ครั้งหนึ่ง บงจุนโฮและซงคังโฮเคยถูกขึ้น “บัญชีดำ” และบัญชีดำนี้นำไปสู่การถอดถอนประธานาธิบดี!

กว่าจะกลายมาเป็นคนทำหนังและนักแสดงระดับโลกดังที่เราเห็นในวันนี้ ทั้งคู่และเพื่อนอีกหลายชีวิตในวงการหนังเกาหลีใต้เคยผ่านช่วงเวลาแห่งการต่อสู้อันยากลำบากมาก่อน นี่อาจเป็นอีกหนึ่งข้อยืนยันชัดเจนว่า ความสำเร็จยิ่งใหญ่ของพวกเขาไม่ใช่สิ่งที่ได้มาง่ายดายด้วยความบังเอิญ!

 

พัคกึนฮเย

1) ย้อนไปเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2016 ปธน. พัคกึนฮเย ถูกสภาลงมติถอดถอนจากตำแหน่งซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของเกาหลีใต้ หนึ่งในสาเหตุสำคัญคือการบริหารงานที่ไม่โปร่งใส โดยเฉพาะจากกรณีอื้อฉาวที่รัฐบาลยุคนั้นทำ “บัญชีดำ” เป็นเอกสารหนา 60 หน้าประกอบด้วยรายชื่อศิลปิน 9,473 คนที่ “แสดงความคิดเห็นต่อต้านรัฐบาล” จึงถูกลงโทษไม่ให้ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐ ในบางรายถูกคุกคามห้ามสร้างหรือเผยแพร่ผลงานอีกต่อไป

2) ในลิสต์นั้น มีคนทำหนังที่โด่งดังระดับโลกอย่าง พัคชานวุก กับ บงจุนโฮ, นักแสดงแถวหน้าอย่าง ซงคังโฮ และโปรดิวเซอร์คนสำคัญอย่าง มิกี้ ลี แห่งค่าย CJ รวมอยู่ด้วย

3) การขึ้นบัญชีดำแบบนี้ไม่ใช่ของใหม่ เกาหลีใต้มีประวัติการเซ็นเซอร์หนังและสื่อมายาวนานตั้งแต่ยุคปกครองโดยญี่ปุ่น เรื่อยมาถึงยุคเผด็จการ พัคจองฮี (1963-1979, เขาเป็นพ่อของพัคกึนฮเย) และ ช็อนดูฮวัน (1980-1988) ที่รัฐมีอำนาจสั่งตัดสั่งแก้และแบนหนังได้ทันทีถ้าเห็นว่ามีประเด็นทางการเมืองที่ “ไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล”

4) สถานการณ์วงการหนังเกาหลีเริ่มดีขึ้นในยุค ปธน. โนแทอู (1988-1993) ซึ่งประกาศยกเลิกการเซ็นเซอร์หนังอย่างเข้มงวด ส่งผลให้เกิดคนทำหนังและหนังกลุ่ม “คลื่นลูกใหม่เกาหลี” ที่กล้าจับประเด็นทางการเมืองมากขึ้น

5) แต่ลิ้มรสเสรีภาพได้เพียง 20 ปี หนังเกาหลีก็เข้าสู่ยุคมืดอีกครั้งในช่วง ปธน. อีมย็องบัก (2008-2013) ซึ่งริเริ่มสั่งการให้ทำบัญชีดำขึ้นมา ในนั้นประกอบด้วยรายชื่อศิลปินหัวเอียงซ้าย 82 คนที่รัฐจับตาเป็นพิเศษ

