
เรารู้กันอยู่แล้วว่า หนังสารคดีเป็นสื่อที่มีพลังอำนาจมาก ๆ ในการถ่ายทอดเรื่องราวของกลุ่มคนที่กำลังเผชิญความยากลำบาก ถูกกดขี่กีดกัน หรือต้องเผชิญกับความไม่เท่าเทียมในสังคม สารคดีสามารถทำให้เรื่องราวของ ‘คนที่ไม่เคยมีใครมองเห็น ไม่มีใครเคยสนใจฟัง’ กลายเป็นถูกมองเห็นและถูกได้ยินจากคนส่วนใหญ่ได้ แต่พลังอำนาจอันยิ่งใหญ่ก็ต้องมาพร้อมความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง คนทำสารคดีจะทำอย่างไรไม่ให้การถ่ายทอดเรื่องของผู้คนที่ตนเห็นอกเห็นใจนั้น กลายเป็นการใช้ประโยชน์ (exploit) จากพวกเขา หรือทำให้พวกเขาตกเป็นฝ่ายถูกคนดูจ้องมองด้วยความเวทนาสงสาร เป็นเพียงคนไร้อำนาจและเป็นแค่ ‘เหยื่อ’ อยู่ตลอดเวลา?
ปัญหาแบบนี้มีโอกาสเกิดขึ้นกับหนังสารคดีได้สูงมากโดยที่คนทำอาจไม่ทันรู้ตัวหรือไม่มีเจตนาเลยด้วยซ้ำ จึงเป็นเหตุผลที่ในแวดวงสารคดีมีการพูดคุยเรื่อง ‘การทำหนังสารคดีอย่างมีจริยธรรม’ (Ethical Documentary Making) กันบ่อย ๆ และยังต้องอัพเดทความรู้กันต่อไปอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากขอบเขตทัศนคติและความเท่าทันของตัวเราและสังคมโลกย่อมเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ สารคดีที่เล่าเรื่องความยากจนของผู้คนโดยย้ำภาพความทุกข์ทรมานของพวกเขาแบบไม่ให้บริบท หรือแสดงภาพชีวิตของชาวบ้าน-ชนพื้นเมืองโดยเน้นการกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของผู้ชมทั่วไปนั้นอาจเคยเป็นเรื่องธรรมดาในยุคสมัยหนึ่ง แต่ในยุคนี้ก็อาจถูกมองว่าเป็นสารคดีประเภท poverty porn (เอาความยากจนมาเร้าอารมณ์คนดู) หรือ human zoo (ให้คนดูได้จ้องมองมนุษย์คนอื่นอย่างตื่นตาตื่นใจ ราวกับกำลังจ้องมองสัตว์ในสวนสัตว์) ไปแทน
Africa Addio (1966) : เป็นสารคดีอิตาลี กำกับโดย กวัลติเอโร จาโคเปตติ กับ ฟรังโก พรอสเปรี นำเสนอภาพความรุนแรงและความวุ่นวายที่เกิดขึ้นหลังจากการสิ้นสุดของการปกครองแบบอาณานิคมในประเทศต่าง ๆ ในแอฟริกา หนังประสบความสำเร็จมาก ๆ เมื่อออกฉายและทรงอิทธิพลสูงต่อวงการสารคดี แต่ขณะเดียวกันมันก็จุดประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับความรับผิดชอบทางจริยธรรมของคนทำสารคดี และการนำเสนอสังคมหลังยุคอาณานิคมในสื่อ เนื่องจากหนังเต็มไปด้วยภาพความรุนแรงอย่างเปิดเผยและอคติทางเชื้อชาติ จนถูกวิจารณ์ว่าเป็นการฉวยโอกาสจากความทุกข์ทรมานของชาวแอฟริกัน และส่งเสริมมุมมองแบบยุโรปเป็นศูนย์กลางที่แสดงภาพชาวแอฟริกันเป็นคนป่าเถื่อน
อะไรบ้างคือหัวใจสำคัญของการสร้างสารคดีอย่างมีจริยธรรม
หลักการโดยทั่วไปได้แก่
1. เคารพในการตัดสินใจและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
คนทำสารคดีต้องมองผู้ที่ถูกถ่าย (subject) ว่าเป็นคนที่รู้เรื่องราวในชีวิตของเขาเองมากกว่าใคร เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญในประสบการณ์ชีวิตของเขาเอง เขาไม่ได้เป็นแค่ ‘กรณีศึกษา’ หรือ ‘ตัวอย่างของความทุกข์ยาก’ เท่านั้น
