มีนักทำหนังเกิดขึ้นใหม่ในเมืองไทยเกิดขึ้นทุกปี
แต่มีไม่กี่คนที่เอาดีทางการทำสารคดีอย่างจริงจัง
และยิ่งน้อยกว่านั้น เมื่อนับว่ามีนักทำสารคดีเพียงไม่กี่คนที่ชัดเจนในตัวตน
นนทวัฒน์ นำเบญจพล คือหนึ่งในไม่กี่คนนั้นที่ทำสารคดีออกมาอย่างต่อเนื่อง และหนังของเขาล้วนพูดถึง “คนนอก” ดังเช่น “ดินไร้แดน” (Soil Without Land) หนังเรื่องล่าสุดของเขาที่เล่าถึงคนในค่ายทหารไทใหญ่ในพื้นที่ชายแดน ไทย-เมียนมา
ถ้าให้พูดจริงๆ สมัยก่อนเราไม่เคยสนใจพื้นที่ชายแดนมาก่อนเลย ตั้งแต่ตอนทำ “ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง” (Boundary) เราสนใจความขัดแย้งภายในประเทศมากกว่า เราอยากรู้ว่าคำตอบคืออะไร เพราะเราไม่ใช่เด็กที่สนใจการเมืองสักเท่าไหร่ แต่การเมืองในช่วงนั้นก็ส่งผลกระทบต่อชีวิตเราเหมือนกัน เราก็อยากรู้ว่าความจริงมันคือะไร เพราะความจริงมันมีหลากหลายมาก เราก็ไปรู้จักทหารที่เพิ่งปลดประจำการมา กำลังจะกลับบ้านเกิดที่จังหวัดศรีสะเกษพอดี เป็นจังหวัดที่อยู่ชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งนั่นเป็นครั้งแรกที่เราออกจากกรุงเทพฯ ไปอยู่ในพื้นที่อื่นเกินหนึ่งอาทิตย์ ไปอยู่ตรงนั้นประมาณเดือนนึง ซึ่งมันก็เปิดโลกเราไปเลย
หนึ่งคือ เราได้เห็นชีวิตที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ได้เห็นวัฒนธรรมที่ผสมผสานกันค่อนข้างเยอะ วัฒนธรรมไทยผสมเขมร คนในพื้นที่ตรงนั้นพูดภาษาเขมรผสมไทย ศิลปะพื้นบ้านเช่น งานศพ งานแต่ง งานบวช ก็ไม่เหมือนที่เราเห็นในกรุงเทพฯ ที่สำคัญคือประวัติศาสตร์แบ็คกราวด์ของพื้นที่ ผู้คน พอเป็นชายแดนแล้วมี conflict เยอะ แต่ละพื้นที่ก็มี conflict ที่ต่างกัน และเราไม่ได้ตั้งใจจะไปถ่ายคนชายขอบ เราตั้งใจไปถ่ายพื้นที่ที่เป็นชายแดนมากกว่า คนที่อยู่นั่นมักจะถูกกดทับโดยภาคส่วนกลาง
ทีนี้เราก็มีความสุขที่ได้ทำอะไรอย่างนั้น พอมาเรื่องที่สองก็เป็นพื้นที่อะไรอย่างนั้นอีกเช่นกัน คือ “สายน้ำติดเชื้อ” (By the River) แล้วค่อยมาทำ #BKKY ในกรุงเทพฯ ซึ่งตอนทำเรื่องนั้นเราตื่นเต้นที่ได้เห็นเด็กๆ ในพื้นที่ที่เราโตมาว่าเปลี่ยนไปจากยุคเราขนาดไหน แต่เราไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นกับพื้นที่เหมือนตอนที่เราไปอยู่บริเวณชายแดน พอจบ #BKKY เราคิดถึงบรรยากาศอะไรแบบนั้นอีก ก็คิดว่าอยากจะลองหาสักพื้นที่หนึ่งเป็นการพักผ่อน (หัวเราะ) เลยเลือกภาคเหนือดีกว่าเพราะเป็นพื้นที่ที่ไม่เคยไปสำรวจมาก่อน
