“ผมนับถือลัทธิมาร์กซ์หมดทั้งใจ” – แบร์นาโด แบร์โตลุชชี่

แบร์นาโด แบร์โตลุชชี่ เป็นคนทำหนังที่พูดเรื่องสังคมและการเมืองในหนังเสมอ ไม่ว่าจะ Before the Revolution (1964) ซึ่งว่าด้วยคอมมิวนิสต์ในอิตาลี, The Last Emperor (1987) การเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งใหญ่ในจีน, The Conformist (1970) นายตำรวจยุคฟาสซิสม์อิตาลี หรือ The Dreamers (2003) ที่มีฉากหลังเป็นการปฏิวัติโดยนักศึกษาชาวฝรั่งเศส แบร์โตลุชชี่ไม่เคยปิดบังว่าเขาสนใจและฝักใฝ่การเมืองสังคมโลก ทั้งยังพร้อมจะถ่ายทอดมันผ่านศิลปะอันสวยงามของโลกภาพยนตร์

“ผมนับถือลัทธิมาร์กซ์หมดทั้งใจ หมดทั้งความหลงใหล หมดทั้งความหวังที่ชนชั้นกลาง (bourgeois) สักคนหนึ่งจะมีให้แก่ลัทธิมาร์กซ์ได้” เขาว่า “ความเจ็บปวดร้าวรานอย่างหนึ่งของการเป็นชนชั้นกลางก็คือ พวกเขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่สิ้นหวังและรู้สึกผิดอยู่เสมอ

“ประเด็นของชนชั้นกลางจึงเป็นเรื่องที่ผมอยากสำรวจมาตลอด ทั้งใน Agonia (ตอนหนึ่งในหนังสั้นรวมผู้กำกับเรื่อง Love and Anger ปี 1969), The Spider’s Stratagem (1970) หรือ The Conformist… ทั้งหมดนี้เป็นหนังว่าด้วยความตายของชนชั้นกลางทั้งนั้น”

The Dreamers

แบร์โตลุชชี่สนใจการเมืองฝั่งซ้าย และเมื่อเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติเดือนพฤษภาคมปี 1968 ในฝรั่งเศส เขาก็ได้กลายมาเป็นหนึ่งในผู้เคลื่อนไหวเรียกร้องความเท่าเทียมและประกาศตัวเป็นสมาชิกองค์กรคอมมิวนิสต์ “ผมเข้ามาเป็นสมาชิกเพราะเข้าใจดีว่าเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 68 นั้นเป็นยังไง ผมเข้าใจความรู้สึกของพวกปัญญาชน คนทำหนัง ของเพื่อนผมที่ออกตัวเคลื่อนไหวต้านคอมมิวนิสต์ ทั้งหมดเลย”

ประเด็นนี้ถูกสำรวจอย่างละเอียดและดุเดือดใน The Dreamers ซึ่งทันทีที่ออกฉาย นอกจากฉากเซ็กซ์เร่าร้อนจนคนแทบช็อคคาโรง ทัศนคติด้านการเมืองของแบร์โตลุชชี่ก็ยังถูกนักวิจารณ์นำมาเทียบเคียงกับเหล่าตัวละครอย่าง เทโอ (หลุยส์ การ์เรล) หนุ่มน้อยผู้หลงใหลในการปฏิวัติและเชื่อว่าการตอบโต้ด้วยความรุนแรงคือคำตอบ แต่ก็ถูกคัดค้านโดย แมตทิว (ไมเคิล พิตต์) เพื่อนชาวอเมริกันที่กำลังหลงรัก อิซาเบลล์ (เอวา กรีน) น้องสาวฝาแฝดของเทโอที่มีสัมพันธ์ประหลาดกับพี่ชายของตัวเอง

และทั้งหมดนี้ -ไม่ว่าจะเรื่องความสัมพันธ์หรือการเมือง- ได้นำทั้งสามไปสู่ปากเหวอันน่าตระหนกของการเปลี่ยนแปลงในที่สุด

The Dreamers เป็นหนังที่ถูกยกมาศึกษาบ่อยครั้ง ในแง่ที่มันพูดเรื่องการเมืองอย่างเซ็กซี่และเปี่ยมด้วยเหลี่ยมมุมคมคาย ทั้งยังใช้อธิบายมนุษย์และสังคมได้เสมอไม่ว่าเวลาจะผ่านมากี่ปี 

The Dreamers

คนหนุ่มสาว เซ็กซ์ การเมือง และภาพยนตร์ โดยมีปารีสแสนรักเป็นฉากหลัง …องค์ประกอบเหล่านี้ทำให้ The Dreamers ได้รับการขนานชื่อเล่นว่า “First Tango in Paris” (ล้อ Last Tango in Paris หนังอื้อฉาวของแบร์โตลุชชี่เอง)

