ตอนที่ 11 : “คนญี่ปุ่นยังโกรธไม่พอ!” รู้จักสารคดีแห่งการยั่วยุของ คาซึโอะ ฮาระ จอมขบถแห่งวงการหนังญี่ปุ่น

คาซึโอะ ฮาระ (Kazuo Hara) เป็นชื่อที่มักจะถูกเอ่ยถึงทั้งด้วยความเคารพและความสะพรึงไปพร้อม ๆ กัน คนทำหนังวัย 78 ปีผู้นี้เกิดขึ้นในโลกพร้อมกับการแพ้สงครามของญี่ปุ่นเมื่อปี 1945, เติบโตมากับความหมายใหม่ของคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ และใช้ชีวิตกว่าห้าทศวรรษในการสร้างสรรค์ผลงานสารคดีที่ตบตีกับระบบและตะโกนเรียกร้องให้คนญี่ปุ่นกล้าแสดงความรู้สึกโกรธแค้นต่อความอยุติธรรมในสังคมให้มากกว่าที่เป็นอยู่

คนทำสารคดีชาวอเมริกันชื่อดังอย่าง เออร์รอล มอร์ริส เคยเรียกฮาระว่า ‘อัจฉริยะของวงการสารคดีที่ยังไม่ถูกค้นพบ’, มาร์ติน สกอร์เซซี ดูหนังของเขาแล้วบอกว่า “ไม่มีใครเคยเห็นหนังแบบนี้มาก่อน” ส่วน ไมเคิล มัวร์ ถึงกับเรียกเขาว่า ‘พี่น้องทางจิตวิญญาณ’ หลังจากช็อกที่ได้เห็นฮาระใช้วิธีรุกไล่ซับเจ็กต์ในหนังหนักหนายิ่งกว่าที่ตัวเขาทำเป็นสิบเท่า …แต่สำหรับฮาระเอง เขามองตัวเองเป็นเพียงมนุษย์ขี้กลัวคนหนึ่งที่พยายามต่อสู้กับความอ่อนแอของตนและสังคมโดยใช้กล้องเป็นเครื่องมือเท่านั้น

เริ่มต้นบนความทุกข์ยากของชีวิต

คงไม่ผิดถ้าเราจะบอกว่า เหตุผลที่ฮาระชอบถ่ายทอดเรื่องราวของคนยากลำบากด้วยวิธีอันไม่ประนีประนอม ก็เพราะชีวิตของเขาเองเริ่มต้นด้วยความทุกข์ยากอย่างที่สุดเช่นกัน เขาเกิดในหลุมหลบภัยระหว่างที่เครื่องบิน B-29 กำลังถล่มระเบิดใส่ญี่ปุ่นในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่สอง แม่ของเขาเป็นเมียน้อยของพระที่ทิ้งเธอไปทันทีเมื่อรู้ว่าเธอท้อง ตอนเขาเกิด ป้าของเขาเกือบจะฆ่าเขาทิ้งโดยการบิดจมูกให้หยุดหายใจ โดยบอกเหตุผลต่อแม่ของเขาว่า “เธอจะเลี้ยงเด็กคนนี้โดยไม่มีผู้ชายช่วยได้ยังไง เธอจะอยู่รอดได้ยังไง”

“แม่ผมก็เริ่มจะลังเลอยู่เหมือนกัน” ฮาระเคยเล่าไว้ “แต่พอป้าพยายามจะฆ่าผมจริง ๆ แม่ผมก็ตะโกนว่า ‘หยุด!’ …และด้วยปาฏิหาริย์นั้น ผมจึงยังมีชีวิตอยู่”

เพื่อความอยู่รอด แม่ของเขาต้องแต่งงานอีกหลายครั้ง สามีคนหนึ่งเป็นคนงานเหมืองที่ต่อมาตายจากอุบัติเหตุ อีกคนนิยมใช้ความรุนแรงจนเธอต้องหย่าและสุดท้ายก็ต้องส่งลูกสองคนไปให้คนอื่นเลี้ยง ประสบการณ์เหล่านี้เองที่หล่อหลอมมุมมองของฮาระต่อโลก “เมื่อผมมองสังคม จะเห็นคนจำนวนหนึ่งที่มีอำนาจอยู่ด้านบนสุด ทั้งอำนาจในด้านตำแหน่งและอำนาจทางเศรษฐกิจ, มีคนชั้นกลางที่แบ่งแยกกันด้วยความแตกต่างบางอย่างในหมู่พวกเขา และที่ด้านล่างสุดนั้นมีกลุ่มคนที่อ่อนแอที่สุดและมีอำนาจน้อยที่สุด ซึ่งผมก็มักจะเป็นส่วนหนึ่งของชั้นล่างสุดนี้เสมอ”