โชยุนซัน

6) รายชื่อนี้ขยายตัวพรวดพราดในยุคต่อมาก็คือยุคของปธน.พัคกึนฮเย (2013-2017) นั่นเอง แม้ด้านหนึ่งรัฐบาลของเธอจะสนับสนุนอุตสาหกรรมหนังจริงจัง ผลักดันป๊อปคัลเจอร์จนประสบความสำเร็จและส่งออก “คลื่นเกาหลี” ถาโถมโลกอย่างยิ่งใหญ่ แต่อีกด้าน เธอก็ให้อำนาจแก่กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเข้าไปควบคุมวงการบันเทิงเต็มไม้เต็มมือ จน รมว. โชยุนซัน สั่งเพิ่มรายชื่อศิลปินที่ “เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ” เข้าไปในบัญชีดำจำนวนมหาศาล โดยแม้จะไม่มีอำนาจถึงขั้นใช้กฎหมายเล่นงานศิลปินเหล่านี้ แต่ก็ส่งผลร้ายต่ออาชีพและชีวิตของพวกเขาอย่างหนัก (เช่น กรณีศิลปินฮงซ็องดัมที่เปิดเผยว่า ไม่มีบริษัทขนส่งไหนยอมรับส่งงานของเขาไปแสดงที่เทศกาลศิลปะเบอร์ลินเลย)

7) เหตุผลสำคัญที่ทำให้คนทำหนังหลายคนถูกขึ้นบัญชีดำนี้ สืบเนื่องมาจาก กรณีเรือเซว็อลเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำ เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2014 และปฏิบัติการช่วยชีวิตดำเนินไปอย่างเลวร้ายจนผู้โดยสารซึ่งเป็นเด็กมัธยมกว่า 300 คนต้องเสียชีวิต แต่แทนที่จะแสดงความรับผิดชอบ รัฐบาลกลับสั่งห้ามสื่อมวลชนพูดถึงโศกนาฏกรรมครั้งนี้เด็ดขาด ลามมาถึงนายกเทศมนตรีปูซานสั่งห้ามเทศกาลหนังปูซานฉายสารคดีซึ่งชำแหละประเด็นนี้อย่างดุเดือดเรื่อง The Truth Shall not Sink With Sewol (2014) แต่ทางผู้จัดเทศกาลขัดขืนจัดฉายต่อไป ทางเมืองจึงลงโทษด้วยการตัดงบสนับสนุนเทศกาล 50% เป็นเวลา 2 ปี ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่คนทำหนังมาก รวมถึงพัคชานวุกและบงจุนโฮที่ประกาศบอยคอตต์เทศกาล ซึ่งก็ถูกตอบโต้ด้วยการจับชื่อพวกเขาใส่บัญชีดำทันที

8) แต่ความเลอะเทอะของบัญชีดำไม่ได้มีแค่นั้น ซงคังโฮเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน เขาโดนรัฐหมายหัวจากการที่ไปรับบทนำในหนังเรื่อง The Attorney (2013) ซึ่งดัดแปลงจากเรื่องจริง “กรณีปูริม” ในปี 1981 ที่นักศึกษาและประชาชน 22 คนถูกจับกุม ทำร้าย พร้อมยัดเยียดข้อหาซ่องสุมทางการเมือง แล้วทีมทนายนำโดย โนมูฮย็อน กับ มุนแจอิน (ซึ่งกลายมาเป็นปธน.เกาหลีคนปัจจุบัน) ว่าความต่อสู้ให้พวกเขา
ซงคังโฮให้สัมภาษณ์ว่า การถูกขั้นบัญชีดำครั้งนั้นทำให้เขาเกือบไม่กล้ารับแสดงเรื่อง A Taxi Driver ในปี 2017 ซึ่งสร้างจากเรื่องจริงของนักข่าวเยอรมันผู้เผยแพร่คลิปเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ควางจูไปทั่วโลก โดยซงรับบทคนขับแท็กซี่ที่ช่วยพาเขาเข้าไปในควางจูและหนีออกมาได้สำเร็จ

