คุยกับไพลิน วีเด็ล ผู้พาสารคดี Hope Frozen คว้ารางวัลใหญ่ และอีกมุมของสังคมไทยในสายตาโลก 

“ตอนนี้ยังช็อคอยู่เลย” ไพลิน วีเด็ล บอกกับเราหลังจาก Hope Frozen สารคดีเรื่องแรกของเธอคว้ารางวัลใหญ่สาย International จากเทศกาล Hot Docs ประเทศแคนาดา และได้รับสิทธิพิเศษมีลุ้นเข้าไปท้าชิงออสการ์สาขาสารคดียอดเยี่ยมปีหน้าโดยอัตโนมัติ มันดูเป็นรางวัลยิ่งใหญ่แบบที่เธอผู้ซึ่งไม่เคยทำหนังมาก่อนจะวาดฝันถึง เพราะนอกเหนือจากชัยชนะดังกล่าวจะสร้างความปลื้มปิติในฐานะคนทำหนังที่แจ้งเกิดในเวทีโลกได้สำเร็จแล้ว สิ่งที่ตามมาคือการเป็นหน้าเป็นตาให้กับเมืองไทยด้วยอีกทาง

ไพลินเป็นนักทำหนังเชื้อสายไทย-อเมริกัน วัย 37 ปีที่เริ่มต้นจากการเป็นหนึ่งในทีมพิธีกร “ทีนทอล์ค” ก่อนจะไปใช้ชีวิตในอเมริกาและเริ่มเส้นทางสายนักข่าวอาชีพ ปัจจุบันเธอกลับมาเมืองไทยและเป็นนักข่าวอิสระให้สำนักข่าวต่างประเทศ และเริ่มพัฒนาวิธีการเล่าเรื่องจนคลี่คลายมาเป็นหนังสารคดีเรื่องแรก Hope Frozen ที่เล่าถึงครอบครัวของ “น้องไอนส์” ด.ญ.เมทรินทร์ เนาวรัตน์พงษ์ เด็กหญิงวัย 2 ขวบที่เสียชีวิตด้วยมะเร็งสมอง ครอบครัวของเธอตัดสินใจนำร่างไปแช่แข็งด้วยกระบวนการ “ไครออนิกส์” หรือกระบวนการศึกษาการเคลื่อนไหว การเปลี่ยนแปลง และพฤติกรรม ภายใต้อุณหภูมิที่ต่ำมากๆ ด้วยความหวังว่าในอนาคตเมื่อเทคโนโลยีทางการแพทย์รุดหน้า จะสามารถชุบชีวิตน้องไอนส์กลับมารักษาต่อได้สำเร็จ จนทำให้เธอกลายเป็นบุคคลที่อายุน้อยที่สุดในโลกที่เข้าไปอยู่ในกระบวนการนี้

ด้วยความสำเร็จดังกล่าว คงถึงเวลาแล้วที่โลกและเราจะต้องหันมาสนใจคนทำสารคดีที่ต้องเดินทางอีกยาวไกลในระดับโลกนาม ไพลิน วีเด็ล ผู้นี้