ทำหนังด้วยพลังต่อต้าน

ฮาระเริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นช่างภาพ ก่อนจะเดินเข้าสู่เส้นทางคนทำหนังในช่วงปลายทศวรรษ 1960 อันเป็นยุคเฟื่องฟูของขบวนการประท้วงของนักศึกษาญี่ปุ่น (เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในยุโรปและอเมริกา) มีการรวมพลังเรียกร้องสิ่งใหม่ ๆ ตั้งแต่ในแวดวงการเมืองไปจนถึงวงการศิลปะ หนังญี่ปุ่นเกิดยุคนิวเวฟที่นำโดย นางิสะ โอชิม่า ผู้กำกับหนังดังอย่าง Cruel Story of Youth (1960 – ถือเป็นหนึ่งในงานชิ้นแรก ๆ ของขบวนการ), Death By Hanging (1968), In the Realm of the Senses (1976); คาเนโตะ ชินโดะ ผู้บุกเบิกวิธีการทำหนังอิสระทุนต่ำ เจ้าของหนังเรื่อง Children of Hiroshima (1952), The Naked Island (1960), Onibaba (1964) และ ชินสุเกะ โอกาวะ ผู้สร้างแนวทางการทำสารคดีแบบเข้าไปคลุกคลีมีส่วนร่วมกับชุมชน และเป็นเจ้าของงานทรงอิทธิพลอย่างสารคดีชุด Sanrizuka และ Narita ซึ่งว่าด้วยการลุกฮือขึ้นสู้ของชาวบ้านในหมู่บ้านซันริซึกะเมื่อรัฐบาลต้องการเวนคืนที่ดินของพวกเขาไปสร้างสนามบินนาริตะ

ในจำนวนนี้ ฮาระได้แรงบันดาลใจจากโอกาวะมากกว่าใคร เขาเคยเกือบตัดสินใจเข้าทำงานกับโอกาวะโปรดักชันส์ด้วย แต่เปลี่ยนใจในนาทีสุดท้าย แล้วเลือกจะหันมากรุยทางใหม่ร่วมกับ ซาจิโกะ โคบายาชิ คู่ชีวิตและโปรดิวเซอร์ที่ทำงานกับเขาต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงทุกวันนี้

โคบายาชิเคยเล่าไว้ว่า ในญี่ปุ่นช่วงที่เธอกับฮาระเริ่มสนใจการทำหนังนั้น มหาวิทยาลัยรัฐยังไม่มีหลักสูตรสอนภาพยนตร์เลย ส่วนสถาบันที่มีก็แพงมากจนเข้าไม่ถึง เธอจึงเลือกไปโรงเรียนการเขียนบทของ คาเนโตะ ชินโดะ แทน เพราะค่าเล่าเรียนถูก แถมยังมีคนทำหนังหัวก้าวหน้าเวียนกันมาสอน โดยสิ่งสำคัญที่ทั้งคู่ได้เรียนรู้ก็คือแนวคิดที่ว่า “จงโยนบททิ้งไป แล้วออกไปข้างนอก ออกไปใช้ร่างกายของเธอ” เพื่อเผชิญ เปิดรับ และปะทะกับสิ่งต่าง ๆ ในโลกแห่งความเป็นจริง

Sanrizuka – The Skies of May, the Road to the Village (1977, ชินสุเกะ โอกาวะ)

กำเนิด Action Documentary และสารคดีที่มีกล้องเป็นอาวุธ

แม้ฮาระจะศรัทธาโอกาวะมาก แต่เขาก็ต้องการก้าวข้ามสิ่งที่คนรุ่นก่อนหน้าบรรลุไปแล้ว เขาจึงเมินวิธีทำสารคดีแบบมีส่วนร่วม (ด้วยการนำตัวเองเข้าไปใช้ชีวิตใกล้ชิดซับเจ็กต์) แบบที่โอกาวะถนัด แล้วพัฒนาแนวทางของตัวเองขึ้นโดยเรียกมันว่า Action Documentary

“ผมชอบหนังแอ็กชั่น ผมเลยทำสารคดีด้วยความคิดว่าผมจะเริ่มต้นด้วยการกระตุ้นให้สิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้น ผมจะยั่วยุคนในหนัง และคนคนนั้นก็จะรับเอาคำพูดของผมผ่านเข้าไปในร่างกายของพวกเขาแล้วลงมือทำ ผมเชื่อว่าการใช้ร่างกายลงมือทำหมายถึงการที่คุณจะได้เห็นสิ่งซึ่งไม่สามารถจะเห็นได้ด้วยวิธีอื่น และการมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ก็ย่อมจะดีกว่าการไม่เห็น

“ไม่เพียงเท่านั้น ตัวผมเองก็ต้องการเป็นฝ่ายถูกยั่วยุด้วย ผมต้องการถูกกระตุ้น ผมอยากจะใช้ร่างกายของผมลงมือทำด้วยเช่นกัน ดังนั้น หนังของผมจึงไม่ใช่หนังแอ็กชั่น แต่ตัวมันเองนั่นแหละคือแอ็กชั่น เราต้องการเห็นสิ่งที่ถูกเปิดเผยเมื่อกล้องลงมือทำ หนังของเราไม่ได้พูดถึง ‘การกระทำ’ (action) แต่การทำหนังของเราคือการกระทำในตัวของมันเอง”

