World Press Photo ประกาศถอดเครดิต ‘นิค อึ๊ต’ จากการเป็น ‘ผู้ถ่ายภาพ Napalm Girl’ แล้ว!

5 วันที่แล้ว เราเพิ่งพูดถึง ข่าวหนังสารคดีเรื่อง The Stringer ที่เปิดเผยว่า ตากล้องผู้ถ่ายภาพเด็กหญิงวิ่งหนีระเบิดนาปาล์มในสงครามเวียดนามปี 1972 อันโด่งดังนั้น หาใช่ นิค อึ๊ต ช่างภาพข่าวของ AP ชาวเวียดนาม-อเมริกันที่ครองเครดิตนี้มากว่า 50 ปีไม่ แต่คนถ่ายภาพนี้ตัวจริงคือ เหงวียน แท่ญ เหงะ ตากล้องฟรีแลนซ์ชาวเวียดนามซึ่งได้เงินจาก AP ไปแค่ 20 ดอลลาร์และไม่เคยได้รับการจดจำใด ๆ อีกเลย
 
ต่อมา ทาง AP ได้เปิดผลการตรวจสอบเป็นการภายในถึง 2 ครั้งว่า แม้จะพบรายละเอียดน่าสงสัย แต่ก็ยังไม่เจอหลักฐานชัดว่านิด อึ๊ตไม่ใช่คนถ่าย จึงยังตัดสินใจให้เครดิตกับเขาต่อไป
 
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ทาง World Press Photo ออกมาประกาศผลการสอบสวนของตนเองแล้วว่า “เราพบว่ายังมีข้อสงสัยเรื่องผู้ถ่ายภาพ หลักฐานที่มีชี้ว่ามีความเป็นไปได้สูงว่า เหงวียน แท่ญ เหงะเป็นคนถ่าย และยังพบอีกว่า อาจมีความเป็นไปได้เช่นกันว่า (ตากล้องอีกคนหนึ่งชื่อ) เหวียนกงฟุก อาจอยู่ในตำแหน่งที่ดีกว่าในการถ่ายภาพนี้ด้วย
 
“ทาง AP สรุปว่าเนื่องจากไม่มีหลักฐานชัดเจนว่านิค อึ๊ต ไม่ได้ถ่ายภาพนี้ จึงควรคงการให้เครดิตเขาไว้ แต่ที่ World Press Photo เราเลือกแนวทางที่ต่างออกไป ตามขั้นตอนการตัดสินของเรา เราสรุปว่าข้อสงสัยมีมากเกินกว่าจะคงการให้เครดิตเดิมไว้ได้ แต่ในขณะเดียวกัน เพราะยังขาดหลักฐานชัดเจนที่ชี้ว่าใครเป็นช่างภาพตัวจริง เราจึงไม่สามารถให้เครดิตใหม่กับใครได้เช่นกัน”
 
ในการนี้ World Press Photo ตัดสินใจดำเนินการสองอย่าง หนึ่งคือ ยกเลิกการระบุชื่อผู้ถ่ายภาพอย่างเป็นทางการ จนกว่าจะมีหลักฐานใหม่ที่ชัดเจนพอจะยืนยันหรือปฏิเสธการเป็นเจ้าของผลงานดั้งเดิมได้ และสอง กำหนดคำอธิบายใหม่ของภาพนี้ไว้ตามนั้นเพื่อให้รู้ทั่วกัน
 
ย่อหน้าสุดท้ายของแถลงการณ์น่าสนใจ มันเขียนไว้ว่า “บางคนอาจถามว่า ทำไมต้องมารื้อฟื้นเรื่องภาพที่ถ่ายมากว่า 50 ปีแล้วด้วย คำตอบอยู่ที่ความรับผิดชอบของเราในฐานะองค์กรอายุ 70 ปีที่วางมาตรฐานให้วงการภาพข่าว ในยุคที่เต็มไปด้วยข่าวปลอม ความขัดแย้ง การบิดเบือนสื่อ และความเชื่อมั่นของสาธารณชนที่ลดลง การทบทวนวิธีที่เรามองเรื่องการเป็นเจ้าของผลงาน หลักฐาน และความรับผิดชอบทางจริยธรรมไม่ใช่แค่เรื่องสำคัญ แต่เป็นสิ่งจำเป็น”
 

