
Docufiction : สารคดีผสมเรื่องแต่ง เมื่อชีวิตแสดงเป็นตัวเอง
ตั้งแต่ยุคที่สารคดีเพิ่งเริ่มต้น คนทำหนังก็ไม่เกรงกลัวที่จะนำเรื่องแต่งมาผสมกับข้อเท็จจริงแล้ว ตัวอย่างที่โด่งดังคลาสสิกที่สุดหนีไม่พ้น Nanook of the North (1922) ของ โรเบิร์ต ฟลาเฮอร์ตี้ ซึ่งยังคงเป็นที่ถกเถียงจนถึงทุกวันนี้ว่ามันเป็นสารคดี เป็นการแสดงซ้ำ เป็นการจัดฉาก หรือเป็นทุกอย่างที่ว่ามานี้กันแน่
จุดประสงค์ของฟลาเฮอร์ตี้ในการทำหนังเรื่องนี้คือ การบันทึกวิถีชีวิตของชาวอินูอิตลงบนฟิล์มก่อนที่มันจะสูญหายไป ปัญหาอยู่ตรงทนี่ในทศวรรษ 1920 นั้นชาวอินูอิตปรับตัวตามวิถีของโลกยุคใหม่และหันมาล่าสัตว์ด้วยอุปกรณ์สมัยใหม่กันแล้ว แต่เพื่อจะบันทึกวิถีแบบเก่าให้ “เป็นของแท้” มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ฟลาเฮอร์ตี้ก็จำต้องโกง!
เขาให้ชาวอินูอิตมา “แสดงเป็นตัวเอง” ขณะใช้ชีวิตประจำวัน ล่าสัตว์และจับปลา โดยชาวบ้านต้องถอดเสื้อผ้าสมัยใหม่ออกและโยนปืนทิ้ง แล้วสวมชุดแบบดั้งเดิมและใช้ฉมวกแทน ส่วนบ้านแบบอิกลูที่จริง ๆ ก็ไม่มีใครเขาอยู่กันแล้วนั้น ฟลาเฮอร์ตี้ก็สั่งให้สร้างขึ้นใหม่และให้ใหญ่เกินจริงด้วย เพื่อที่จะตัดออกครึ่งหนึ่งให้แสงส่องเข้าถึงและนำกล้องเข้าไปถ่ายข้างในได้
หัวใจของ Docufiction ก็อยู่ที่ความขัดแย้งในตัวเองแบบนี้นี่แหละ มันเป็นหนังที่จับภาพช่วงเวลาจริงขณะที่เรื่องราวนั้น ๆ กำลังเกิดขึ้น แต่ถูกหล่อหลอมด้วยเจตนาและวิธีการทางศิลปะ คนที่เราเห็นในหนังไม่ใช่นักแสดงมืออาชีพ แต่เป็นอีกเวอร์ชันหนึ่งของตัวพวกเขาเอง (ซึ่งบางครั้งก็อาจจะถูกดัดแปลงไปจากความจริงนิด ๆ หน่อย ๆ ด้วย) และสถานการณ์ที่พวกเขาต้องเผชิญในหนังนั้นก็อาจเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น (โดยสะท้อนหรือเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ๆ) ด้วยเจตนาของคนทำหนังที่ต้องการ “เปิดเผยความจริงที่ลึกซึ้งกว่าการสังเกตการณ์แบบธรรมดา”
ลองมาดูตัวอย่างที่สองกัน
ตอนที่ ฌอง รูช เดินทางไปไนเจอร์ในปี 1957 เพื่อทำสารคดีเรื่อง Moi, Un Noir นั้น เขาได้พบกลุ่มชายหนุ่มหลายคนที่จำเป็นต้องทิ้งบ้านเกิดและครอบครัวในชนบทมาหาเลี้ยงชีพด้วยงานรับจ้างทั่วไปในเมืองอาบีจาน แต่แทนที่จะถ่ายชีวิตผู้คนเหล่านี้ไปตามที่ได้พบเห็นเฉย ๆ รูชกลับเลือกจะเล่าเรื่องของพวกเขาผ่านกระบวนการสร้างสรรค์แปลกใหม่ ด้วยการเชิญชวนให้พวกเขามาเข้ากล้อง แต่ให้แต่ละคนเรียกตัวเองด้วยชื่อดาราหรือตัวละครฮอลลีวูดดัง ๆ แทน (เช่น เอ็ดเวิร์ด จี โรบินสัน, เอ็ดดี้ คอนสแตนติน, ทาร์ซาน) จากนั้นรูชก็ตามถ่ายพวกเขาทั้งในยามใช้ชีวิตประจำวันจริง ๆ และในยามสวมบทแสดงอย่างสนุกสนาน ผลที่ได้นั้นน่าแปลกมาก เพราะมันกลับยิ่งทำให้เราคนดูสามารถซึมซับ “ความจริงแท้” เบื้องหลังชีวิตของชายหนุ่มเหล่านี้ได้อย่างลึกซึ้งขึ้นไปอีก