หรืออธิบายให้ง่ายกว่านั้นได้ว่า สำหรับฮาระแล้ว การทำหนังสารคดีไม่ใช่แค่การถือกล้องออกไปบันทึกความเป็นจริง แต่คือการใช้กล้องพาตัวเองบุกทะลวงเข้าสู่ชีวิตและพื้นที่ส่วนตัวของซับเจ็กต์อย่างเต็มที่ รวมทั้งต้องใช้วิธีกระตุ้นยั่วยุให้บุคคลเหล่านั้นเปิดเผยตัวเองอย่างซื่อสัตย์ โดยเขายังเรียกแนวคิดนี้ด้วยศัพท์อีกคำหนึ่งคือ Camera Obtrusa หรือ ‘กล้องผู้บุกรุก’ (ซึ่งเขาใช้เป็นชื่อหนังสือของเขาด้วย)

“คุณไม่สามารถถ่ายทำด้วยกล้องโดยไม่บุกรุกเข้าไปในชีวิตของใครสักคนได้หรอก” เขาอธิบาย “คนที่ถูกเลือกให้เป็นคนในสารคดีนั้นต้องตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่ามีกล้องอยู่ใกล้ ๆ ตลอดเวลาอยู่แล้ว เขาต้องรู้ด้วยว่าใครอยู่หลังกล้อง ดังนั้นถ้าเราต่างรู้และยอมรับการเคลื่อนไหวของกันและกัน มันจะเกิด ‘ผลลัพธ์แบบละคร’ ขึ้น ซึ่งไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเลย มันคือความก้าวหน้า (ในการนำเสนอความเป็นจริง) ต่างหาก”

อำนาจของผู้กำกับ อำนาจของคนเล่าเรื่อง

แนวคิดคลาสสิกที่ว่าคนทำสารคดีต้อง ‘มีความเป็นกลาง’ ก็เป็นอีกสิ่งที่ฮาระไม่เห็นด้วยแม้แต่น้อย เขาได้เรียนรู้จากรุ่นพี่อย่างโอกาวะว่า เพียงแค่ถือกล้องออกไปอยู่หน้าชาวบ้านที่กำลังต่อสู้แล้วต้องตัดสินใจว่าจะถ่ายชีวิตใครจากมุมไหน หน้าที่ของการ ‘กำกับ’ และ ‘เลือกข้าง’ ก็เริ่มต้นขึ้นแล้ว

“เราต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองว่า เราอยากมีมุมมองแบบไหน เมื่อได้คำตอบแล้วจึงเริ่มกระบวนการสร้างสรรค์ได้ สำหรับผม ผมเลือกมุมมองที่สอดคล้องกับการต่อสู้กับอำนาจเสมอ ผมต้องการทำหนังเพื่อผู้ที่ถูกมองว่าไม่มีทางสู้ ผู้ที่ยืนหยัดต่อต้านรัฐบาล ผู้ที่เรียกร้องเสรีภาพและสิทธิ์ในการใช้มัน …เมื่อคุณยืนเคียงข้างผู้ถูกกดขี่ การเปิดเผยสาระสำคัญของสิ่งต่าง ๆ จึงจะเป็นไปได้”

ในหนังของฮาระ เราจะได้เห็นซับเจ็กต์เปิดเปลือยความคิดของตนจนบางครั้งถึงระดับน่าตกใจ เมื่อถามว่าเขากับทีมงานใช้วิธีการอะไรจึงได้รับความไว้ใจจากคนในหนังขนาดนี้ เขาตอบว่าไม่มีเทคนิคพิเศษใด ๆ เลย …เขาก็แค่ ‘ฟัง’

“ผมชอบฟังเรื่องราวของคนอื่น ผมอยากฟังว่าพวกเขาใช้ชีวิตอย่างไร ทุกครั้งที่ผมทำหนัง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการจับอารมณ์ความรู้สึกของคนเหล่านั้นให้ได้ แล้วนำเสนอให้ลึกซึ้งและจริงใจที่สุด โดยวางตัวเป็นหุ้นส่วนกับพวกเขา ให้พวกเขาเปิดใจ ซึ่งมันไม่ได้มีเทคนิคอะไรหรอก เราก็แค่เข้าไปหาคนที่เราอยากทำหนังเกี่ยวกับเขา แล้วบอกว่า ‘เฮ้ เราอยากทำหนังเรื่องคุณ อยากให้คุณแบ่งปันความรู้สึกให้เราฟัง’ การที่เราเสนออย่างจริงใจและตรงไปตรงมาแบบนี้ทำให้พวกเขาแสดงความรู้สึกออกมา เช่น คนที่กำลังป่วยหนัก เราจะถามว่า ‘คุณทุกข์ทรมานแค่ไหน เล่าให้เราฟังหน่อย หรือถ้าคุณมีชีวิตยาวนานและมีประสบการณ์มากมาย มันเป็นอย่างไรบ้าง ประสบการณ์เหล่านั้นสนุกแค่ไหน’ ก็คือถามด้วยความจริงใจให้คนเปิดใจแบ่งปันประสบการณ์และความรู้สึก”

