documentary 101

ตอนที่ 7 : รู้จัก Mockumentary – นึกว่าเป็นสารคดี แต่ที่แท้แค่ ‘หยอก ๆ’

Big Man Japan (2007)

ม็อกคิวเมนทารี (Mockumentary) เป็นคำผสมระหว่าง 'mock' (ล้อเลียน) และ 'documentary' (สารคดี) หมายถึงงานบันเทิงคดีที่นำเสนอในรูปแบบสารคดี หรือพูดง่าย ๆ กว่านั้นว่า เป็นหนังหรือรายการทีวีที่เล่าเหตุการณ์สมมติ-เรื่องที่ถูกแต่งขึ้นมา แต่ถ่ายทำในสไตล์สารคดีและทำตัวเหมือนว่าตัวเองเป็นสารคดีจริง ๆ (บางครั้งก็หมายถึงจงใจหลอกให้คนดูและสังคมเชื่อแบบนั้นด้วย) เทคนิคที่เรามักจะเจอในหนังกลุ่มนี้ก็เช่น การสัมภาษณ์คน การถ่ายแบบซ่อนกล้อง การใช้กล้องแฮนด์เฮลด์ ฯลฯ ซึ่งถูกใช้เพื่อสร้างความรู้สึกสมจริง

นอกจากวิธีนำเสนอแล้ว อีกหนึ่งจุดเด่นมาก ๆ ของม็อกคิวเมนทารีก็คือ ‘อารมณ์ขันเสียดสี’ ไม่ว่าจะเป็นการจงใจล้อเลียนรูปแบบของหนังสารคดีเอง หรือวิจารณ์-เสียดสีประเด็นทางสังคม การเมือง วัฒนธรรม

ในแง่ของการเล่าเรื่อง ม็อกคิวเมนทารีมักมีสิ่งที่เรียกว่า ‘การทำลายกำแพงที่สี่ระหว่างฉากและกล้อง’ คือตัวละครในม็อกคิวเมนทารีอาจแหกกฎธรรมชาติ (ที่ว่าโลกของคนดูกับโลกของตัวละครในหนังนั้นเป็นโลกคนละใบ กล้องเป็นดังกำแพงล่องหนที่ขวางแยกเราทั้งสองออกจากกัน) ด้วยการหันหน้ามาพูดกับเราคนดูผ่านกล้องเสียเลย หรือบางครั้งแม้แต่ตัวผู้กำกับเองก็อาจจะโผล่เข้ามาหน้ากล้องแล้วมาอธิบายเรื่องที่เรากำลังดูอยู่ด้วย นอกจากนั้น ม็อกคิวเมนทารีบางเรื่องอาจไม่ได้เขียนบทไว้อย่างตายตัว แต่เปิดให้นักแสดงสามารถด้นสดได้อย่างมีอิสระ

(มีเกร็ดเพิ่มเติมว่า ในหมวด ‘สารคดีหลอก ๆ’ นั้น ยังมีอีกคำที่คล้าย ๆ กันคือ Pseudo-documentary หรือ Fake documentary ที่ก็ใช้เทคนิคการถ่ายทำแบบสารคดีมาเล่าเรื่องซึ่งถูกแต่งขึ้นเช่นเดียวกัน แต่จุดแตกต่างอยู่ตรงที่ม็อกคิวเมนทารีมักถูกใช้เรียกหนังกลุ่มนี้ที่มีอารมณ์ขันและท่าทีเสียดสีชัดเจน)

ประวัติของ Mockumentary :