ในปี 1957 ยังมีตัวอย่างโดดเด่นอีกเรื่องหนึ่งคือ On the Bowery ที่ผู้กำกับ ไลโอเนล โรโกซิน ไปสำรวจย่านสลัมอันโด่งดังดังของแมนฮัตตัน เขาคัดเลือกคนไร้บ้าน คนติดเหล้า และคนชายขอบที่นั่นมารับบทเป็นตัวละครหลัก แล้วเขียนบทขึ้นจากเรื่องราวส่วนตัวของแต่ละคน จากนั้นก็ให้พวกเขามา “แสดง” อีกชั้นหนึ่งเพื่อให้กล้องถ่ายไว้ กลายเป็นสารคดีซ้อนทับเรื่องจริงอันว่าด้วยคนเหล่านี้ขณะใช้ชีวิตว่างเปล่าไปวัน ๆ ทั้งตามท้องถนน ในที่พักราคาถูก และบาร์
ในหนังยาวเรื่องแรกของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล คือ “ดอกฟ้าในมือมาร” (Mysterious Object at Noon, 2000) เป็นบทบันทึกการเดินทางจากภาคเหนือไปภาคอีสานและใต้ โดยตลอดทางเขาได้ชักชวนชาวบ้านที่พบเจอให้ผลัดกันเล่าเรื่องของครูดอกฟ้า เด็กชายพิการ และมนุษย์ต่างดาว เล่าส่งต่อกันไปเรื่อย ๆ ผลที่ได้คือเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดตามจินตนาการของผู้คนในแต่ละท้องถิ่น คู่ขนานไปกับภาพวิถีชีวิตจริงของพวกเขา
ตัวอย่างข้างบนนี้เป็นของหนังเรื่อง Rite of Spring (Acto da Primavera, 1963) ซึ่งเริ่มต้นจากการที่ ผู้กำกับ มาโนเอล เดอ โอลิเวียร่า ตั้งใจไปทำสารคดีว่าด้วยประเพณีท้องถิ่นในช่วงสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ (Holy Week) ที่ชาวนาจากหมู่บ้าน Curalha จะจัดแสดงเรื่องราวการทรมานของพระคริสต์ใหม่และท่องบทจากศตวรรษที่ 16 ในภาษาถิ่นด้วย แต่ไป ๆ มา ๆ เขากลับตัดสินใจเปลี่ยนวิธีเล่า ด้วยการจัดฉากการแสดงประเพณีนี้ขึ้นเอง แล้วนำมาผสมกับภาพเบื้องหลังของกองถ่ายและฉากจากชีวิตประจำวันของชาวบ้านเข้าไว้ด้วยกัน โดยอธิบายว่า “ผมเลือกจะประนีประนอมระหว่างการเป็นสารคดีและเรื่องแต่ง เพราะมันเป็นวิธีที่ทำให้ผมสามารถแสดงออกถึงพลังของการแสดงและความอบอุ่นของมนุษย์ได้ดีกว่า”
ในปี 2008 มิเกล โกเมซ (ผู้กำกับ Grand Tour) ทำหนังเรื่อง Our Beloved Month of August ซึ่งเริ่มด้วยการเป็นสารคดีที่ไปสังเกตการณ์ในภูมิภาคภูเขาของโปรตุเกส แล้วบันทึกกิจกรรมท้องถิ่น วงดนตรีพื้นบ้าน และประเพณีต่าง ๆ จากนั้นมันก็ค่อย ๆ เลื่อนไหลสู่เรื่องแต่งที่เกี่ยวกับพ่อและลูกสาว จนกระทั่งในตอนจบ เส้นแบ่งระหว่างสิ่งที่เป็นสารคดีและสิ่งที่เป็นเรื่องแต่งก็ซ้อนทับกันจนแยกไม่ออก
ความแตกต่างระหว่าง Docufiction, Docudrama และหนัง Based on True Story
สรุปได้ว่า Docufiction หมายถึงสารคดีที่บันทึกความจริงที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ๆ โดยใช้วิธีการแบบเรื่องแต่งเข้าไปช่วยเล่า หรือแทรกองค์ประกอบบางส่วนที่เป็นเรื่องแต่ง
ด้วยลักษณะของคำที่เป็นคำผสม ทำให้เรามักจะสับสนกับอีกคำหนึ่งที่หน้าตาคล้าย ๆ กัน แต่ความหมายไม่เหมือนกันเลย นั่นคือคำว่า “Docudrama” ซึ่งหมายถึง หนังที่นำเหตุการณ์ซึ่งเคยเกิดขึ้นจริงและผ่านไปแล้วมาเล่าอีกครั้ง โดยใช้นักแสดงมืออาชีพมารับบทคนที่เคยมีตัวตนอยู่จริง ตามบทที่ถูกเขียนขึ้นใหม่โดยอ้างอิงบางส่วนหรือจับเอาแก่นสารของคำพูดของตัวจริงมาใช้ และอาจมีการแต่งเติมเพื่อหวังผลทางอารมณ์หรือการเล่าเรื่องด้วย แต่โดยรวม ๆ มักหลีกเลี่ยงการปรุงแต่งและพยายามยึดติดกับข้อเท็จจริงเป็นหลัก