#BKKY มันเป็นงานสตูดิโอ เราก็ต้องคุยกับค่ายหนัง มีขั้นตอนอะไรหลายอย่างที่เราได้เรียนรู้ในตอนนั้น เจตนาเราก็อยากจะพักผ่อนโดยการทำหนังที่ไม่ต้องแคร์อะไรเลย เหมือนสมัยที่เราทำ “ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง” ที่เราคิดจากว่าทำหนังอะไรก็ได้ให้มันจบในคนเดียว (หัวเราะ) เรามีเงินอยู่ก้อนนึงก็เอาไปซื้อกล้องแทนที่จะเอาไปจ้างคน ตอนทำหนังเรื่องก่อนๆ เราก็มีเงินก้อนเหมือนกันแต่เอาไปให้ทีมงาน อันนี้เราก็เอาไปซื้อกล้องที่สามารถแฮนเดิลได้คนเดียว และไม่ต้องกำหนดว่าจะต้องเสร็จเมื่อไหร่ นี่คือ process การทำงานที่อยากทำนะ ทีนี้ก็มาเรื่องของประเด็นแล้ว
เราอยากรู้เรื่องภาคเหนือ เริ่มรีเสิร์ชภาคเหนือ ด้วยความที่มันเป็นชายแดนพม่า ความขัดแย้งที่เราสนใจคือเรื่องการย้ายถิ่นฐานของผู้คน ตอนหลังๆ เราไปเชียงใหม่ถึงได้รู้ว่าที่นั่นมีคนไทใหญ่เยอะมากที่อยู่กับพวกเรา ไม่ว่าหันไปทางไหนก็เจอ ทีนี้เราก็เริ่มสนใจเรื่องชาติพันธุ์ (ethnics) เพิ่มขึ้นมา ซึ่งที่ผ่านมาเราไม่ได้สนใจเรื่องนี้แต่มันอยู่ในงานเราโดยไม่รู้ตัว อย่าง “สายน้ำติดเชื้อ” ก็เป็นประเด็น ethnics เหมือนกัน คือเป็นกะเหรี่ยง แต่เราไม่ได้ไปโฟกัสเรื่องนั้น เรื่องนี้เราสนใจประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์เป็นหลักเลย
จากนั้นวันหนึ่งเราก็มาเจอน้องคนนึงที่เป็นไทใหญ่และเป็นเพื่อนเราบนเฟซบุ๊ค เขาเคยอยู่ใน ‘สารคดีก(ล)างเมือง’ ของเราตอนแรก เป็นเรื่องคนไทใหญ่ที่มาอยู่ในกรุงเทพฯ เขาเป็นเด็ก 18-19 ที่อยากทำหนัง ต้องเริ่มต้นยังไงดี เขาก็ซื้อกล้องมา 4-5 ปีผ่านไปเขาไม่ได้อยู่ในเมืองอีกต่อไป ใส่ชุดทหารถือปืน อยู่ในโลเคชั่นป่าเขา ดอย ซึ่งพอเห็นวิชวลแบบนั้นแล้วเราก็ขนลุกขนพองตื่นเต้นขึ้นมาทันที อยากถ่าย ถ้าเราเจออะไรที่สนใจเลือดลมมันจะสูบฉีด เราเลยส่งข้อความไปหาเขาว่ามีสารคดีที่เราอยากถ่าย ตอนนั้นมีซีนชัดขึ้นมาในหัว และมีหลายประเด็นที่อยากรู้ต่อ คือ เมียนมาเพิ่งเลือกตั้งกันไปนี่หว่า เพิ่งได้ อองซานซูจี เข้ามา เขามีความรู้สึกอยากกลับไปอยู่บ้านเกิดมั้ย และข้อสอง ประเทศไทยเพิ่งรัฐประหารเป็นรัฐบาลทหารเข้ามา เราก็อยากรู้เรื่องโครงสร้างของทหารด้วยว่าเป็นยังไง