ที่มาของสารคดีหลอก ๆ หยอก ๆ นี้อาจย้อนกลับไปได้ไกลถึงทศวรรษ 1930 โดยตัวอย่างที่มักถูกกล่าวถึงก็คือ The War of the Worlds ละครวิทยุปี 1938 ของ ออร์สัน เวลส์ (ซึ่งแม้ท่าทีการนำเสนอจะจริงจังมาก ๆ ไม่ใช่การล้อเลียนเสียดสี แต่ถือเป็นงานชิ้นแรก ๆ ที่จงใจเอารูปแบบของสารคดีมาใช้กับเรื่องแต่งเพื่อทำให้คนเข้าใจผิด คิดว่าเป็นเรื่องจริง) โดยเวลส์นำเรื่องที่อิงจากนวนิยายของ เอช จี  เวลส์ มาอ่านออกอากาศด้วยรูปแบบข่าวว่ามีมนุษย์ต่างดาวกำลังจะบุกโลก จนคนฟังเชื่อสนิทและโทรเข้าไปยังสถานีวิทยุด้วยความตื่นตระหนก โกลาหลกันไปทั้งเมือง

อีกตัวอย่างหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงบ่อยพอกันก็คือ Land Without Bread หนังปี 1933 ที่ หลุยส์ บุนเยล นำไอเดียจากบทความมานุษยวิทยามาทำเป็นสารคดีหลอก ว่าด้วยชุมชนสุดยากจนข้นแค้นในสเปนที่ไม่รู้จักขนมปัง และหารายได้ด้วยการนำเด็กกำพร้ามาเลี้ยงเพื่อรอรับเงินช่วยเหลือจากรัฐ โดยบุนเยลใช้ท่าทีแบบสารคดีเพื่อเสียดสีประเด็นทางสังคมอย่างรุนแรง

Swiss Spaghetti Harvest (1957) เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญ เมื่อบีบีซีออกอากาศรายงานข่าวใน ‘วันเมษาหน้าโง่’  เกี่ยวกับครอบครัวในสวิตเซอร์แลนด์ที่ปลูกต้นสปาเก็ตตี้ได้ ซึ่งฟังแล้วเราอาจฮาว่าใครมันจะไปเชื่อ แต่ในความจริงปรากฏว่ามีผู้ชมที่ดูแล้วเชื่อและพากันโทรเข้าไปหาบีบีซีเพื่อสอบถามวิธีปลูกต้นสปาเก็ตตี้กันเป็นจำนวนมาก

ม็อกคิวเมนทารียิ่งมีสีสันขึ้นไปอีกเมื่อถูกนำมารวมกับวิธีการของหนังชีวประวัติ ตัวอย่างโด่งดังหนีไม่พ้น A Hard Day’s Night (1964) ที่ว่าด้วยชีวิตประจำวัน (ปลอม ๆ) ของสี่หนุ่มชาวเมืองลิเวอร์พูลแห่งวง The Beatles และ Zelig (1983) ของ วูดดี้ อัลเลน ที่ เล่าเรื่องของ เลโอนาร์ด เซลิก ชายผู้มีความสามารถพิเศษในการเปลี่ยนรูปลักษณ์และบุคลิกของตัวเองให้เหมือนกับคนรอบข้างได้ ความล้ำของหนังเรื่องนี้อยู่ที่มีการไปสัมภาษณ์คนดัง ๆ ซึ่งพูดถึงเซลิกราวกับเขาเป็นบุคคลที่มีตัวตนในประวัติศาสตร์จริง ๆ กับยังมีการใช้เทคนิคตัดต่อเพื่อนำอัลเลนไปวางลงในฟุตเทจประวัติศาสตร์ ซึ่งสร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่คนดูได้อย่างดี (แบบเดียวกับที่ Forrest Gump ทำในอีกหลายปีต่อมา)

ยุคทองของ Mockumentary :

ยุคที่น่าจะเรียกแบบนั้นได้เต็มปากสำหรับหนังกลุ่มนี้ก็คือ ยุคทศวรรษ 1980 พร้อมการมาถึงของ This is Spinal Tap (1984) ผลงานกำกับของ ร็อบ ไรเนอร์ และเขียนบทร่วมกับ คริสโตเฟอร์ เกสต์ ซึ่งว่าด้วยการทัวร์อเมริกาที่ไม่ค่อยจะประสบความสำเร็จของวงเฮฟวี่เมทัลอังกฤษชื่อ Spinal Tap (ซึ่งไม่มีอยู่จริง) หนังได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในม็อกคิวเมนทารีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล ทั้งด้วยอารมณ์ขันอันเต็มไปด้วยมุกชาญฉลาดแบบด้นสด การล้อเลียนเสียดสีวงการดนตรีร็อกแบบ ‘รู้จริง’ และการใช้รูปแบบสารคดีได้อย่างน่าเชื่อจนหนังสามารถแตกดอกออกผล เกิดกลุ่มแฟนวง Spinal Tap และทำให้บรรดานักแสดงในเรื่องมีโอกาสเดินสายไปโชว์ตัวเล่นดนตรีตามงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องยาวนาน