2. ขอความยินยอมอย่างรอบด้าน และสื่อสารอย่างต่อเนื่อง
ต้องแน่ใจเสมอว่าสิ่งที่เราถ่ายและบอกเล่านั้นได้รับความยินยอม (consent) จากตัวเจ้าของเรื่องแล้ว และความยินยอมดังกล่าวก็ต้องเกิดขึ้นโดยที่เขาเข้าใจและสมัครใจจริง ๆ เท่านั้น รวมทั้งต้องมีการทบทวนตรวจสอบเสมอหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ว่าเขายังยินยอมอย่างเต็มใจจริงหรือเปล่า
3. หลีกเลี่ยงภาพเหมารวมและการเล่าเรื่องแบบ ‘ผู้มาโปรด’
การนำเสนอของสารคดีต้องไม่ติดอยู่ในกับดักของการมองคนในหนังเป็นเพียงเหยื่อที่ถูกกระทำ หรือมองบุคคลอื่นที่มาจากภายนอกเพื่อช่วยเหลือ (ซึ่งรวมตัวคนทำหนังเอง) ว่าเป็นเทวดาผู้มาโปรด รวมทั้งต้องระวังไม่ไปลดทอนให้เรื่องราวชีวิตหรือการต่อสู้ของซับเจ็กต์กลายเป็นเรื่องที่ง่ายดาย สามารถสรุปบทเรียนเป็นคติสอนใจได้โดยง่าย หรือประเคนดราม่าใส่จนฟูมฟายเกินจริง
4. ลดความเสี่ยงและอันตราย
คนทำสารคดีต้องให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัย และสุขภาพจิตของซับเจ็กต์เป็นอันดับแรก โดยเฉพาะหากเขาอยู่ในกลุ่มเปราะบางหรือผู้ที่อาจได้รับความเสี่ยงใด ๆ จากการเข้าร่วมในสารคดีของเรา
5. มีความโปร่งใสและความรับผิดชอบ
คนทำสารคดีควรทำงานอย่างโปร่งใสด้วยการเปิดเผยเจตนาของการทำหนังให้คนในหนังได้รู้ตั้งแต่ต้น ระหว่างทำควรหมั่นอธิบายการตัดสินใจหรือการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เกี่ยวกับแง่มุมสร้างสรรค์ของหนังให้พวกเขารับรู้ และเมื่อหนังตัดต่อเสร็จพร้อมเผยแพร่ก็ควรให้พวกเขาได้ดูหนังก่อนด้วย การทำสารคดีที่จะก่อประโยชน์ให้แก่ซับเจ็กต์ได้จริง ๆ และส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงได้จริงนั้นควรต้องมีกระบวนการที่ซื่อสัตย์และซื่อตรงต่อทั้งคนในหนังและคนดูเสมอ
The Bridge (2006) : ในปี 2004 อีริก สตีล บันทึกภาพสะพานโกลเดนเกตอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีเพื่อถ่ายการฆ่าตัวตาย (โดยการกระโดดสะพานดังกล่าว) ทุกครั้งที่เกิดขึ้น เขาได้ฟุตเทจดิบกว่า 5,000 ชั่วโมงและบันทึกการฆ่าตัวตายได้ 23 ครั้ง แม้หนังเรื่องนี้จะได้รับคำชมว่าช่วยทำให้ประเด็นที่อ่อนไหวนี้เป็นที่สนใจในวงกว้าง แต่กระบวนการทำหนังเองก็ถูกตั้งคำถามมากมายเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ผู้กำกับปกปิดจุดประสงค์ในการทำงาน (เขาขออนุญาตถ่ายทำจาก Golden Gate National Recreation Area โดยอ้างว่าจะทำหนังเกี่ยวกับสิ่งก่อสร้างของมนุษย์และธรรมชาติ ต่อมาสตีลให้สัมภาษณ์ว่าจำเป็นต้องปกปิด มิเช่นนั้นเขาก็คงไม่ได้รับการอนุมัติให้ถ่ายทำ) และการปล่อยให้การฆ่าตัวตายบนสะพานเกิดขึ้นโดยไม่เข้าไปแทรกแซงช่วยเหลือ (แต่ทีมงานปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ โดยอ้างว่าพวกเขาได้แจ้งเจ้าหน้าที่สะพานทุกครั้งที่มีคนแสดงสัญญาณว่าจะฆ่าตัวตายและมีเวลาเพียงพอที่จะป้องกันไม่ให้พวกเขากระโดด)