อย่างไรก็ตาม สารคดีของฮาระไม่ได้หยุดอยู่แค่การรับฟัง แต่ความที่เขานิยมใช้แนวทางปะทะยั่วยุ หลายครั้งตัวเขากับซับเจ็กต์ก็อาจถลำลึกถึงขั้นขัดแย้งกันเอง และแย่งชิงอำนาจของการเป็นผู้เล่าเรื่องกันด้วย สถานการณ์เช่นนี้แหละที่ทำให้หนังของเขาเต็มไปด้วยอาการ ‘เอาแน่เอานอนไม่ได้’ เราคนดูจะคาดเดาไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพราะบ่อยครั้งที่จู่ ๆ ผู้กำกับก็โดนซับเจ็กต์คุกตามจนไปต่อไม่ถูกและทำให้เรื่องราวยิ่งดู ‘สด’ จนน่าตื่นเต้น

มันไม่ได้มีเทคนิคอะไรหรอก เราก็แค่เข้าไปหาคนที่เราอยากทำหนังเกี่ยวกับเขา แล้วบอกว่า ‘เฮ้ เราอยากทำหนังเรื่องคุณ อยากให้คุณแบ่งปันความรู้สึกให้เราฟัง’ การที่เราเสนออย่างจริงใจและตรงไปตรงมาแบบนี้ทำให้พวกเขาแสดงความรู้สึกออกมา

เรื่องเล่าของมนุษย์ผู้เสื่อมทรามและอ่อนแอ

นักวิจารณ์ มาร์คัส นอร์เนส เขียนไว้ในบทความ Kazuo Hara’s Dedicated Lives ว่า ฮาระนั้นเหมือนมีสองร่างในตัวคนเดียวกัน ซึ่งก็สอดคล้องพอดีกับที่ฮาระเองเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า แนวคิดในการทำหนังของเขาได้อิทธิพลมาจากบุคคลสำคัญสองคน

คนแรกคือ โชเฮ อิมามุระ ผู้กำกับรุ่นครูผู้เสนอแนวคิดว่า ภาพยนตร์ควรจะเล่าเรื่องมนุษย์ซึ่งมีความทั้งขี้ขลาด ลามก ตระหนี่ ไร้ศีลธรรม อันล้วนเป็นคุณสมบัติที่น่าสนใจ นอร์เนสมองว่าหนังยุคแรกของฮาระคือ Goodbye CP (1972), Extreme Private Eros: Love Song 1974 (1974), The Emperor’s Naked Army Marches On (1987) และ A Dedicated Life (1994) มีลักษณะแบบที่ว่านี้ เพราะทุกเรื่องล้วนมีตัวละครหลักประเภทหัวรุนแรง สุดโต่ง เร้าใจ มีพลังแข็งแกร่งในการต่อสู้กับอะไรบางอย่างชนิดไม่ลดละ

เหตุผลที่ทำให้หนังกลุ่มนี้จบลงที่เรื่อง A Dedicated Life ก็เพราะฮาระพบว่าเขาไม่สามารถค้นหา ‘คนแข็งแกร่ง’ แบบซับเจ็กต์เหล่านั้นได้อีกต่อไปแล้ว “ผมตามหาอยู่เป็นสิบปีหลังจากทำ The Emperor’s Naked Army Marches On แต่ต้องพบความสิ้นหวังและคิดว่าอาชีพทำหนังของผมคงต้องจบลงแค่นี้ แล้วต่อมาผมก็ตระหนักว่ามันเป็นเพราะยุคสมัยของญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงไป จากโชวะ มาสู่เฮเซ มาสู่เรวะ มาถึงตอนนี้ สังคมเรามีความอดทนน้อยลงต่อคนประเภทหัวรุนแรงที่ชอบท้าทายขนบ ในที่สุดผมจึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องเปลี่ยนมาตรฐานในการเลือกซับเจ็กต์ของหนังเสียใหม่”

ไม่เพียงเท่านั้น ฮาระยังรู้สึกผิดหวังในตัวคนทำสารคดีรุ่นใหม่ ๆ ที่ทำแต่ ‘หนังส่วนตัว’ โดยปราศจากความลึกซึ้งทางสังคมหรือการเมือง จึงเป็นช่วงนี้เองที่เขาได้รับอิทธิพลทางความคิดจากคนทำหนังสำคัญอีกคนหนึ่งคือ คิริโอะ อุรายามะ (ผู้กำกับ Foundry Town ปี 1962, Bad Girl ปี 1963) ซึ่งเชื่อ ภาพยนตร์นั้นควรสร้างขึ้นเพื่อประชาชน เพื่อลูกหลานชนชั้นกรรมาชีพ เพื่อคนที่อ่อนแอ คนที่ถูกกดขี่ ไม่ใช่สร้างเพื่อรับใช้หรือโฆษณาให้แก่ผู้มีอำนาจ

จากจุดนี้ หนังของฮาระจึงเปลี่ยนจากการเล่าเรื่องซับเจ็กต์คนเดียวที่น่าสนใจอย่างรุนแรง มาเป็นเรื่องราวของ ‘กลุ่มคนธรรมดา’ ที่ต่อสู้กับความอยุติธรรม และพร้อมกันนั้นเขาก็เริ่มต้นสไตล์การทำหนังแบบกลุ่มด้วยการก่อตั้งเวิร์กช็อป Cinema Juku ขึ้นในปี 1999 เพื่อสอนวิชาทำหนังให้แก่คนรุ่นใหม่ อันจะกลายเป็นเพื่อนร่วมงานของเขาต่อไปในอนาคต

The Emperor’s Naked Army Marches On (1987)

“คนญี่ปุ่นจงโกรธซะที!