The New Yorker เขียนไว้ว่า “The Dreamers ทั้งจัดจ้านและเหงาซึม กล้าหาญและลอยล่อง เซ็กซี่และขี้เล่น อ่อนไหวและลึกซึ้ง ทั้งมีคติสอนใจและไร้บทสรุป – หรือกล่าวโดยย่อ มันคือแบร์โตลุชชี่ขนานแท้”

นั่นยังรวมถึงการที่มันเล่าเรื่องในปารีสปี 1968 ท่ามกลางความคุกรุ่นของเหตุการณ์ประท้วงของนักศึกษา ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่แบร์โตลุชชี่ติดตามอย่างหลงใหล แม้หนังจะดัดแปลงจากนิยายดังของ กิลเบิร์ต อาแดร์ แต่เขาก็ “เปลี่ยนตัวหนังสือในนั้นให้กลายเป็นภาพของผมแทน ผมบอกกิลเบิร์ตว่าอย่าเคืองกันนะที่ผมไม่ซื่อสัตย์ต่อต้นฉบับ เพราะหนังมันเป็นคนละสิ่งกับหนังสือ กิลเบิร์ตตอบว่า อย่าซื่อสัตย์เลย โยนความซื่อสัตย์ทิ้งไปซะเถอะ”

แม้แบร์โตลุชชี่จะอายุ 62 แล้วตอนทำหนังเรื่องนี้ แถมยังเป็นหนังย้อนยุค แต่มันไม่ใช่หนังประเภท “คนแก่รำลึกถึงวัยรุ่นของตัวเอง” แน่ๆ …เขาบอกว่า “ฉากสุดท้ายของหนังยังสะท้อนความเจ็บแค้นของคนหนุ่มสาวทุกยุคทุกสมัย ในปี 1968 นั้นพวกเขาใช้ชีวิต มีเซ็กซ์ และประท้วงด้วยความเชื่อว่าโลกต้องดีขึ้น และพวกเขาจะเป็นส่วนหนึ่งในอนาคตอันงดงาม

“ทว่าโลกเราปัจจุบันไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้ว ผมจึงอยากให้ The Dreamers แบ่งปันความหวังที่เรามีแก่คนหนุ่มสาวทุกวันนี้”

แบร์โตลุชชี่เป็นกวีมีหนังสือรวมเล่มตอนอายุ 20 และเป็นคนทำหนังตอนอายุ 22 เขาเริ่มโด่งดังระดับโลกจาก The Conformist ตอนเขาอายุ 29 และอีก 17 ปีต่อมาก็คว้าออสการ์ผู้กำกับยอดเยี่ยมจาก The Last Emperor

แต่ประสบการณ์ขนาดนี้ไม่ได้ “เร่งสีเร่งโต” แก่แบร์โตลุชชี่อย่างที่เราอาจคิด พ่อของเขาเป็นกวีชื่อดังซึ่งอายุยืนถึง 90 “การมีพ่อที่อายุยืนปานนั้น ย่อมแปลว่าเรายังคงอยู่ในสถานะลูกอยู่เสมอไม่ว่าเราจะอายุเท่าไหร่หรือทำอะไรมา จนเมื่อพ่อผมตายนั่นแหละ ผมถึงรู้สึกว่าตัวเองโตขึ้น แต่ตอนนั้นผมก็กลายเป็นชายชราอายุ 60 เข้าไปแล้ว ผมเลยรู้สึกเหมือนตัวเองเปลี่ยนจากวัยรุ่นมาเป็นคนแก่เลย โดยไม่เคยผ่านช่วงวัยผู้ใหญ่”

“ผมเรียนรู้ทุกอย่างในชีวิตนี้จากพ่อ แม้พ่อจะไม่เคยอวดโอ่ด้วยการบอกว่าตัวเองเป็นครูของลูกก็เถอะ แต่พ่อสนับสนุนผมสุดตัวเสมอ พ่อรักหนังของผมทุกเรื่อง – ยกเว้นเรื่องเดียว ตอนพ่อดู Last Tango in Paris จบ พ่อมาหาผมทันที หน้าซีด ตัวสั่นไปหมด แล้วพูดว่า ‘แกบ้าไปแล้วเหรอเนี่ย แกทำอะไรลงไป’ เพราะพ่อคิดว่าบ้านเราทั้งบ้านต้องโดนจับติดคุกเพราะผมแน่ๆ”