ตอนแรกเขาก็ยังไม่แน่ใจว่าจะถ่ายได้รึเปล่าต้องไปถามลุงก่อน โชคดีว่าลุงเขาเป็นท่านผู้นำตรงเขตภาคพื้นนั้นพอดี ซึ่งลุงก็ไม่ค่อยไว้ใจเท่าไหร่หรอก เพราะไม่เคยให้ใครเข้าไปถ่ายมาก่อน แต่เขาคงคิดว่าปัจจุบันการทำการเมืองด้วยอาวุธมันอาจเป็นเรื่องที่ล้าสมัย บางทีการใช้สื่ออาจเป็นสิ่งสำคัญมากในยุคนี้ เขาเลยยื่นข้อเสนอว่าถ้าทำให้คนของเขารู้ว่าจะใช้กล้องยังไง ตัดต่อยังไง น่าจะดี เขาเสนอให้เราสอนคนของเขาให้ทำหนังให้เสร็จก่อน เราเลยต้องบินไปบินมาเชียงรายกรุงเทพฯ จนได้สารคดีมาเรื่องหนึ่งที่เป็นมุมมองของเขา ซึ่งก็เป็นวิดีโอพรอพากันดาพอสมควร ในการเชิญชวนไทใหญ่ที่พลัดถิ่นอยู่ตามที่ต่างๆ กลับมาเป็นทหารดีกว่า เขาเลยอนุญาตให้เราไปถ่ายทำในพื้นที่นั้นได้
คล้ายๆ กันในแง่ของความเซนสิทีฟในพื้นที่ที่ไม่ค่อยอยากจะเปิดเผยสักเท่าไหร่ ก็จะมีหลายๆ อย่างที่ไม่สามารถถ่ายได้ อย่างตอน “ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง” มันมีความไหลไปเรื่อยมากกว่า แต่อันนี้พอลุงท่านผู้นำเขาอนุญาตให้เราเข้าไปได้แล้ว เขาก็ต้อนรับเราดีนะ ถ่ายอะไรๆ ก็ง่ายกว่า พอเรากลับไปบ่อยๆ ก็เริ่มไม่รู้จะถ่ายอะไรมาเหมือนกัน
จริงๆ เราชอบเข้าไปอยู่ในพื้นที่เร้าใจ อย่างตอนเราทำ “โลกปะราชญ์” (สารคดีสังคมเด็กสเกตบอร์ด) เราก็อยู่ในพื้นที่ที่มีความรู้สึก extreme ที่มีต่อพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัยต่อตัวเด็กสเกตเอง ส่วนเรื่องล่าสุดก็มีอารมณ์ที่ไม่น่าไว้ใจ คือเราชอบอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย (หัวเราะ)
หลังๆ เราสนุกกับการโปรดิวซ์เหมือนกัน เราก็ต้องส่งไปพิทชิ่งในที่ต่างๆ ก็เลยได้เห็นความขำขื่นนิดๆ เพราะเหมือนสารคดีแข่งกันพาตัวเองไปอยู่ในที่ที่ลำบาก มันถึงจะได้รับความสนใจ ที่น่าเศร้าคือฝรั่งหลายๆ คนพอเราเอาหนังให้ดูเขาจะคาดหวังได้เห็นพวกฉากยิงกัน หรือฉากสงครามที่เดือดกว่านี้ ยิ่งเสี่ยงเท่าไหร่ก็ยิ่งได้รับความสนใจมากขึ้น เก้าสิบเปอร์เซ็นต์ของคนให้ทุนสารคดีบนโลกใบนี้มาจากทีวี เพราะงั้นเขาก็จ้องหาประเด็นที่มันเซนสิทีฟแบบนี้แหละ หรือบางทีก็อยากจะเห็นอะไรที่เคราะห์ซ้ำกรรมซัด ชีวิตบัดซบเท่าไหร่ยิ่งชอบ ซึ่งมันเริ่มไม่ตรงกับความสนใจเราแล้ว เพราะถึงชีวิตจะบัดซบแค่ไหนแต่เราจะชอบถ่ายชีวิตประจำวันมากกว่า ซึ่งเขาไม่ได้เจอความบัดซบทุกวันขนาดนั้น
แต่จริงๆ พวกสายสารคดีทดลองก็จะอีกแบบนะ สายนั้นจะเน้นเรื่องโครงสร้างการนำเสนอที่มัน innovative เช่นเราไป Visions du Reel ที่ไปเปิดตัวเรื่องนี้มา ก็ขึ้นชื่อเรื่องสารคดีทดลองมาก เช่น ถ่ายคนนั่งกินแอปเปิ้ลสิบนาทีแล้วหันไปถ่ายนาฬิกาเสร็จแล้วตัดกลับมาถ่ายคนนั่งกินแอปเปิ้ลต่อ หรือถ่ายมดเดินอยู่นั่น มันไม่ใช่โครงสร้างสารคดีปกติที่จะต้องใส่ information โครมๆๆ แต่มันสนุกกับการได้เห็นการนำเสนอที่แปลกใหม่