หนังทุกเรื่องของฮาระเป็นการส่งสารเรียกร้องให้คนญี่ปุ่นลุกขึ้นแสดงความโกรธแค้นต่อความอยุติธรรมเสียที เขาเชื่อว่าเพื่อนร่วมชาติของเขานั้นสูญเสียความสามารถในการต่อต้านไปแล้ว

“ผมเกิดในปี 1945 พอดีกับที่ระบบทุนนิยมหลังสงครามเริ่มเข้ามาในญี่ปุ่น ในแง่หนึ่ง ขณะที่ทุนนิยมพัฒนาในญี่ปุ่น ผมก็โตขึ้น ขณะที่ผมโตขึ้น ผมรู้สึกว่าระบบทุนนิยมนี้จะแข็งแกร่งเกินไปไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องการกดขี่มนุษย์ในฐานะปัจเจก คนญี่ปุ่นในยุคที่ผมยังเด็กนั้นตระหนักว่าพวกเขาต้องแสดงพลังของตัวเองออกมา ไม่งั้นมันจะถูกผู้มีอำนาจกวาดล้างไป แต่ปัจจุบันผมคิดว่าพลังเหล่านี้ถูกทำให้อ่อนแอลงทุกที ผมโมโหมากกับคนที่ไม่แสดงออก ไม่พูดเรื่องปัญหาสังคม สิ่งที่ผมพูดในหนังจึงมักจะคือ ‘คุณสู้ก็จริง แต่คุณต้องทำมากกว่านี้ …เฮ้! คนญี่ปุ่น โกรธซะทีสิ!”

เขายกตัวอย่างเหตุการณ์หายนะ 3 ครั้งในโทโฮกุ ปี 2011 (เริ่มจากแผ่นดินไหวกับคลื่นสึนามิ แล้วตามด้วยภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะ) ซึ่งประชาชนผู้ได้รับความเสียหายพากันเข้าแถวรอรับอาหารปันส่วนอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย อันเป็นภาพที่ได้รับคำชื่นชมมากมายจากคนต่างชาติ แต่สำหรับฮาระแล้ว “นี่ไม่ใช่เรื่องน่ายกย่องตรงไหนเลย ในช่วงเวลาที่ยากลำบากแสนสาหัสแบบนี้ พลเมืองต้องไม่สบายใจและลงมือทำอะไรสักอย่างมากกว่านี้ไม่ใช่หรือ?”

และต่อไปนี้คือผลงานของ คาซึโอะ ฮาระ

Goodbye CP (1972)

หนังเปิดตัวของฮาระ เล่าถึง ฮิโรชิ โยโกตะ นักกิจกรรมผู้พิการทางสมองผู้กล้าเปลือยกายต่อสาธารณะเพื่อเรียกร้องสิทธิของผู้พิการ (อันเป็นซับเจ็กต์ที่มีบุคลิกทรงพลังแบบที่ฮาระหลงใหลที่สุด)

ฮาระทำหนังเรื่องนี้โดยมุ่งทำลายกรอบคิดของ ‘สารคดีมนุษยธรรม’ ที่มักมองคนพิการด้วยสายตาเมตตาปรานี และเขาต้องการตั้งคำถามเรื่องการประเมินคุณค่าของมนุษย์จาก ‘ความสามารถในการผลิต’ ด้วย “ภายใต้อุดมการณ์แบบชนชั้น คนที่มีอาการพิการทางสมองจะถูกมองว่าอยู่ล่างสุด เป็นกลุ่มคนที่ทำประโยชน์อะไรไม่ได้ ซึ่งผมต้องการเปลี่ยนมุมมองนี้ ไม่ให้สังคมประเมินคุณค่าของมนุษย์ผ่านแนวคิดเรื่องแรงงานอีกต่อไป”

Extreme Private Eros: Love Song 1974 (1974)

ระหว่างการทำ Goodbye CP ฮาระแยกทางกับ มิยูกิ ทาเคดะ คู่รักในขณะนั้น แล้วเริ่มคบกับ ซาจิโกะ โคบายาชิ และความสัมพันธ์ของทั้งสามก็กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในสารคดีเรื่องนี้

ตัวหนังนั้นเกิดขึ้นจากคำขอของทาเคดะซึ่งเข้าร่วมกับขบวนการปลดปล่อยสตรีที่มีแนวคิดสุดโต่งและทิ้งฮาระไปอยู่คอมมูนในโอกินาวา เธอต้องการให้ฮาระถ่ายทำการคลอดลูกของเธอเพื่อแสดงถึงเสรีภาพของผู้หญิงและเพื่อท้าทายขนบของสังคมญี่ปุ่นเก่าอย่างรุนแรง ตอนถ่ายทำ โคบายาชิเป็นคนถือไมค์และปรากฏตัวบนจอให้เราเห็นหลายฉาก โดยเธอแสดงออกว่าสนใจแนวคิดเฟมินิสต์ไม่น้อย แต่ก็มีท่าทีชิงชังทาเคดะอย่างเปิดเผย ฝ่ายทาเคดะก็อยู่ในหนังไปและวิพากษ์วิจารณ์ก่นด่าฮาระไปด้วย บรรยากาศประหลาด ๆ เหล่านี้ส่งผลให้หนังเต็มไปด้วยความสลับซับซ้อนของอารมณ์ และบทบาทผู้กำกับของฮาระก็ถูกซับเจ็กต์อย่างทาเคดะคอยก่อกวนแย่งชิงอยู่ตลอดเวลา

The Emperor’s Naked Army Marches On (1987)

ผลงานระบือโลกของฮาระที่ด่าทอกองทัพญี่ปุ่นและคนที่ก่ออาชญากรรมสงครามอย่างไม่ไว้หน้า หนังติดตาม เคนโซ โอคุซากิ อดีตทหารสงครามโลกครั้งที่สองผู้หาญกล้าไปเผชิญหน้ากับอดีตผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงานที่เคยไปประจำการด้วยกันในนิวกินี เพื่อจะเปิดโปงเรื่องการสังหารทหารสองคนที่ยังไม่มีใครรู้ความจริง

งานชิ้นนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดที่สุดของวิธีทำงานแบบ ‘ยั่วยุ’ ของฮาระซึ่งส่งผลเลยเถิดเกินควบคุม เริ่มจากการที่เขายุยงให้โอคุซากิไปเยี่ยมผู้ต้องสงสัยก่ออาชญากรรมสงครามในนิวกินี แต่ท่าทีไม่แยแสไม่ยอมรับผิดของคนเหล่านั้นทำให้ความเดือดดาลของโอคุซากิเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงจุดที่เขาตัดสินใจลงมือจัดการปัญหาด้วยความรุนแรง ซึ่งฮาระบอกว่าเกินเลยจากความต้องการของเขาในฐานะผู้กำกับไปมาก แต่ความบ้าบิ่นสุดขีดคลั่งนี่แหละที่ทำให้โอคุซากิกลายเป็นหนึ่งในซับเจ็กต์ที่น่าจดจำที่สุดในประวัติศาสตร์หนังสารคดี และทำให้หนังเรื่องนี้กลายเป็นงานสุดเดือดเลือดพล่านที่ขึ้นหิ้งอย่างไม่มีใครกังขา

A Dedicated Life (1994)

สารคดีติดตามชีวิตของ มิตสึฮารุ อิโนะอุเอะ นักประพันธ์ผู้ได้รับการยกย่องอย่างสูงในแวดวงวรรณกรรมญี่ปุ่นยุคหลังสงคราม เขาเป็นซับเจ็กต์แบบที่ฮาระชอบ คือเป็นคนที่บุคลิกแปรเปลี่ยนได้ตลอดเวลา บางครั้งก็มีเสน่ห์ บางครั้งก้าวร้าว และบ่อยครั้งก็ยั่วโมโหแบบสุด ๆ

อย่างไรก็ตาม เมื่อถ่ายหนังไปได้ระยะหนึ่ง เรื่องก็หักเหไปในทางที่ฮาระไม่ได้คาดไว้ เริ่มจากอิโนะอุเอะถูกหมอวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ตามมาด้วยการที่ฮาระค้นพบว่าความสามารถในการแต่งนิยายของอิโนะอุเอะไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในงานเขียน แต่ยังกินความมาถึงชีวิตจริงด้วย เพราะรายละเอียดในชีวประวัติจำนวนมากที่อิโนะอุเอะเล่าให้สาธารณชนฟังนั้น แท้จริงแล้วเป็นแค่เรื่องแต่งที่เขาสร้างขึ้นตลอดระยะเวลาหลายสิบปี

ในขณะที่อิโนะอุเอะใกล้ตายและต้องเร่งเขียนงานชิ้นสุดท้ายให้เสร็จ ฮาระก็เริ่มขุดค้นอดีตของชายผู้นี้เพื่อจะแยกแยะให้ได้ว่าอะไรคือตัวตนจริงกันแน่ ผลลัพธ์จึงเป็นสารคดีที่สะท้อนความซับซ้อนของมนุษย์ ผู้ซึ่งแม้แต่ชีวิตของเขาเองก็เป็นส่วนขยายของศิลปะที่เขาสร้างขึ้นมา

My Mishima (1999)