อ่านถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยต่อไปอีกว่า Docudrama ก็เหมือนกับหนังประเภทที่เรียกตัวเองว่า “Based on True Story – สร้างจากเรื่องจริง / อิงจากเหตุการณ์จริง” ใช่ไหม? ซึ่งคำตอบคือ ไม่ใช่
แม้จะเป็นการนำเรื่องจริงมาทำเป็นหนังเหมือนกัน แต่หนังสองกลุ่มนี้แตกต่างกันมากตรงที่ Docudrama นำเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์มาแสดงซ้ำให้เราได้เห็น โดยให้ความสำคัญแก่ความซื่อสัตย์ต่อประวัติศาสตร์ (แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะตีความประวัติศาสตร์ได้อย่างถูกต้องไปหมด และบางทีก็อาจจะมีการเพิ่มเติมเรื่องราวหรือรายละเอียดเข้าไปบ้างเพื่อเพิ่มอารมณ์ ดราม่า ชีวิตชีวาให้กับหนัง) ขณะที่คำว่า Based on True Story นั้นใช้กับหนังที่เล่าประวัติศาสตร์อย่างหลวม ๆ มีการใช้อิสระทางศิลปะในการตีความเรื่องราวมากกว่า อาจมีการแต่งเติมเรื่องหรือเพิ่มตัวละครต่าง ๆ เข้าไปอีกมากเพื่อผลทางการเล่าเรื่อง
เรามาดูตัวอย่างของเหตุการณ์จริงอย่างที่เคยถูกนำมาถ่ายทอดเป็นทั้งสารคดี (Documentary), Docufiction, Docudrama และหนัง Based on True Story มาแล้ว เพื่อให้มองเห็นความคล้ายและความต่างของแต่ละแนวทางชัดเจนขึ้น
Turning Point: 9/11 and the War on Terror (2021)
ซีรีส์สารคดีจาก Netflix กำกับโดย ไบรอัน แนพเพนเบอร์เกอร์ แบ่งเป็น 5 ตอน โดยนำเสนอเรื่องราวของเหตุการณ์เครื่องบินพุ่งชนตึกเวิลด์เทรดเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 และผลกระทบอันยาวนานหลายทศวรรษหลังจากนั้น
ตัวสารคดีครอบคลุมประเด็นสำคัญทั้งการบุกอัฟกานิสถานและอิรักของสหรัฐฯ สงครามต่อต้านการก่อการร้าย เรื่องราวของอ่าวกวนตานาโม การสอดแนมของรัฐบาล ไปจนถึงการล่มสลายของกรุงคาบูลในปี 2021 หลังจากสหรัฐฯ ถอนกำลังจากอัฟกานิสถาน ด้วยการนำเสนอมุมมองที่หลากหลายผ่านบทสัมภาษณ์กับอดีตเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ พลเมืองอัฟกัน ทหาร และนักข่าว ทำให้เป็นหนึ่งในสารคดีที่ครอบคลุมที่สุดเกี่ยวกับเหตุการณ์ 9/11 และผลกระทบระยะยาวทั่วโลก
The Road to Guantanamo (2006)
ในผลงานกำกับของ ไมเคิล วินเทอร์บอตทอม และ แม็ตต์ ไวท์ครอสส์ เรื่องนี้ หยิบเอามุมเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 มานำเสนอ คือเรื่องของ “The Tipton Three” หรือกลุ่มชายมุสลิมชาวอังกฤษสามคนที่เดินทางไปปากีสถานเพื่อร่วมงานแต่งงาน แต่กลับถูกจับโดยกองกำลังสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถาน และถูกกักขังที่อ่าวกวนตานาโมเป็นเวลากว่าสองปี
เหตุผลที่ทำให้ The Road to Guantanamo มีความเป็น Docufiction ก็คือ หนังใช้วิธีการของสารคดีเป็นองค์ประกอบสำคัญ ทั้งการสัมภาษณ์ซับเจ็กต์ตัวจริง การใช้ภาพข่าวและใช้ฟุตเทจจากเหตุการณ์จริง แต่ขณะเดียวกันมีการจำลองเหตุการณ์หลายส่วนขึ้นใหม่โดยใช้นักแสดง และเขียนบทให้ฉากเหล่านั้นมีประโยชน์ในการเพิ่มความเป็นดราม่าแก่เรื่อง (โดยเฉพาะเหตุการณ์การสอบปากคำ การถูกทรมาน และสภาพการกักขัง)