วิธีการที่จะช่วยให้การทำสารคดีไม่กลายเป็นการแสวงหาประโยชน์จากคนที่ถูกถ่าย
1. ปฏิบัติต่อผู้ที่ถูกถ่ายในฐานะ ‘หุ้นส่วน’ หรือ ‘ผู้ร่วมเล่าเรื่อง’ ไม่ใช่แค่ ‘อุปกรณ์ประกอบฉาก’
คนทำสารคดีควรมองผู้ถูกถ่ายว่าเป็นคนที่จะร่วมกับเราในการบอกเล่าความจริงผ่านหนัง ไม่ใช่คนอ่อนแอหรือคนที่ตัดสินใจเองไม่ได้จนคนทำหนังสามารถปั้นได้ตามใจชอบ ทั้งสองฝ่ายควรสร้างความสัมพันธ์บนพื้นฐานของความไว้วางใจกันตั้งแต่ต้น ใช้เวลาทำความรู้จักอย่างจริงจัง ฟังอย่างไม่มีจุดประสงค์ซ่อนเร้น และทำให้แน่ใจว่าการพูดคุยกันเป็นไปตามความต้องการและความสบายใจของซับเจ็กต์
วิธีการที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายนี้ได้ คือ
Amy (2015) : เจ้าของรางวัลออสการ์สารคดียอดเยี่ยม กำกับโดย อาซิฟ คาปาเดีย ซึ่งรวบรวมบทสัมภาษณ์กว่า 100 ชิ้นและฟุตเทจต้นฉบับจำนวนมากของ เอมี่ ไวน์เฮาส์ มาตัดต่อร้อยเรื่องเข้าด้วยกันโดยไม่มีเสียงบรรยายภายนอกหรือการสัมภาษณ์ใครเพิ่มเติมเลย ตัวหนังได้รับคำชมว่าใช้คลังข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยสร้างความเป็นธรรมให้แก่ตัวเอมี่ ทำให้โลกมองเห็นเธอในมุมใหม่โดยเฉพาะในเรื่องที่เธอไม่เคยมีโอกาสได้พูดเอง (เนื่องจากเธอเสียชีวิตไปแล้ว) อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนังก็ถูกโจมตีและตั้งคำถามเชิงจริยธรรมไม่น้อย ทั้งจากการที่ให้ภาพเอมี่เป็น ‘เหยื่อ’ มากเกินไป, กล่าวโทษพ่อของเธอ (มิตช์ ไวน์เฮาส์) มากเกินไป (ว่าเป็นตัวต้นเหตุแห่งความล่มสลายในชีวิตของเธอ) และ เร็ก ทราวิส อดีตแฟนหนุ่มของเธอก็แสดงความไม่พอใจว่าหนังนำเสนอภาพชีวิตช่วงสุดท้ายของเอมี่ผิดจากความจริงมาก ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นความเสี่ยงของคนทำหนังสารคดี ที่ต่อให้มีวัตถุดิบเป็นของจริงทั้งหมด แต่กระบวนการคัดเลือก การจัดลำดับ และการตัดต่อก็สามารถสร้างการตีความที่แตกต่างและสร้างชุดความจริงที่ขัดแย้งกับคนอื่น ๆ ได้
2. ให้ความสำคัญกับการขอความยินยอม ตั้งแต่ต้นจนจบ
การมีเอกสารให้ผู้ที่ถูกถ่ายเซ็นแสดงความยินยอมให้หนังติดตามและใช้ฟุตเทจที่เกี่ยวข้องกับเขาได้นั้น เป็นขั้นตอนสำคัญที่คนทำสารคดีไม่ควรมองข้าม ยิ่งหากเรื่องราวที่เล่าหรือตัวซับเจ็กต์เองมีความอ่อนไหว คนทำยิ่งควรระมัดระวังอย่างละเอียดรอบคอบ ควรสื่อสารขอความยินยอมที่ชัดเจนและต่อเนื่องในทุกขั้นตอน (ไม่ใช่เซ็นทีเดียวแล้วจบไป) เพื่อให้แน่ใจว่าซับเจ็กต์เข้าใจชัดเจนทั้งวัตถุประสงค์ ขอบเขต ความเสี่ยง และแผนการเผยแพร่สารคดี