หนึ่งปีหลังจากทำ A Dedicated Life ฮาระกับโคบายาชิก่อตั้ง Cinema Juku (แปลตรงตัวว่า ‘โรงเรียนสอนหนัง’) ซึ่งเป็นเวิร์กช็อปที่ Hagi International Festival of Art ในเมืองชนบททางตะวันตกสุดของเกาะฮอนชู แล้วเชิญผู้กำกับดัง ๆ ในยุคนั้นมาพูดคุยกับผู้เรียน จากนั้นในปี 1999 ฮาระกับเหล่านักเรียนก็ร่วมกันทำสารคดีเรื่องนี้ซึ่งพูดถึงเกาะใกล้ ๆ ที่ชาวเกาะต้องการละทิ้งบ้านเกิดไปใช้ชีวิตในเมืองใหญ่แทน

นี่เป็นครั้งแรกที่ฮาระเริ่มทำหนังด้วยวิธีรวมกลุ่ม ตามรอยรุ่นพี่อย่างโอกาวะ (ซึ่งเสียชีวิตกะทันหันในปี 1992 และทำให้การผลิตสารคดีแบบกลุ่มในญี่ปุ่นดูเหมือนจะสิ้นสุดตามไปด้วย) และเขาค้นพบว่ามันเป็นวิธีที่กระตุ้นพลังของเขาในเรื่องการต่อต้านให้แข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิม นอกจากนั้น งานชิ้นนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นของเขาในการทำสารคดีว่าด้วยกลุ่มพลเมืองผู้ต่อสู้กับความโหดร้ายของอุตสาหกรรมและรัฐบาลด้วยวิธีอันชอบธรรมอีกด้วย

The Many Faces of Chika (2005)

ฮาระเปลี่ยนบรรยากาศมาทำหนังฟิกชั่นเป็นครั้งแรก (และครั้งเดียว) แต่ก็ยังคงจับธีมและตัวละครในแนวทางที่เขาถนัด นี่เป็นหนังทดลองสุดกล้าหาญที่ฮาระใช้นักแสดงหญิงถึง 4 คนมารับบทตัวละครนำชื่อ จิกะ หญิงสาวผู้รักอิสระ มีความสัมพันธ์กับชายหลากหลายคน และไม่ยอมจำนนให้แก่กรอบจำกัดใด ๆ ฉากหลังของหนังคือสังคมญี่ปุ่นยุคทศวรรษ 1960-70 ซึ่งเป็นช่วงที่คนหนุ่มสาวปฏิเสธค่านิยมดั้งเดิมอย่างสุดขั้ว

Sennan Asbestos Disaster (2017)

ย้อนกลับไปในช่วงที่กำลังผิดหวังกับการควานหาซับเจ็กต์ที่แข็งแกร่ง ฮาระได้รับคำเชิญให้ไปทำสารคดีว่าด้วยการต่อสู้ทางกฎหมายของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากสารพิษของโรงงานใยหินในโอซากา ตอนแรกเขารับงานโดยไม่ใส่ใจเพราะยังรู้สึกเศร้าสร้อยอยู่ แถมพอเดินทางมาพบซับเจ็กต์ เขาก็ยังลังเลด้วยว่าควรจะทำงานนี้จริงไหม เพราะคนเหล่านี้ ‘ช่างดูธรรมดา’ เสียเหลือเกิน

อย่างไรก็ตาม เมื่อฮาระเริ่มรับฟังความทุกข์ยากเจ็บปวดของชาวบ้านทีละคนและประวัติศาสตร์การต่อสู้อันยาวนานของพวกเขา เขาก็เปลี่ยนใจ ความผูกพันของเขากับชาวบ้านเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดระยะเวลา 9 ปีของการถ่ายทำ และเมื่อหนังออกฉาย ฮาระก็พบว่ามันเป็นความพยายามที่ไม่สูญเปล่า สารคดียาวสามชั่วโมงครึ่งเรื่องนี้เปิดตัวที่เทศกาลสารคดียามากาตะ และหลังหนังจบมีผู้ชมเกือบ 40 คนมาแสดงความยินดีกับเขา ฮาระบอกว่า “นั่นคือนาทีที่ผมตระหนักในที่สุดว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ในระดับสูงพอจะเรียกได้ว่า ‘น่าสนใจ'”

Reiwa Uprising (2019)

ช่วงเดียวกับที่กำลังทำ Minamata Mandala (ซึ่งจะเสร็จในปีถัดไป) ฮาระก็ถ่ายทำและตัดต่อสารคดียาวสี่ชั่วโมงเรื่องนี้ออกฉายอย่างรวดเร็ว หนังเล่าถึง เรวะ ชินเซ็นกุมิ พรรคการเมืองหัวก้าวหน้าที่จู่ ๆ ก็กำเนิดขึ้นมาเพื่อท้าทายทุกสิ่งในระบบการเมืองอันแข็งกระด้างของญี่ปุ่น พวกเขาส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งน่าสนใจหลายคนที่ฮาระดึงมาเป็นซับเจ็กต์ ไม่ว่าจะเป็นดาราตลกทางโทรทัศน์ที่ผันตัวมาเล่นการเมือง, แม่เลี้ยงเดี่ยวชนชั้นแรงงานที่มีพรสวรรค์ในการพูด, ผู้ป่วยโรค ALS ที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้, หญิงพิการทางสมองที่นั่งรถเข็น และศาสตราจารย์ข้ามเพศจากมหาวิทยาลัยโตเกียวที่ออกไปหาเสียงกับม้า โดยฮาระติดตามการหาเสียงของทุกคนไปจนถึงจุดสิ้นสุด เมื่อผู้สมัครผู้พิการทั้งสองได้เข้าสู่สภาและสภาต้องปรับปรุงอาคารใหม่เพื่อรองรับรถเข็นของพวกเขาโดยเฉพาะ

