(Photo Credit: “JR” by Mohamed Nanabhay from Wikimedia Commons)
1) “งานของผมไม่ต้องส่งให้หอศิลป์พิจารณาว่าดีพอจะได้โชว์ไหม ไม่ต้องขออนุญาตรัฐว่ามีคุณค่าพอจะจัดแสดงหรือไม่ ผมทำงานกับถนน ผมขออนุญาตผู้คน งานของผมเป็นของประชาชน ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง” นั่นคือหัวใจของงานภาพถ่ายใหญ่ยักษ์บนผนังของ “เจอาร์”
2) เขาเริ่มทำงานศิลปะตอนอายุ 15 โดยเริ่มจากงานกราฟฟิตีจนอายุ 17 เขาได้กล้องถูกๆ มาตัวหนึ่งซึ่งเปลี่ยนมุมมองที่เขามีต่อสตรีตอาร์ตไปสิ้นเชิง เขาหันมาถ่ายภาพ แต่ยังรักษาเอกลักษณ์ของกราฟฟิตีไว้ นั่นคือการอาศัยผนังตั้งแต่บนยอดตึกไปยันใต้ดินเป็นพื้นที่ประกาศตัวตน
3) ปี 2004 เกิดการประท้วงในฝรั่งเศส เจอาร์เอากล้องออกไปถ่ายใบหน้าชาวบ้านผู้เข้าประท้วง แล้วเกิดแรงบันดาลใจพรินต์มันเป็นขนาดใหญ่แปะทั่วเมืองเพื่อให้ทุกคนหันมาสนใจ …โดยนึกไม่ถึงว่า มันได้กลายเป็นงานแจ้งเกิดที่ทำให้เขาค้นพบหนทางเชื่อมโยงภาพถ่ายกับผู้คนตัวเล็กตัวน้อยอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก
4) เขาชอบถ่ายใบหน้าคนด้วยเลนส์ไวด์ 28 มม. และเน้นการจับช่วงเวลาที่เจ้าตัวไม่ทันระวังตัว เพื่อให้ได้ความสมจริง มีความรู้สึก และแสดงบุคลิกของคนคนนั้นอย่างเป็นธรรมชาติ ในมุมที่คนอื่นๆ ไม่ค่อยได้เห็น
5) ช่วงแรกๆ เขาถูกนักวิจารณ์ดูแคลน ด้วยการบอกว่าเขาเป็นแค่ฮิปสเตอร์วอนนาบี และกะอีแค่ภาพถ่ายจะไปแก้ปัญหาโลกอะไรได้ แต่เจอาร์ไม่สนใจ เขาเดินทางทำงานไปทั่วท้องถนนด้วยความรู้สึกว่าตนคือเจ้าของ “อาร์ตแกลเลอรี่ที่ใหญ่ที่สุด” แล้วเชื้อเชิญผู้คนสามัญเข้ามามีส่วนร่วม งานง่ายๆ ที่กลับสื่อสารกับคนได้อย่างกว้างขวางทำให้เขาเริ่มได้รับว่าจ้างจากพิพิธภัณฑ์, หอศิลป์, สถาบันศิลปะ ฯลฯ ให้ทำงานให้ นั่นคือแหล่งรายได้ที่หล่อเลี้ยงให้เขากับทีมงานยังไปถ่ายภาพในประเทศต่างๆ ได้ตามใจชอบจนถึงทุกวันนี้
6) เหตุการณ์ที่ทำให้คนที่เคยดูถูกเจอาร์ไว้ต้องอึ้ง เกิดขึ้นในปี 2006 เมื่อเขาทำผลงานภาพถ่ายยักษ์ชื่อชุด Portrait of a Generation ในปารีส โดยแปะผนังแบบไม่ขออนุญาต (แปลว่าทำแบบผิดกฎหมาย) แต่แทนที่ Paris City Hall จะเอาผิด กลับประทับใจจนไปขอให้เขานำภาพถ่ายเหล่านั้นมาหุ้มห่อตัวอาคารไว้เลยทั้งหลัง!
7) สองปีถัดมาเขากับทีมงานเสี่ยงเข้าไปทำ “นิทรรศการผิดกฎหมายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก” ด้วยการติดตั้งภาพถ่ายชาวอิสราเอลคู่กับชาวปาเลสไตน์ขนาดยักษ์ในหลายเมืองของทั้งสองประเทศ งานนี้มีชื่อว่า Face 2 Face ซึ่งทำให้เขาโด่งดังไปทั่วโลกทันที
8) ด้วยการผสมผสาน “ภาพถ่ายกับการแสดง” และ “ศิลปะกับสามัญชน” ทำให้เริ่มมีเสียงเรียกร้องจากคนหลายกลุ่มให้เขาเดินทางไปเยี่ยมเยือน เจอาร์จึงริเริ่มโครงการ InsideOut ด้วยการชวนกลุ่มคนที่มีประเด็นอยากสื่อสารกับโลก ถ่ายภาพตนเองแล้วส่งไปให้เขาพรินต์ที่ฝรั่งเศส และส่งกลับมาเพื่อให้เจ้าของงานติดตั้งเอง โปรเจ็กต์นี้ประสบความสำเร็จถล่มทลาย ขยายแนวคิด “เปลี่ยนโลกด้วยเสียงของคนธรรมดา” นี้ไปสู่ทั้งยุโรป, สหรัฐอเมริกา, แอฟริกา, ตะวันออกกลาง และหลายประเทศในเอเชีย
9) ไม่บ่อยนักที่ศิลปินสักคนจะสามารถใช้ศิลปะเรียบง่ายเป็นเครื่องมือถ่ายทอดการดำรงอยู่ของ “คนที่เคยไร้ใบหน้า” ได้อย่างทรงพลังเช่นนี้ ปี 2011 เจอาร์จึงได้รับรางวัล TED ในฐานะศิลปินผู้สร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้คนรุ่นใหม่อย่างมหาศาล
10) เขาเกิดวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ปี 1983 นับถึงตอนนี้กำลังจะอายุ 35 ปี ชื่อจริงของเขาคือ ฌ็อง เรอเน
Movies Matter Co.,Ltd / THAILAND
© All Rights Reserved 2024
subscribe to newsletter to stay up to date with our films & events