สำหรับ Soil Without Land แค่รู้สึกว่าได้เข้าไปอยู่ในโลกที่เขาฝึกทหารกันก็ฟินแล้ว เราไม่เคยฝึกทหารมาก่อน รด.ก็ไม่เคยเรียน บางทีก็อยากรู้ว่าเขาฝึกกันยังไง ซึ่งเราก็ว่างเปล่านิดนึงเพราะไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องเห็นอะไรมากมายขนาดนั้น
นอกจากความเศร้าที่เกิดจากความคาดหวังจะได้เห็นความสุ่มเสี่ยงในหนังแล้ว ยังมีคำถามประเภทว่าทำไมคนจะต้องสนใจประเด็นนี้ เพราะคนจะรู้จักแต่โรฮิงญา แต่ไม่ได้มีแค่โรฮิงญาไงที่ได้รับผลกระทบจากรัฐบาลทหารพม่า ยังมีอีกหลาย ethnics มาก การได้นำเสนอสิ่งที่มีอยู่บนโลกแต่คนไม่มอง ไม่เห็น ไม่รู้ มันน่าทำกว่า เพราะมันช่วยยืนยันว่ายังมีคนที่ invisible บนโลกใบนี้อยู่จริงๆ เขาอยู่กันโดยที่พาสปอร์ตไม่มี บัตรประชาชนไม่มี เช่นเราถามเรื่องความฝันใน #BKKY เด็กก็ตอบกันมาเยอะแยะมากมาย บางคนก็ฝันอยากเป็นหลายอย่างเหลือเกิน แต่ในเรื่องนี้พอถามว่าฝันอยากเป็นอะไรมันจะมีความเดดแอร์ เขาไม่มีแม้โอกาสที่จะได้ฝันเพราะเขาต้องเป็นทหารทุกคน ไม่งั้นก็ต้องหนีอย่างผิดกฎหมายไปต่างประเทศ เลยต้องอยู่กันอย่าง invisible บนโลกใบนี้ เพราะมันมีสิ่งที่เป็นโครงสร้างที่เรียกว่า land ที่ระบุการมีตัวตนบนโลกด้วยพาสปอร์ต ด้วยบัตรประชาชน แล้วพวกเขาดันอยู่ใน gap ของการ identify เราก็เลยรู้สึกว่าอย่างน้อยก็โชคดีที่ไม่ได้เกิดมาอยู่ในพื้นที่อย่างนั้น และเราอาจใช้ชีวิตได้โอเคขึ้นมั้ง เห็นความต่างของคน อาจจะยอมรับฟังคนอื่นมากขึ้น อาจจะระวังการพูดจาบางอย่างที่อาจไปกดทับคนอื่นเค้า โมโหอะไรใครขึ้นมาก็จะไม่แว้ดไปก่อน มันดูเหมือนไม่ค่อยเกี่ยวกันแต่มันเกี่ยวกัน
ประเด็นหนังเรามันคล้ายๆ Where We Belong เหมือนกันนะ มันพูดถึงกลุ่มเด็กที่ไม่สามารถเลือกชีวิตของตัวเองได้ และสะท้อนสภาพสังคมไทยออกมาเองโดยไม่รู้ตัว เรารู้สึกอย่างนี้กับชีวิตเราที่เป็นอยู่ กับการปกครองแบบนี้ในรัฐเผด็จการทหารแบบนี้ มันทำให้เราไม่สามารถมีตัวเลือกอะไรเท่าไหร่นักในเรื่องการแสดงความคิดเห็น ในเรื่องของการออกสิทธิออกเสียง แม้กระทั่งการเลือกตั้งก็ตาม สุดท้ายการออกสิทธิออกเสียงของเราก็ไม่ได้มีผลอะไรเท่าไหร่ ซึ่งมันสะท้อนออกมาเองโดยไม่รู้ตัวในแง่ของคนทำงาน
มันอาจจะไม่ได้เห็นภาพชัดขนาดนั้น ชีวิตเราก็ยังอยู่สุขสบาย ชนชั้นกลาง แต่มันดีกว่านั้นได้ไง
documentaryclubthai@gmail.com
Movies Matter Co.,Ltd / THAILAND
© All Rights Reserved 2024
subscribe to newsletter to stay up to date with our films & events