United 93 (2006)
อีกมุมของเรื่องราวชุดเดียวกันปรากฏในหนังเรื่องนี้ของ พอล กรีนกราสส์ ซึ่งจำลองเหตุการณ์ของเที่ยวบิน United 93 (เครื่องบินที่ถูกจี้ลำที่สี่ในวันที่ 11 กันยายน 2001) โดยเน้นเรื่องราวของผู้โดยสารซึ่งรวมตัวกันต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย จนทำให้เครื่องบินตกที่เพนซิลเวเนียแทนที่จะไปถึงเป้าหมายที่ผู้ก่อการร้ายตั้งใจไว้
United 93 จัดเป็นหนัง Docudrama เพราะเป็นการนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปแล้วมาเล่าใหม่ โดยไม่มีการใช้องค์ประกอบของหนังสารคดีเข้ามาปะปน (เช่น ไม่มีการสัมภาษณ์บุคคลที่มีตัวตนจริง) แต่ขณะเดียวกันมันก็พยายามรักษาความสมจริงของเหตุการณ์ไว้ให้มากที่สุด ทั้งด้วยการเขียนบทโดยอิงจากข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้ การถ่ายด้วยกล้องแบบแฮนด์เฮลด์ ใช้แสงธรรมชาติ การเล่าเรื่องแบบเรียลไทม์ การใช้นักแสดงที่ไม่เป็นที่รู้จัก และยังมีการใช้เจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศตัวจริงมาร่วมแสดงด้วย
World Trade Center (2006)
ผลงานกำกับของ โอลิเวอร์ สโตน นำแสดงโดย นิโคลัส เคจ อิงจากเรื่องจริงของ จอห์น แมคลาฟลิน และ วิล จิเมโน ตำรวจสองนายที่ติดอยู่ใต้ซากตึกแฝดเวิลด์เทรดหลังเหตุโจมตี
จุดเด่นของหนังอยู่ตรงการพยายามเล่าให้ใกล้เคียงเรื่องจริงมากที่สุด โดยได้ผู้รอดชีวิตตัวจริงและครอบครัวของพวกเขามาเป็นที่ปรึกษาของสโตนตลอดการเขียนบทและถ่ายทำด้วย นอกจากนั้นยังมีการใช้เจ้าหน้าที่ตัวจริงมาร่วมแสดง และมีการสร้างฉากกราวด์ซีโร่กับการพังทลายของตึกอย่างพิถีพิถัน
อย่างไรก็ตาม หนังเรื่องนี้อาจถูกจัดเป็น Based on True Story (ไม่ใช่ Docudrama) เพราะตัวหนังไม่ได้มุ่งเน้นนำเสนอเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในภาพกว้าง แต่เน้นไปที่ดราม่าส่วนบุคคลของตำรวจทั้งสองนาย แถมตัวโครงสร้างของบทและวิธีการเล่าก็ใช้เทคนิคแบบหนังฮอลลีวู้ด ทั้งการเขียนบทให้เป็นเรื่องของ “ตัวเอกที่ต้องต่อสู้กับอุปสรรค”, มีการใช้ดนตรีที่ยกระดับอารมณ์ และการถ่ายภาพที่ขับเน้นดรามาติก (ซึ่งต่างจาก United 93 ที่ใช้กล้องแฮนด์เฮลด์และดำเนินเรื่องแบบเรียลไทม์)
ทั้งหมดข้างต้นแสดงให้เห็นถึงเส้นแบ่งอันบางเฉียบของหนังที่นำเสนอเหตุการณ์จริงในรูปแบบแตกต่างกัน ซึ่งประเด็นสำคัญคือเราไม่ควรลืมว่า นิยามเหล่านี้ไม่ได้มีขึ้นเพื่อจะตีกรอบความคิดสร้างสรรค์หรือเพื่อการจัดประเภทหนังอย่างแข็งทื่อตายตัว แต่มีเพื่อให้เรามองเห็นความเป็นไปได้อันหลากหลายของการเล่าเรื่องนั่นเอง
โครงการพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านภาพยนตร์สารคดี
ได้รับการส่งเสริมจาก กองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม