นการ ‘เสริม’ หรือ ‘ซ้อนทับ’ ข้อมูลดิจิทัล วัตถุเสมือน หรือกราฟิกต่าง ๆ ลงบนโลกแห่งความเป็นจริง ดังนั้นเราจะยังมองเห็นสภาพแวดล้อมจริงรอบตัว แต่จะมีองค์ประกอบดิจิทัลปรากฏขึ้นมาผสมผสานอยู่ด้วย เช่น การใช้แอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนเพื่อส่องดูวัตถุเสมือนในห้อง หรือการใช้แว่น AR ที่แสดงข้อมูลดิจิทัลบนกระจกเลนส์

Colored (2023) เป็นผลงานจากไต้หวัน-ฝรั่งเศสที่คว้ารางวัล Best Immersive Work จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ปี 2024 สร้างโดย Stéphane Foenkinos และ Pierre-Alain Giraud จากบทความของ Tania de Montaigne เรื่องราวพาผู้ชมไปยังภาคใต้ของสหรัฐอเมริกาในช่วงที่มีการแบ่งแยกสีผิว เพื่อติดตาม คลอเด็ตต์ โคลวิน เด็กสาววัย 15 ปี ผู้ซึ่งปฏิเสธการลุกจากที่นั่งให้ผู้โดยสารผิวขาวบนรถเมล์ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 1955 (ก่อนที่ โรซา ปาร์กส์ จะทำสิ่งเดียวกันนี้ในอีก 9 เดือนต่อมาและกลายเป็นคนที่ประวัติศาสตร์จดจำ)

2.3 MR (Mixed Reality – เทคโนโลยีความเป็นจริงผสม)

MR เป็นการผสมผสานระหว่าง VR และ AR ที่ก้าวหน้าไปอีกขั้น ทำให้วัตถุดิจิทัลไม่ได้แค่ซ้อนทับอยู่บนโลกจริงเท่านั้น แต่ยังสามารถโต้ตอบและมีปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมที่มีอยู่จริงนั้นได้ด้วย ดังนั้นเราจะไม่แค่เห็นวัตถุดิจิทัลปรากฏในโลกจริง แต่ยังสามารถเคลื่อนย้ายหรือจับต้องมันได้ ราวกับว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของโลกจริง ๆ

3. สารคดีเชิงอัลกอริทึม (Algorithmic Documentaries) : การเล่าเรื่องที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและเปลี่ยนแปลงได้

สารคดีทั้งแบบปกติและแบบใหม่ ๆ สองประเภทข้างต้น จะมีเรื่องราวก้อนหนึ่งที่ถูกกำหนดไว้แล้วล่วงหน้า เพียงแต่มันนำเสนอวิธีการต่าง ๆ ให้เราได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับเรื่องราวนั้น แต่สารคดีเชิงอัลกอริทึมนี้จะล้ำไปอีกขั้น เพราะมันนำปัญญาประดิษฐ์ (AI), การเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) และการโต้ตอบของเรา มาใช้ปรับเปลี่ยนเรื่องราวให้พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อย ๆ ตลอดเวลาแบบเรียลไทม์

ตัวอย่างเช่น CLOUDS (2014) ผลงานของ เจมส์ จอร์จ และ โจนาธาน มินาร์ด ที่พาเราไปสำรวจมุมมองต่าง ๆ เกี่ยวกับโลกของโค้ดคอมพิวเตอร์และวัฒนธรรม โดยคนที่ปรากฏตัวในเรื่องเป็นกลุ่มคนหลากหลายรุ่นกว่า 40 คน ทั้งศิลปิน นักออกแบบ แฮกเกอร์ และนักคิด ซึ่งมาเล่าถึงความท้าทายในการสร้างรูปแบบวิธีการแสดงออกใหม่ ๆ ที่จะสามารถเชื่อมโยงกับผู้คนได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

ความพิเศษของสารคดีอยู่ตรงที่มันใช้ระบบอัจฉริยะที่เรียกว่า ‘กลไกเล่าเรื่อง’ (story engine) หรืออัลกอริทึมที่คอยเลือกและเชื่อมต่อบทสนทนาตามข้อมูลที่มันได้รับจากการโต้ตอบของเรา ทำให้ทุกครั้งที่ดู เราจะได้เห็นบทสนทนาที่ไม่ซ้ำกันเลย

(คลิปข้างล่างนี้เป็นคำอธิบายตัวงาน โดย โจนาธาน มินาร์ด)

โครงการพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านภาพยนตร์สารคดี

ได้รับการส่งเสริมจาก กองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม

documentary 101