Minamata Mandala (2020)

ฮาระกับโคบายาชิเริ่มทำสารคดีเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2001 โดยไปติดตามการต่อสู้ในชั้นศาลอันยืดเยื้อยาวนานของผู้ป่วยโรคมินามาตะ (โรคระบบประสาทที่เกิดจากการกินปลาในแหล่งน้ำซึ่งปนเปื้อนพิษปรอทจากโรงงาน) ในชุมชมทางใต้ของญี่ปุ่น อยู่ถึง 15 ปี บวกเวลาตัดต่ออีก 5 ปี ผลคือสารคดีความยาว 6 ชั่วโมงที่ ‘เป็นพื้นที่ให้ผู้รอดชีวิต แพทย์ และนักวิจัยได้ยืนยันกับโลกว่าตนเองยังเป็นมนุษย์ แม้จะต้องอยู่ท่ามกลางความไม่แยแสใด ๆ ของสังคมและรัฐ’

เมื่อมีผู้ถามฮาระว่า ทำไมต้องทำสารคดีเรื่องนี้ให้ยาวถึง 6 ชั่วโมง เขาตอบว่า

“ผมเกิดในปี 1945 ซึ่งเป็นปีที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามและเริ่มมีประชาธิปไตย จากนั้นการเติบโตและประชาธิปไตยก็เดินไปพร้อมกัน มันสอดคล้องกัน ผมคิดว่านี่เป็นเหตุผลที่ประชาธิปไตยญี่ปุ่นฝังลึกในใจผม แต่ช่วงเวลานี้เองที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นโตเร็ว เราเริ่มร่ำรวยขึ้นอีกครั้ง และเราก็เริ่มสงสัยว่า ‘ประชาธิปไตยจริง ๆ แล้วอยู่ในตัวเราหรือเปล่า’ มีคนตั้งคำถามนี้เยอะ ผมก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะรัฐบาลของเรายังคงอยู่ในแนวคิดอนุรักษ์นิยมที่สนใจแค่ผลประโยชน์ของตัวเอง ซ้ำร้ายแม้จะมีข้อผิดพลาดมากมาย แต่ระบอบนี้ก็ไม่ล่มสลาย เพราะคนส่วนใหญ่ยังสนับสนุน

“ญี่ปุ่นเป็นชาติที่สู้กับอำนาจไม่ได้จริง ๆ หรือ? ไม่สามารถต่อต้านจักรพรรดิได้เลยหรือ? ทำไมถึงไม่มีการลุกขึ้นสู้? ผมคิดเรื่องนี้บ่อยมาก มันเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ผมตัดสินใจทำสารคดีที่พูดถึงโรคมินามาตะ ผมได้รับแรงบันดาลใจจากผู้คนที่ทุกข์ทรมานจากโรคนี้มานาน แต่ลึก ๆ แล้ว ผมรู้สึกอะไรบางอย่างกับพวกเขา กับการเป็นคนธรรมดาและความอดทนของพวกเขา ความอดทนนี้ถูกสร้างจากพื้นฐานที่ผมไม่ชอบ คือการต่อสู้ของพวกเขามันไม่ได้จบแค่ที่โรค

“ผมอยากแสดงให้เห็นว่าคนเหล่านี้ต้องสู้เพื่อความสุขของตัวเองและครอบครัว ผมทนไม่ได้ที่คนไข้มินามาตะต้องสู้ในศาล และถูกปฏิบัติราวกับไม่ได้อยู่ร่วมสังคมกับคนอื่น พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่สังคมทอดทิ้ง แต่พวกเขากลับกัดฟันสู้กับระบบอันไม่ถูกต้องอย่างหนักหนาสาหัสมาก

“และเพราะว่าผมต้องต้องใช้เวลานานเพื่อแสดงชีวิตของคนไข้เหล่านี้อย่างละเอียด ผมต้องเข้าไปในชีวิตหรือแม้กระทั่งจิตใจของพวกเขาเพื่อจะจับภาพความอดทนนี้มาให้ได้ ผมไม่สามารถเก็บรายละเอียดได้ถ้าไม่ใช้รูปแบบหนังยาว อาจเพราะภาพของความอดทนที่ผมต้องการนั้นไม่ได้เป็นการระเบิดขึ้นมาแบบรุนแรงทันที ผมต้องการให้รายละเอียดเล็ก ๆ สะสมกันไปเรื่อย ๆ ผมมองไม่เห็นวิธีอื่นที่จะทำ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่หนังต้องยาวขนาดนี้”

โครงการพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านภาพยนตร์สารคดี

ได้รับการส่งเสริมจาก กองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม

documentary 101