สรุปประเด็นสำคัญจากการสืบสวนของ World Press Photo :

1. ความเป็นมาของภาพนี้

ภาพอันโด่งดังนี้ถูกถ่ายเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 1972 ขณะที่นักข่าวกว่าสิบคนมารวมตัวกันใกล้เมืองตรังบัง ทางตะวันตกเฉียงเหนือของไซ่ง่อน เพื่อรายงานการสู้รบอย่างหนักระหว่างกองทัพเวียดนามเหนือ (NVA) และกองกำลังเวียดนามใต้ (ARVN) การสู้รบรุนแรงปะทุขึ้นใกล้ ๆ ขณะที่นักข่าว ช่างภาพ และทีมโทรทัศน์ตั้งตำแหน่งที่ด่านตรวจทางทหารริมทางหลวงหมายเลข 1 ซึ่งพลเรือนและทหาร ARVN จากกองพลที่ 25 ได้รวมตัวกัน พวกเขาเห็นเครื่องบิน A-1 Skyraider จากฝูงบิน 518 ของกองทัพอากาศเวียดนาม ทิ้งระเบิดนาปาล์มลงมาโดยพลาดเป้าหมาย ถูกกำลังพลของตัวเองและพลเรือนที่พยายามหนีการสู้รบ ในกลุ่มเด็กที่หนีมามี ฟาน ถิ คิม ฟุก อายุเก้าขวบด้วย ภาพของเด็กหญิงที่เปลือยกายกำลังร้องไห้และถูกสะเก็ดไฟอย่างรุนแรง เป็นภาพที่บันทึกความสยดสยองของสงคราม ภาพนี้ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลกและส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อมุมมองของคนทั่วโลกที่มีต่อสงคราม

2. วิธีการสืบสวน

World Press Photo สั่งการให้มีการวิเคราะห์เชิงสืบสวน โดยให้ความสำคัญกับภาพถ่ายและวัสดุฟิล์มมากกว่าคำให้การของพยานที่เล่าย้อนหลัง แม้จะนำคำให้การเหล่านั้นมาพิจารณาด้วยก็ตาม พยานและแหล่งข้อมูลที่เป็นไปได้หลายคนเสียชีวิตไปแล้ว

ขั้นตอนสำคัญในการประเมินผู้ถ่ายภาพคือ การระบุว่าใครอยู่ในที่เกิดเหตุ การโจมตีด้วยนาปาล์มและเหตุการณ์ที่ตามมาถูกบันทึกภาพไว้โดยกลุ่มนักข่าวขนาดใหญ่ มีการระบุตัวบุคคล 16 คนในที่เกิดเหตุ รวมถึงช่างภาพ ทีมโทรทัศน์อย่างน้อยสามทีม และนักข่าวหนังสือพิมพ์ที่รายงานการสู้รบในและรอบ ๆ ตรังบังในวันนั้น

การยืนยันว่าใครอยู่ในที่เกิดเหตุและอยู่ตำแหน่งไหน เป็นพื้นฐานสำหรับการวิเคราะห์หลักฐานทางภาพและประเมินข้อกล่าวอ้างเรื่องผู้ถ่ายภาพที่ขัดแย้งกัน มีการตรวจสอบข้อมูลจากหอจดหมายเหตุข่าว ภาพถ่าย ฟุตเทจฟิล์ม และบันทึกส่วนตัว มีการสร้างไทม์ไลน์บนพื้นฐานทางภูมิศาสตร์โดยใช้ภาพและภาพถ่ายดาวเทียม มีการประเมินด้านเทคนิค รวมถึงรุ่นกล้องและรอยบากในคอนแท็กชีต และรวบรวมข้อเสนอแนะตลอด 5 เดือนจาก AP, INDEX (*กลุ่มนักวิจัยในปารีส ซึ่งเป็นคนวิจัยภาพนี้ให้กับสารคดีเรื่อง The Stringer), คนทำหนัง และผู้เชี่ยวชาญภายนอกด้านการถ่ายภาพและการวิจัยเอกสาร

