จากเมืองนรกสู่ดินแดนที่เทวดาตกหลุมรัก : เบื้องหลัง Wings of Desire

“ระหว่างที่ผมเดินเล่นอยู่ที่เบอร์ลิน ไอเดียของหนังเรื่องนี้ก็แล่นเข้ามาในหัวผม แรงบันดาลใจที่จะเล่าเรื่องตัวเมืองที่เคยเห็นขุมนรกมาแล้วก็เกิดขึ้น”

วิม เวนเดอร์ส คว้ารางวัลปาล์มทองจาก Paris, Texas ในปี 1984 มันเป็นเวลากว่า 7 ปีเต็มที่เขาใช้ชีวิตอยู่ที่อเมริกา หลังจากนั้นไม่นานเขาตัดสินใจที่จะกลับมาทำหนังที่เยอรมันบ้านเกิดของเขา

”หลังจากเจ็ดปีที่ผมใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น ผมเริ่มคิด (และฝัน) เป็นภาษาอังกฤษ เหมือนผู้คนอพยพจำนวนมากที่พวกเขาเริ่มสูญเสียภาษาแรกของเขาไปทีละเล็กทีละน้อย ผมไม่อยากให้สิ่งนี้เกิดกับผม ผมไม่สามารถเป็นคนอเมริกันได้ อย่าพูดถึงทำ ‘หนังอเมริกัน’ เลย ผมทำไม่ได้หรอก ในใจผมเป็นแค่ชาวเยอรมันที่สิ้นหวัง อาชีพของผมคือคนทำหนังยุโรป ผมตัดสินใจที่จะกลับบ้าน แต่ผมก็ไม่สามารถพูดได้ว่าบ้านของผมคือ ประเทศเยอรมัน มันคือเมืองเบอร์ลินต่างหาก

“ผมตามหาตัวละครที่จะบอกเล่าเรื่องเมืองได้ ผมคิดถึงนักดับเพลิงและบุรุษไปรษณีย์ พวกเขาน่าจะรู้จักผู้คนเยอะแยะมากมาย แต่ไอเดียสุดท้ายก็มาจบที่เทวดา ซึ่งไอเดียนี้ก็มาจากตัวเมืองเอง เบอร์ลินเต็มไปด้วยรูปปั้นเทวดา รวมไปถึงบทกวีของ Rilke ซึ่งมาจากตัวผมเองที่กำลังพยายามกลับคืนสู่ภาษาเยอรมัน กวีผู้นี้น่าจะเป็นครูที่ดีที่สุด และบทกวีของเขาก็ได้แรงบันดาลใจมาจากเทวดาด้วยเช่นกัน”

“สอนกล้องให้มองด้วยความรัก” : งานภาพ ‘แทนสายตาเทวดา’

เรื่องราวของเทวดาผู้เบื่อหน่ายการมีชีวิตเป็นอมตะ และตัดสินใจแลกวิญญาณอันเป็นนิรันดร์กับการได้ลงมาเป็นปุถุชนผู้มีเลือดเนื้อ รู้จักรักและเจ็บปวด …ด้วยเรื่องแบบนี้ วิม เวนเดอร์สจึงเล่ามันผ่านมุมมองของเทวดา และใช้งานภาพ “จากสายตาของเทวดา”
 
ว่าแต่เขารู้ได้อย่างไรว่า เทวดาน่าจะเห็นอะไร และมองโลกเบื้องล่างแบบไหน?
 