9) ที่น่าปวดใจเข้าไปใหญ่คือ แม้แต่องค์กรสำคัญในการผลักดันหนังเกาหลีอย่าง Korean Film Council (KOFIC) ก็ยังมีส่วนร่วมกับการทำบัญชีดำนี้ด้วย โดยมีเอกสารยืนยันว่า พวกเขาเสนอชื่อคนทำหนังเข้าไป 56 คน (พัคชานคย็อง น้องชายของพัคชานวุกเล่าว่าโปรเจ็กต์หนังสยองขวัญของเขาถูก KOFIC ปฏิเสธ เพราะพี่ชายเขามีชื่อในลิสต์)

เหตุการณ์นี้สะเทือนวงการหนังมาก บงจุนโฮต้องหันไปหาทุนเอกชนในช่วงนั้นแทนเพื่อทำ Snowpiercer และ Okja โดยเขาให้สัมภาษณ์ในเทศกาลหนังเมืองคานส์ปี 2017 ว่า “มันเป็นช่วงเวลาแห่งฝันร้ายที่สร้างบาดแผลฝังลึกแก่ศิลปินเกาหลีใต้”

ปธน. มุนแจอินขณะเข้าร่วมชม A Taxi Driver กับซงคังโฮ

10) แต่ในที่สุด ฝันร้ายนี้ก็จบลงเมื่อปธน.พัคกึนฮเยถูกถอดถอน (ทั้งเธอและรมว.โชยุนซัน ถูกตัดสินจำคุกในปี 2018) และรัฐบาลของมุนแจอินซึ่งชนะเลือกตั้งในปี 2017 เดินหน้าฟื้นฟูความสัมพันธ์กับวงการหนังอย่างเต็มที่

ไม่เพียงเท่านั้น หลังจากเข้าร่วมชมหนังเรื่อง A Taxi Driver มุนยังกล่าวว่านับแต่นี้เกาหลีใต้จะต้องนำข้อมูลการต่อสู้ของประชาชนที่ควางจูออกมาให้สาธารณชนรับรู้เสียที ซึ่งนี่เป็นการส่งสัญญาณให้คนทำหนังกล้าหยิบเหตุการณ์ทางการเมืองในอดีตมาถ่ายทอดอย่างเปิดเผย เห็นได้จากการเกิดขึ้นของหนังอย่าง 1987: When the Day Comes (2017, ว่าด้วยการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย June Democratic Uprising) และสารคดี Intention (2018, ว่าด้วยการสืบสวนหาสาเหตุการล่มของเรือเซว็อล) ซึ่งสร้างประวัติศาสตร์เป็นสารคดีการเมืองที่ทำรายได้ในประเทศอย่างถล่มทลาย

อส เนธาน พัค ผู้เชี่ยวชาญหนังเกาหลี เขียนลงนสพ.วอชิงตันโพสต์ว่า “นับเป็นเรื่องดีที่บัญชีดำอันชั่วร้ายนี้สิ้นสุดลง เพราะถ้ามันยังอยู่ หนังเรื่อง Parasite อาจไม่มีวันได้สร้าง”

Explore more

“คนเกาหลีคุ้นเคยกับความรุนแรง เพราะเราเพิ่งเจอยุคเผด็จการมา 50 กว่าปีเท่านั้น”

“หนังของผมมักมีฉากรุนแรงจะแจ้ง เพราะความรุนแรงซึมซาบอยู่ในวัฒนธรรมของเรา” บงจุนโฮเล่าเบื้องหลัง Memories of Murder ที่เขาแปลงเรื่องจริงโหดเหี้ยมมาเป็นหนังระทึกขวัญสุดร้ายกาจ!

ซงคังโฮ : “ใบหน้าของหนังเกาหลีใต้”

“ผมไม่ใช่คนหล่อคนเท่จึงเหมาะกับคนทำหนังที่ต้องการเล่าเรื่องของคนธรรมดา – หรือพูดอีกอย่างว่า คนที่ดูผิวเผินเหมือนธรรมดา แต่แท้จริงแล้วกำลังต่อสู้กับความเลวร้ายสาหัสอยู่”