สารคดีล้อเลียนก้าวเข้าสู่วงการหนังและทีวีอย่างจริงจังนับตั้งแต่ยุค 1990 เป็นต้นมา โดยเฉพาะในซีรีส์ The Office (2001) ของนักแสดงตลก ริกกี้ เจอร์เวส และ สตีเฟน เมอร์แชนท์ ซึ่งติดตามชีวิตประจำวันในสำนักงานบริษัทอันแสนจืดชืด ภายใต้การดูแลของผู้จัดการที่คิดว่าตัวเองตลกซะเหลือเกิน ซีรีส์ชุดนี้ประสบความสำเร็จแบบสุด ๆ และคว้ารางวัล BAFTA ถึง 3 ครั้ง แถมยังเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดเวอร์ชันในประเทศอื่น ๆ ตามมามากมาย

ความหมายและความสำคัญของ Mockumentary :

แม้จะมีจุดเด่นตรงการล้อเลียนเสียดสี แต่ไม่ได้หมายความว่าม็อกคิวเมนทารีมีไว้จิกกัดหยอกเอินชาวบ้านเท่านั้น มันยังสามารถมีบทบาทและความสำคัญในอีกหลายมิติ

เบื้องต้น หนังกลุ่มนี้มักวิพากษ์วิจารณ์ภาพลักษณ์ความจริงจังและความเป็นกลางของ ‘สารคดี’ ด้วยการบอกว่า จริง ๆ แล้วภาพยนตร์ล้วนคือภาพลวงตาทั้งนั้น และสารคดีนี่แหละที่อาจเป็นภาพลวงตาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเพราะวิธีการของมันมักโน้มนำให้เราหลงเชื่อว่าทุกอย่างที่เห็นเป็นความจริงเสมอ ต่อให้เรื่องที่มันเล่าอาจเหลวไหลทั้งเพก็ตาม

ตัวอย่างม็อกคิวเมนทารีที่มีท่าทีวิจารณ์ ‘ความจริงของสารคดี’ อย่างชัดเจนก็คือ Man Bites Dog (1992) หนังเบลเยียมว่าด้วยทีมงานรายการเรียลลิตี้ทีวีที่ติดตามชีวิตฆาตกรต่อเนื่องคนหนึ่ง ก่อนที่จะกลายเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดร่วมมือกับเขาเสียเอง หนังใช้วิธีแบบสารคดีเพื่อจะตั้งคำถามอย่างเสียดสีว่า รายการประเภทเรียลลิตี้ทีวีนั้นมีความ ‘จริง’ แค่ไหน และสถานีโทรทัศน์จะทำเรื่องบ้าบอได้มากขนาดไหนเพียงเพื่อแลกกับเงิน

อารมณ์ขันและการล้อเลียนของม็อกคิวเมนทารียังสามารถสำรวจประเด็นซับซ้อนได้อีกสารพัด ไม่ว่าจะเป็นการทำงานภายใต้ระบบทุนนิยมสมัยใหม่ (The Office) ความมีชื่อเสียง (This Is Spinal Tap) วารสารศาสตร์และสื่อ (Brass Eye) การเมืองและวัฒนธรรมสถาบัน (The Thick of It, Bob Roberts) ความไม่เท่าเทียมของเยาวชน (This Country) การเหยียดเชื้อชาติ (Borat) และความสัมพันธ์ในครอบครัว (Human Remains) ซึ่งล้วนประสบความสำเร็จในการใช้ลีลาแบบ ‘เรื่องจริง’ มาทำให้คนดูรู้สึกเชื่อมโยงกับสิ่งที่เห็น แล้วใช้การเสียดสีมาตลบกลับให้เราต้องขบคิดถึงประเด็นที่ซ่อนอยู่ใต้นั้นอีกชั้นหนึ่ง

