สารคดีแฉ ‘ภาพ Napalm Girl’ สุดดังอาจถูกขโมยเครดิตมา 50 ปี!

หนึ่งในหนังสารคดีที่เปิดตัวในซันแดนซ์เมื่อต้นปีและสร้างความฮือฮาเป็นพิเศษก็คือ The Stringer ของ เบาเหงียน ผู้กำกับชาวเวียดนาม ซึ่งเปิดเผยว่าภาพถ่ายเด็กหญิงเวียดนามเปลือยกายวิ่งหนีระเบิดนาปาล์มกลางถนนในปี 1972 อันถูกถือเป็นภาพที่ทรงอิทธิพลที่สุดภาพหนึ่งในช่วงศตวรรษที่ผ่านมานั้น อาจไม่ใช่ผลงานของช่างภาพที่ได้รับเครดิตมาทั้งชีวิต

ตัวสารคดีเล่าถึงการสืบสวนยาวนาน 2 ปีเต็มของทีมนักข่าว The VII Foundation โดยจุดเริ่มต้นมาจากอีเมลของ คาร์ล โรบินสัน อดีตบรรณาธิการภาพสำนักข่าว AP ที่เคยประจำอยู่ไซ่ง่อน ปัจจุบันเขาอายุเฉียด 80 ปีแล้วและต้องการ “เปิดเผยสิ่งที่ถูกปิดบังมานานกว่า 50 ปีเสียที” เขาบอกว่า ภาพ Napalm Girl ที่โลกรับรู้มาตลอดว่าเป็นผลงานของ นิค อึ๊ต ช่างภาพประจำของ AP ชาวเวียดนาม-อเมริกันวัย 21 ปี (ในตอนนั้น) จริง ๆ แล้วอาจจะถ่ายโดย เหงวียน แท่ญ เหงะ ช่างภาพฟรีแลนซ์ชาวเวียดนามซึ่งได้เงินจาก AP ไปแค่ 20 ดอลลาร์และไม่เคยได้รับการจดจำใด ๆ อีกเลย

ในหนังมีการพาดพิงชื่อ ฮอร์สต์ ฟาส ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายภาพของ AP ในเอเชียและเป็นคนตัดสินใจยกเครดิตภาพนี้ให้แก่นิค อึ๊ต ด้วยเหตุผลว่า “เขาเป็นพนักงานของเรา เราคุมได้” ซึ่งสะท้อนให้เห็นโครงสร้างการทำงานที่ให้ค่าแก่พนักงานประจำมากกว่าฟรีแลนซ์ท้องถิ่น นิค อึ๊ตได้รางวัลพูลิตเซอร์จากงานชิ้นนี้ ขณะที่เหงวียนไม่เคยได้รับรางวัล ไม่เคยมีชื่ออยู่ในพิพิธภัณฑ์ มีแค่ลูกสาวของเขาที่เล่าให้ฟังในหนังว่า “ครอบครัวเราไม่เคยลืมสิ่งที่เกิดขึ้นเลย”

อย่างไรก็ตาม หลังจากหนังเปิดตัวไม่กี่สัปดาห์ AP ก็ออกแถลงการณ์รอบแรกว่าเรื่องนี้ไม่มีหลักฐานยืนยัน และล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็เพิ่งปล่อยรายงานสืบสวนยาว 96 หน้าออกมายืนยันซ้ำอีกว่า ทางสำนักข่าวตัดสินใจจะไม่เปลี่ยนเครดิตผู้ถ่าย เพราะแม้จะมีข้อมูลแปลก ๆ (เช่น กล้องที่ใช้ถ่ายภาพนี้คือ Pentax ไม่ใช่ Leica ตามที่นิคเคยเล่า) แต่ขณะเดียวกันก็ยังไม่พบหลักฐานที่จะหักล้างเครดิตของนิคได้อยู่ดี (รายงานบอกด้วยว่า ในบรรดาคน 10 คนที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้น มีเหงวียนคนเดียวที่ยืนยันว่านิคไม่ใช่คนถ่าย)

เดิร์ล แมคครัดเดน รองประธาน AP กล่าวสรุปว่า “เราจะเปลี่ยนเครดิตก็ได้ สำหรับเราแล้วมันไม่ได้ต่างอะไรกันหรอก แต่การจะทำแบบนั้นมันต้องมีข้อเท็จจริงรองรับก่อน ซึ่งตอนนี้ยังไม่มี”

โครงการพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านภาพยนตร์สารคดี

ได้รับการส่งเสริมจาก กองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม

More news