“หลายฉากในหนังเรื่องนี้เราต้อง ‘ตีความ’ มุมมองของเทวดา ผมจึงตั้งใจจะเคลื่อนกล้องให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อแทนสายตาของเทวดาผู้โบยบินพลางเฝ้ามองมนุษย์ ในเบอร์ลินตอนนั้น (ช่วงปี 1986-87) ไม่มีสเตดิแคมให้ใช้ เราจึงต้องพึ่งราง ดอลลี่ เครน ฯลฯ และเราก็สร้างอุปกรณ์ของเราเองด้วยเพื่อให้กล้องเคลื่อนกลางอากาศจากหน้าต่างบ้านหลังหนึ่งเข้าไปยังอีกหลังได้ และในฉากเปิดเรื่อง เราก็ถ่ายด้วยเฮลิคอปเตอร์ซึ่งหายากมากๆ ในเบอร์ลินตะวันตก เพราะไม่มีบริษัทเอกชน เราต้องไปเช่าเครื่องของกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรโดยได้นักบินอังกฤษมาช่วย
 
“แต่นอกจากการเคลื่อนกล้องแบบนั้น ผมยังต้องการให้กล้องทำงานที่ซับซ้อนขึ้นไปอีก ผมบอก อองรี อาเลกอง (ผู้กำกับภาพรุ่นเก๋าชาวฝรั่งเศสซึ่งเกษียณไปแล้ว แต่วิมตื๊อให้กลับมาถ่ายให้) ว่า ‘เทวดาเหล่านี้มองพวกเราด้วยความรัก ฉะนั้นเราต้องหาทางสอนกล้องให้มองตัวละครด้วยสายตาที่มีความรักมากขึ้น’ อองรีฟังแล้วจ้องหน้าผมเหมือนเห็นคนบ้า ก่อนจะถามว่า ‘ทำยังไง’ ซึ่งแน่นอนว่าผมก็ไม่รู้
 

“แต่ผมคิดว่า เราต้องทุ่มเทความรู้สึกใส่ใจ ห่วงใย และความรักต่อตัวเราเองลงไปในทุกช็อตที่แทนสายตาเทวดา — นั่นล่ะครับคือคำตอบ เพราะกล้องจะสะท้อนให้เห็นว่าเราใส่ความรู้สึกแบบไหนขณะมองผ่านเลนส์ …อาจจะฟังดูเว่อร์หน่อยนะ แต่ถ้าเราลองพยายามจินตนาการว่าเทวดาเฝ้ามองพวกเราอย่างไร เราอาจจะรู้สึกได้ถึงบางสิ่งภายในตัวเราที่ดีงามกว่าที่เราเคยนึก เราอาจจะสัมผัสได้ถึงความเป็นเด็กที่เราซุกซ่อนไว้
“ถ้ามีเทวดามองเราอยู่จริงๆ ผมก็เชื่อว่า ความงามเหล่านี้ของชีวิตคือสิ่งที่พวกเขาจะมองเห็น”

“ผมมองเห็นไอเดียเรื่องเทวดาเป็นสีขาวดำ เบอร์ลินควรเป็นสีขาวดำเทวดาก็เช่นกัน พวกเขาแตะต้องอะไรไม่ได้ ไม่เคยรู้จักโลกจากการสัมผัส ดังนั้นมันก็สมเหตุสมผลที่พวกเขาจะไม่มีสี นอกจากนั้นขาวดำยังเกี่ยวกับโลกของความฝัน ในขณะเดียวกันที่ภาพสีจะปรากฎมาในช่วงเวลาประหลาดในหนัง”
Explore more
Photo Credit: “Staatsbibliothek zu Berlin (Kulturforum) interior” by Lessormore from Wikimedia Commons

“ห้องสมุด” : สถานศักดิ์สิทธิ์แห่งเรื่องเล่าและความทรงจำใน Wings of Desire

หนังคลาสสิกเรื่องนี้มีชื่อเยอรมันต้นฉบับว่า Der Himmel über Berlin แปลว่า “สวรรค์เหนือเบอร์ลิน” ซึ่งสะท้อนความรักลึกซึ้งที่วิม เวนเดอร์สมีต่อเมืองใหญ่เมืองนี้ได้เป็นอย่างดี และหนึ่งในสถานที่สำคัญที่ถูกนำเสนออย่างโดดเด่นก็คือ “หอสมุดรัฐเบอร์ลิน”