ประเด็นถกเถียงและความอื้อฉาวของ Mockumentary :

แม้ม็อกคิวเมนทารีจะมีบทบาทในการวิพากษ์วิจารณ์ แต่ตัวมันเองก็สร้างประเด็นถกเถียงเรื่องจริยธรรมและผลกระทบทางสังคมไม่น้อย ตัวอย่างเช่น

1. หลอกลวงผู้ชมหรือเปล่า?

ม็อกคิวเมนทารีบางเรื่องเจตนาทำให้เราเข้าใจผิด เช่น Ghostwatch (1992) ของบีบีซี ที่นำเสนอการสืบสวน ‘สด ๆ’ ของเหตุการณ์ผีสิงในบ้านหลังหนึ่งในลอนดอน ซึ่งสมจริงจนทำให้ผู้ชมหลายพันคนตกอกตกใจแห่กันโทรศัพท์เข้าไปที่สถานี

2. หลอกลวงชาวบ้านด้วยใช่ไหม?

Borat (2006) ของ ซาชา บารอน โคเฮน เป็นตัวอย่างของหนังที่ถูกโจมตีประเด็นนี้อย่างหนักหน่วง เพราะมันใช้เทคนิค ‘การหลอกลวงของม็อกคิวเมนทารี’ (mockumentary hoax) โดยหลอกคนให้หลงเชื่อ (ว่าตัวเองกำลังอยู่ในข่าวหรือหนังสารคดี) เพื่อจะดูว่าพวกเขาจะตอบสนองอย่างไร

ประเด็นอื้อฉาวดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อทีมงานไม่ได้อธิบายให้ชาวบ้านยิปซีโรมาเนีย (ที่ปรากฏในฉากเปิด) เข้าใจลักษณะของหนังเรื่องนี้ก่อน พวกเขาจึงคิดว่าตัวเองกำลังมีส่วนร่วมในสารคดีว่าด้วยความยากจนในโรมาเนีย โดยไม่รู้ว่าสิ่งที่พวกเขาพูดและแสดงออกนั้นจะถูกนำมาใช้เรียกเสียงหัวเราะในม็อกคิวเมนทารีต่างหาก (ต่อมาชาวบ้านกลุ่มนี้ได้ยื่นฟ้องหนังด้วยความไม่พอใจที่ถูกนำเสนออย่างบิดเบือน)

3. ตกลงจะ ‘วิจารณ์’ หรือ ‘เหยียดหยาม’?

Borat โดนโจมตีประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน แม้โคเฮนจะบอกว่ามุกล้อเลียนคนคาซัคสถานในหนังนั้นมีขึ้นเพื่อจะแสดงให้เห็นอคติของชาวตะวันตกต่างหาก แต่สำหรับชาวคาซัคสถานเอง พวกเขารู้สึกว่าหนังยิ่งตอกย้ำให้ชาวโลกเข้าใจประเทศอดีตโซเวียตแห่งนี้แบบผิด ๆ  นอกจากนั้น อารมณ์ขันของหนังยังอาจถูกมองว่าแฝง ‘ความรู้สึกเหนือกว่าทางวัฒนธรรม’ เพราะเป็นการนำมุมมองและความขำขันแบบตะวันตกมาล้อเลียนวัฒนธรรมอื่น

4. ความสำเร็จทางการตลาดและการหลงลืมจุดยืน

ความนิยมของม็อกคิวเมนทารีในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาทำให้รูปแบบนี้กลายเป็นกระแสหลัก เห็นได้จากการเกิดขึ้นของหนังสยองขวัญ-หนังซูเปอร์ฮีโร-หนังวัยรุ่นแนว found footage มากมาย จนมีผู้วิเคราะห์ว่า มันกลายเป็นเพียงกลวิธีการตลาดที่สตูดิโอใช้เพื่อดึงดูดผู้ชมด้วยต้นทุนการผลิตที่ต่ำลงเท่านั้น ทำให้ม็อกคิวเมนทารีสูญเสียพลังในการท้าทายขนบและการวิพากษ์วิจารณ์สังคมไปอย่างน่าเสียดาย

ตัวอย่างอื่น ๆ ของ Mockumentary :

Waiting for Guffman (1996)

ม็อกคิวเมนทารีอเมริกัน กำกับโดย คริสโตเฟอร์ เกสต์ และเขียนบทโดยเกสต์ร่วมกับยูจีน เลวี่ เล่าเรื่องเมืองเล็ก ๆ ชื่อเบลน รัฐมิสซูรี ที่จัดการแสดงละครเวทีเพลง Red, White and Blaine เพื่อฉลองครบรอบ 150 ปีของเมือง โดยผู้กำกับละครประกาศให้ความหวังแก่บรรดานักแสดงสมัครเล่นของเขาว่า มอร์ต กัฟฟ์แมน โปรดิวเซอร์คนดังจากบรอดเวย์จะมาชมการแสดงด้วย แต่ในคืนแสดงจริง กัฟฟ์แมนไม่มา มีเพียงชายคนหนึ่งที่มานั่งที่นั่งสำรองของกัฟฟ์แมนแทน (หนังอิงชื่อมาจากบทละครเรื่อง Waiting for Godot)

บทพูดส่วนใหญ่ใน Waiting for Guffman ใช้การด้นสด โดยเกสต์เปรียบเทียบกระบวนการนี้กับดนตรีแจ๊ส ที่นักดนตรีรู้แค่ทำนองพื้นฐานของเพลงที่กำลังเล่น แต่สามารถคิดค้นการเล่นสด ๆ ขึ้นมาได้โดยไม่มีการกำหนดไว้ล่วงหน้า

Waiting for Guffman ไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ แต่กวาดคำชมจากนักวิจารณ์ท่วมท้น และในปี 2022 มันได้รับการยกย่องจากนิตยสาร Variety ให้เป็นหนึ่งใน “100 ภาพยนตร์ที่ดีที่สุดตลอดกาล”

(งานเด่นอีกเรื่องของคู่หูเกสต์-เลวี่ ก็คือ Best in Show ม็อกคิวเมนทารีสุดฮาปี 2000 ว่าด้วยการประกวดสุนัขและกลุ่มเจ้าของสุนัขหลากหลายประเภทที่มาแข่งขันกัน)

Forgotten Silver (1995)

ม็อกคิวเมนทารีจากนิวซีแลนด์ ฝีมือ ปีเตอร์ แจ็คสัน เล่าเรื่องของ ‘โคลิน แมคเคนซี่ ผู้กำกับนิวซีแลนด์ที่ถูกลืม’ โดยแจ็คสันอ้างว่าเป็นคนค้นพบฟิล์มเก่าของเขาเข้าในโรงเก็บของ จากนั้นก็เล่าว่าแมคเคนซี่เป็นอัจฉริยะผู้บุกเบิกวงการหนังคนสำคัญขนาดไหน ทั้งคิดค้นการถ่ายแทร็กกิ้งช็อต โคลสอัพ หนังเสียงหนังสี แถมยังบอกว่าชายผู้นี้เคยสร้างหนังมหากาพย์พระคัมภีร์ในป่านิวซีแลนด์อีกต่างหาก

หลอกกันแค่เนื้อเรื่องยังไม่พอ แจ็คสันยังเล่นหนักกว่านั้นด้วยการจัดฉากงานฉายรอบปฐมทัศน์ของฟิล์มที่ ‘เพิ่งถูกค้นพบ’ และมีการยกเอาคำชมของดารา-คนดังอย่าง แซม นีลล์, เลโอนาร์ด มัลติน, ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน มาโปรโมทด้วย