3. ประเด็นที่ยังไม่ได้ข้อสรุป

3.1 ตำแหน่งของอึ๊ต

ข้อค้นพบชี้ว่า เหงวียน แท่ญ เหงะน่าจะอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้กว่าทั้งในแง่เวลาและสถานที่ที่ถ่ายภาพ มีภาพยืนยันตำแหน่งของอึ๊ตก่อนและหลังถ่ายภาพนี้ที่แสดงว่าเขาอยู่ไกลกว่าเหงวียน

INDEX และ AP เห็นตรงกันว่า อึ๊ตอยู่ไกลจากที่เกิดเหตุ (เมื่อดูจากตำแหน่งที่เขาปรากฏตัวครั้งแรกในฟิล์ม หลังจากถ่ายภาพแล้ว) การจำลองของ INDEX ชี้ว่าเป็นไปได้ยากมากที่เขาจะถ่ายภาพดังกล่าวได้ เพราะแปลว่าเขาต้องวิ่งไกลถึง 60 เมตรแล้วกลับมาจุดเดิมได้ทันภายในช่วงเวลาสั้น ๆ

ทาง AP โต้แย้งความถูกต้องของตัวเลข 60 เมตรนี้ และกล่าวว่าระยะทางจริงสั้นกว่านั้น พวกเขาโต้แย้งว่าการเคลื่อนที่ของอึ๊ตเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เพียงแต่ไม่มีฟุตเทจหรือภาพที่ใครถ่ายไว้ให้เห็น

ส่วนการวิเคราะห์ของ World Press Photo พบว่าการเคลื่อนที่นั้นไม่น่าจะเป็นไปได้ ไม่ว่าระยะทางจะเป็น 30 เมตรหรือ 60 เมตร อย่างไรก็ตาม มันก็อาจจะเป็นไปได้เช่นกัน ยังไม่มีหลักฐานจึงยังต้องเปิดคำถามนี้กว้างไว้ก่อน

3.2 เบาะแสทางเทคนิค

ข้อค้นพบของ AP เรื่องที่ว่าภาพนี้ถ่ายโดยการใช้กล้อง Pentax ซึ่งสอดคล้องกับอุปกรณ์ของเหงวียน ขณะที่อึ๊ตนั้นเคยอธิบายไว้อย่างเปิดเผยกว้างขวางไปแล้วว่า เขาใช้ Leica สองตัวและ Nikon อีกสองตัว สิ่งนี้ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับการเป็นผู้ถ่ายภาพของเขาและสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของเหงวียน

3.3 ผู้ถ่ายภาพที่เป็นไปได้อีกคน

ปัจจัยสำคัญสำหรับ World Press Photo คือการสืบสวนโดยสำนักข่าว AP นั้นเผยด้วยว่า การถกเถียงเรื่องผู้ถ่ายภาพอาจไม่จำกัดอยู่แค่ช่างภาพ 2 คนนี้ แต่ยังมี เหวียนกงฟุก ช่างภาพทหารชาวเวียดนาม ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าส่งภาพให้สำนักข่าวเช่นกันและไม่เคยถูกตรวจสอบต่อสาธารณะมาก่อน ฟุกเคยถูกระบุตัวผิดว่าเป็นอึ๊ตในอดีต และตัวเขาก็ปรากฏให้เห็นในฟุตเทจวิดีโอในตำแหน่งที่ใกล้ที่สุด ทั้งในแง่เวลาและพื้นที่กับมุมมองโดยประมาณของภาพ Napalm Girl

(เอกสารต้นฉบับ : Summary of investigative analysis)

โครงการพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านภาพยนตร์สารคดี

ได้รับการส่งเสริมจาก กองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม

More news