Searching for Sugarman (2012) : เจ้าของรางวัลออสการ์สารคดียอดเยี่ยมที่ได้รับคำชมว่าทรงพลังทางอารมณ์มาก แต่ขณะเดียวกันกระบวนการทำหนังเองก็สร้างการถกเถียง โดยหนังว่าด้วย ซิซโต โรดริเกซ นักร้องนักแต่งเพลงเชื้อสายเม็กซิกัน-อเมริกันที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนักในอเมริกา และเชื่อกันว่าเขาฆ่าตัวตายไปโดยไม่เคยรู้เลยว่าตนเองโด่งดังเป็นตำนานในแอฟริกาใต้ ผู้กำกับ มาลิก เบนเจลลูล เลือกเล่าเรื่องนี้ผ่านมุมมองของแฟนเพลงชาวแอฟริกาใต้สองคนที่พยายามค้นหาว่า การฆ่าตัวตายของศิลปินผู้นี้เป็นแค่ตำนานหรือไม่ ก่อนจะต้องประหลาดใจเมื่อค้นพบว่าฮีโร่ของพวกเขาจากยุค 70 ยังมีชีวิตอยู่ …แน่นอนว่าบทสรุปนี้ย่อมทำให้ทั้งคนในหนังและคนดูประทับใจอย่างยิ่ง แต่ปัญหาอยู่ตรงที่จริง ๆ แล้วทั้งเบนเจลลูลและทีมงานรู้อยู่แล้วว่าโรดริเกซยังไม่ตาย ซึ่งแสดงว่าสิ่งที่เราได้เห็นในหนังนั้นไม่ใช่ความจริงทั้งหมด แต่เป็นการทำเพื่อหวังผลทางดราม่าโดยขาดความซื่อตรงต่อทั้งซับเจ็กต์และคนดู
3. หลีกเลี่ยงการเล่าเรื่องแบบดึงดราม่าเร้าอารมณ์หรือตีฟูเกินจริง
แม้หลายครั้งคนทำหนังสารคดีจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเพิ่มดราม่าให้กับเรื่องที่เล่า เพื่อให้หนังสามารถสั่นสะเทือนความรู้สึกของคนดูได้มากขึ้น แต่สิ่งที่ควรระวังคือ อย่าให้การกระทำนั้นกลายเป็นการบิดเบือนความจริง สร้างดราม่าล้นเกิน หรือขยายประเด็นเกินจริงไปไกล (ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจเกิดได้ทั้งจากการตัดต่อ การใช้ดนตรี การชี้นำให้ซับเจ็กต์พูด ฯลฯ) จนอาจทำให้ผู้ชมเกิดบทสรุปหรือความเข้าใจที่ง่ายและตื้นเขินเกินไป กลายเป็นการลดทอนความซับซ้อนของบุคคลและเรื่องราวนั้น ๆ
สิ่งที่คนทำสารคดีควรทำ มีอาทิ
ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการที่ไม่ง่าย แต่สำคัญจนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ คนทำสารคดีต้องหมั่นตรวจสอบการทำงานของตนอยู่ตลอดเวลา เพราะดังที่กล่าวไว้ในตอนต้นว่า สารคดีนั้นมีอำนาจในการถ่ายทอดชีวิตของคนอื่นและกำหนดว่าคนดูหรือสังคมจะได้รับรู้เรื่องราวของคนเหล่านั้นอย่างไร หากคนทำสารคดีมีความละเอียดอ่อน มีความเคารพคนอื่น เต็มใจจะมอบอำนาจการเล่าเรื่องให้แก่ผู้ที่เป็นจุดศูนย์กลางของเรื่องราว และกล้าที่จะท้าทายคนดูให้เปิดรับประเด็นที่ซับซ้อน ผลงานที่ได้ก็จะสามารถสะท้อนประสบการณ์ของมนุษย์ได้อย่างมีหัวจิตหัวใจ ทำให้มนุษย์ในหนังไม่ได้เป็นเพียงสิ่งน่าดูน่ามอง แต่เป็นเจ้าของเรื่องราวที่คู่ควรกับความสนใจและความเข้าใจอย่างแท้จริง
โครงการพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านภาพยนตร์สารคดี
ได้รับการส่งเสริมจาก กองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม
Documentary Club is a group of film lovers dedicated to creating diverse spaces in Thailand for alternative films, especially documentaries. We do this by distributing films through various channels, organizing film screenings, hosting film festivals, and arranging discussion forums, in collaboration with partners from both the film industry and social sectors across the country.
Movies Matter Co.,Ltd.
Bangkok, Thailand