ที่จริงแล้ว แมคเคนซี่เป็นแค่ตัวละครที่แจ็คสันแต่งขึ้น หนังทุกเรื่องที่อ้างถึงก็ล้วนสร้างโดยแจ็คสันเอง (ซึ่งเขาเลียนแบบสไตล์หนังยุคเก่าได้อย่างแนบเนียน) และคนให้สัมภาษณ์ทั้งหมดก็ล้วนเป็นการแสดงตามบทเท่านั้น โดยนักแสดงที่รับบทแมคเคนซี่คือ โธมัส รอบบินส์ ซึ่งต่อมาเรารู้จักเขาในฐานะดีเอโกล ญาติของสมีโกลใน The Lord of the Rings นั่นเอง

The Heavenly Kings (2006)

ในปี 2005 สื่อจีนรายงานว่า แดเนียล วู ก่อตั้งวงบอยแบนด์ชื่อ Alive กับเทเรนซ์ ยิน, แอนดรูว์ ลิน และคอนรอย ชาน จากนั้น วูกับเพื่อนร่วมวงก็เริ่มโพสต์ข้อมูล อัปเดตความคิดส่วนตัว (รวมถึงการวิจารณ์ฮ่องกงดิสนีย์แลนด์ ซึ่งพวกเขาเป็นโฆษกและใช้เพลงของวงด้วย) ลงบนเว็บไซต์ทางการ จากนั้นในปี 2006 วูก็เปิดตัวในฐานะผู้เขียนบทและกำกับ ‘หนังสารคดีเรื่อง The Heavenly Kings ซึ่งบันทึกการก่อตั้งและการผจญภัยของชาววง Alive’

แต่หลังจากหนังเรื่องนี้เข้าฉายจึงมีการเปิดเผยว่า จริง ๆ แล้ว The Heavenly Kings เป็นม็อกคิวเมนทารีที่วูต้องการเสียดสีอุตสาหกรรมเพลงป๊อปฮ่องกง และวง Alive ก็เป็นแค่วงปลอมที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อทำหน้าที่นี้เท่านั้น เรื่องราวที่คนได้ดูกันมีทั้งส่วนที่เป็นเรื่องจริง (ซึ่งวูบอกว่าประมาณแค่ 10-15%) กับเรื่องแต่ง แถมยังบอกด้วยว่าตัวจริงของเขาร้องเพลงห่วยแตก แต่วงใช้วิธีปรับแต่งเสียงดิจิทัลตอนทำเพลง ทั้งหมดนี้เพื่อพิสูจน์ว่า “การปลอมแปลงนั้นทำได้ง่ายมาก”

Big Man Japan (2007)

ไดซาโตะ มาซารุ เป็นชายวัยกลางคนผู้มีชีวิตเงียบเหงาอยู่กับแมวโดยไม่มีใครสนใจ แต่จริง ๆ แล้วเขาสืบทอดพลังพิเศษมาจากบรรพบุรุษ เขาคือ “บิ๊กแมนเจแปน” ซูเปอร์ฮีโร่ที่สูงถึง 30 เมตรและสามารถใช้พลังไฟฟ้าต่อสู้กับสัตว์ประหลาดยักษ์ที่โจมตีญี่ปุ่นได้! อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปู่กับพ่อของเขาเคยได้รับการยอมรับอย่างยิ่งใหญ่ ไดซาโตะกลับถูกคนญี่ปุ่นสาปแช่ง เพราะการต่อสู้แต่ละครั้งของเขาใช้ไฟฟ้าสิ้นเปลืองมหาศาล แถมยังทิ้งขยะไว้เกลื่อนเมืองอีกต่างหาก

ฮิโตชิ มัตสึโมโตะ ทำหนังสุดเพี้ยนที่หาความจริงอะไรไม่ได้เลยเรื่องนี้ในลีลาที่ดูจริงแบบสารคดี เพื่อเสียดสีชีวิตประจำวันของชนชั้นแรงงานญี่ปุ่นอย่างเมามันมาก ๆ