The Dreamers

ปลายยุค 60 ร้อยต่อมายังต้นยุค 70 ได้รับการขนานนามว่าเป็นช่วงเวลาที่เสรีภาพผลิบานพร้อมยาเสพติดและเซ็กซ์ ในฝรั่งเศสเกิดเหตุการณ์สำคัญอย่างการปฏิวัติเดือนพฤษภาคมปี 1968 ที่นักศึกษาและแรงงานปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อเรียกร้องสิทธิอันพึงมี ไปพร้อมๆ กันกับการเติบโตของแวดวงภาพยนตร์และดนตรี

“หนังของผมทุกเรื่องเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ผมสนใจ และมีบางส่วนเสี้ยวในตัวผมปรากฏร่วมอยู่ด้วยเสมอ สำหรับ The Dreamers มันคือหนังกึ่งอัตชีวประวัติก็ว่าได้ ในแง่ที่ผมผูกพันกับเหตุการณ์ในปี 1968 ของปารีสมาก มันเป็นช่วงเวลาที่คนหนุ่มสาวทั้งหลายเต็มไปด้วยความตื่นเต้น เมื่อเราเข้านอน เรารู้ว่าเราจะไม่แค่ลืมตาตื่นขึ้นมาใน ‘วันพรุ่งนี้’ แต่เราจะตื่นขึ้นมาพบกับ ‘อนาคต'” แบร์โตลุชชี่กล่าว “และความพิเศษของเหตุการณ์นี้ก็คือ ก่อนจะกลายเป็นการประท้วงใหญ่ของประชาชนต่อรัฐนั้น จริงๆ แล้วมันเริ่มต้นด้วยการประท้วงของนักศึกษา ครูอาจารย์และคนบ้าหนังกลุ่มเล็กๆ หลังจากได้ข่าวว่าผู้ดูแลซีเนมาเตกในปารีสโดนรัฐไล่ออก ภาพยนตร์มันมีสำคัญต่อชีวิตผู้คนในเวลานั้นจริงๆ

“ยุคนั้น เซ็กซ์เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกับการเมือง ดนตรีและภาพยนตร์ ทุกสิ่งล้วนเกี่ยวเนื่องกัน และผมคิดว่ามันช่างเป็นสิทธิพิเศษที่ได้มีชีวิตอยู่ในห้วงการเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้น ได้เป็นส่วนหนึ่งของความฝันอันแสนทะเยอทะยานในการอยากจะเปลี่ยนแปลงโลก ความรู้สึกถึงอนาคตปรากฏอยู่ในทุกสิ่งของยุคสมัยนั้น ทั้งการเมือง, ภาพยนตร์, ดนตรี ฯลฯ โดยภาพยนตร์นี่แหละคือส่วนผสมที่สำคัญมากๆ

“นั่นเป็นครั้งแรกที่ตำรวจใช้ความรุนแรงเข้าปราบประชาชน และมันก็ส่งผลให้การประท้วงแบบนี้เริ่มแพร่ขยายไปยังเมืองและสถาบันการศึกษาอื่นๆ ทั่วยุโรป จนผมอยากจะพูดว่า ชีวิตของพวกเราก่อนปี 68 และหลังปี 68 ต่างกันสิ้นเชิง ก่อนปี 68 ชีวิตประจำวันของเราถูกครอบงำควบคุมโดยรัฐและมีผู้มีอำนาจ แต่การประท้วงในปี 68 คือการที่คนหนุ่มสาวลุกขึ้นท้าทายอำนาจเหล่านั้น เด็กๆ ลุกขึ้นท้าทายพ่อแม่ของตัวเอง และความเป็นขบถเช่นนี้คือพลังและความเชื่อที่ถูกส่งทอดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน หลายคนคิดว่าการเคลื่อนไหวครั้งนั้นเป็นความผิดพลาดและล้มเหลว แต่ไม่ใช่เลย พูดแบบนั้นมันไม่แฟร์ เพราะมันคือการปฏิวัติที่สำคัญและส่งผลต่อสังคมในเวลาต่อมาอย่างรุนแรง

“สำหรับผม การเมือง จิตวิญญาณ และเซ็กซ์ ล้วนเกี่ยวข้องกันและคือภาพสะท้อนของชีวิตคน …ใน The Dreamers เซ็กซ์เป็นทั้งการค้นพบและการปฏิวัติ มีคำขวัญหนึ่งที่การประท้วงบนถนนในช่วงนั้นชอบใช้ คือ ‘คำสั่งห้าม เป็นสิ่งต้องห้าม’ และ ‘จงตั้งมั่นอยู่ในความเป็นจริง และร่ำร้องหาสิ่งอันเป็นไปไม่ได้’

นั่นล่ะครับคือหัวใจของหนังเรื่องนี้”