What We Do in the Shadows (2014)

ม็อกคิวเมนทารีตลกสยองขวัญจากนิวซีแลนด์ เขียนบทและกำกับโดย เจเมน เคลเมนต์ และ ไทก้า ไวติติ (ซึ่งทั้งคู่รับบทนำด้วย) ติดตามชีวิตของแวมไพร์สี่ตนที่อาศัยอยู่ด้วยกันในอพาร์ตเมนต์ย่านเวลลิงตัน พวกเขาต้องปรับตัวกับเทคโนโลยีใหม่ จัดการกับสมาชิกใหม่ที่เพิ่งกลายเป็นแวมไพร์ และยังมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับกลุ่มมนุษย์หมาป่าที่เป็นศัตรูกันมาแต่โบราณ

หนังได้รับคำชมจากนักวิจารณ์อย่างล้นหลามว่าทั้งตลก ฉลาด และสดใหม่กว่าหนังแวมไพร์ทั่วไป (ส่วนสำคัญก็เพราะมันเลือกใช้วิธีเล่าแบบสารคดีนี่แหละ) ทั้งยังประสบความสำเร็จด้านรายได้จนเป็นจุดเริ่มต้นของแฟรนไชส์ที่ต่อมาขยายไปสู่ซีรีส์ทีวีชื่อเดียวกัน

Top Knot Detective (2017)

ม็อกคิวเมนทารีออสเตรเลีย กำกับโดย แอรอน แมคแคนน์ และ โดมินิค เพียร์ซ เล่าเรื่องการเติบโตและล่มสลายของซีรีส์ซามูไร/นักสืบญี่ปุ่นชื่อ Ronin Suiri Tentai หรือ Top Knot Detective ที่โด่งดังแบบคัลต์สุด ๆ ในออสเตรเลีย

ซีรีส์ที่ว่านี้เล่าถึง เชมาสึ ทันเท นายตำรวจยุคเอโดะที่กลายเป็นโรนิน/นักสืบเอกชนผู้ถูกใส่ร้ายว่าฆ่าอาจารย์และต้องออกเดินทางเพื่อแก้แค้นอย่างไม่มีวันจบสิ้น เขาต้องต่อสู้กับศัตรูหลากหลายรูปแบบ ทั้งนินจา ซามูไร ยากูซ่า มนุษย์ต่างดาว สัตว์ประหลาด ปีศาจ หุ่นยนต์ นักเบสบอลข้ามเวลา และนักเต้นอะโกโก้!

แน่ล่ะว่าซีรีส์ Top Knot Detective นั้นไม่เคยมีอยู่จริง แต่แม็คแคนน์กับเพียร์ซเล่าถึงมันอย่างดูสมจริงสุดขีดด้วยวิธีการแบบสารคดี พวกเขาไปถ่ายทำในเมืองต่าง ๆ ของออสเตรเลียและญี่ปุ่น รวมถึงโตเกียว โอซากา และเกียวโต โดยถ่ายภาพความละเอียดระดับ 4K แล้วนำไปบันทึกลงเทปวีเอชเอส ก่อนจะแคปเจอร์กลับมาใหม่เพื่อให้ได้ภาพที่ดูเหมือนภาพจากเทปเก่าที่ ‘ถูกค้นพบ’

ม็อกคิวเมนทารีเรื่องนี้เป็นที่รักของทั้งคนดูและนักวิจารณ์ ได้รับคำชมว่าทั้งสร้างสรรค์และวิจารณ์อุตสาหกรรมบันเทิงญี่ปุ่นอย่างสุดฉลาด ที่สำคัญคือความสามารถในการเล่นกับโจทย์ของตัวเองอย่างจริงจัง ก็ทำให้มีผู้ชมไม่น้อยเลยที่เชื่อว่าเรื่องราวทั้งหมดที่มันเล่านั้นเป็นเรื่องจริง

โครงการพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านภาพยนตร์สารคดี

ได้รับการส่งเสริมจาก กองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม

Related Articles