Hope Frozen

เส้นทางการทำงานด้านสื่อมวลชนของคุณเป็นมาอย่างไร

ชีวิตในวงการนี้ค่อนข้างหลากหลาย ถ้าย้อนไปตอนอายุ 15 เราก็ได้ออกทีวีไทยเยอะเหมือนกัน จากการอยู่ใน “ทีนทอล์ค” พอจบชั้นมัธยมที่เมืองไทยเราก็ไปเมืองนอก และอยากทำสารคดีมานานแล้ว แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดที่เราทำได้ก็ไปเป็นนักข่าวก่อน เราก็ไปทำข่าวที่หนังสือพิมพ์ในอเมริกาแห่งหนึ่ง เป็นพวกข่าวอุบัติเหตุ ตื่นตีสามไปถ่ายข่าวอาชญากรรม เราเลยเริ่มรู้จักกับการเล่าเรื่องแต่เป็นเรื่องที่สั้นมาก เพราะเป็นชิ้นข่าวรายวัน เราก็เริ่มอึดอัดเพราะว่าการทำข่าวนี่มันสั้นเกินไป มันไม่ได้ดั่งใจ จากพื้นที่ที่จำกัดบนหน้าหนังสือพิมพ์มันไม่พอ แต่มันก็เป็นจุดเริ่มต้นในการที่เราจะใช้ภาพเพื่อเล่าเรื่อง การเป็นช่างภาพข่าวนิ่งมันเป็นพื้นฐานเลยในการใช้ภาพเล่าเรื่อง ถ่ายภาพนิ่งไปประมาณสามปีก็เริ่มหยิบกล้องวิดีโอขึ้นมา เรียนรู้เองนี่แหละ แล้วก็เริ่มถ่ายให้กับหนังสือพิมพ์ สั้นๆ 2-3 นาที ในเรื่องที่ไม่ดูเป็นข่าวมาก เราเสนอ บก. ไป เพราะช่วงนั้นพวกเว็บไซต์ข่าวจะเริ่มใส่วิดีโอได้ มาเรียนตัดต่อกันเอง จนเราเริ่มชอบ อาจจะเริ่มต้นจากตามชีวิตคนคนนึงในหนึ่งวัน

จนเมื่อ 12 ปีที่แล้ว เราก็เริ่มคิดว่าควรจะกลับบ้านได้แล้ว พอดีแม่ป่วยด้วย วันนั้นจำได้เลยว่าดูจอทีวีที่ห้องข่าวแล้ว CNN นำเสนอข่าวไทย ตอนนั้นมีรถถังเข้ามา เราก็เฮ้ย เราเป็นคนไทยมาทำอะไรที่อเมริกาเพื่อทำข่าวของเขา กลับบ้านได้แล้ว ข่าวที่น่าสนใจมันอยู่ที่บ้านเรานี่แหละ กลับมาเราก็ฟรีแลนซ์แล้วก็ถ่ายภาพนิ่งไปให้สำนักข่าวที่อเมริกาที่เรามีคอนแท็กต์ ชีวิตเราก็เลยเป็นแบบนั้นคือทำข่าวส่งให้เมืองนอกหมดเลย จากนั้นก็ได้งานที่ AP เป็นเหมือนโปรดิวเซอร์อินเทอร์แอ็กทีฟ คือได้ดูทั้งทวีปเอเชียในการเล่าเรื่องบนเว็บแต่ไม่ได้ออกสนาม ก็คือดูแลทั้งหมดเลยสั่งงานน้องแล้วเราก็เอามาตัดต่อให้เป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งเราก็ชอบแต่ก็คิดถึงการลงสนาม เราเป็นประเภทต้องลุยนิดนึงถึงจะมีชีวิตชีวา (ยิ้ม) เลยเลิกงานนั้นไปเพื่อมาทำฟรีแลนซ์และมาทำบริษัทของตัวเอง จนเริ่มมาคิดเรื่องการทำสารคดี ที่ยาวขึ้น มีความละเอียดมากขึ้น มีอะไรที่ครบกว่าตั้งแต่เราเล่าเรื่องมาในการเป็นนักข่าว ตอนแรกก็ทำให้ Al Jazeera ยี่สิบนาที ทำข่าวที่เจาะลึกหน่อย ทุกวันนี้ก็ยังทำอยู่

 

ปกติทำกับใคร

ไปเองค่ะ บางทีก็ไปคนเดียว เราชอบเห็นอะไรที่ไม่เคยเห็นมาก่อน จนเมื่อสี่ปีที่แล้วเราได้เจอครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์ เพราะเราเข้าไปทำข่าวกับสามีที่ก็ทำข่าวเหมือนกัน เราก็เลยคิดว่าน่าสนใจเพราะน้องไอนส์เป็นเด็กที่อายุน้อยที่สุดในโลกที่ได้ถูกทำไครออนิกส์ มันเลยมีประเด็นที่สามารถผูกโยงไปถึงนานาชาติได้ ไม่ใช่ประเด็นเฉพาะแค่ในไทยแล้วเราเลยไปทำข่าว ตอนแรกก็นัดคุยกันสักครึ่งชั่วโมง ไปๆ มาๆ เกือบสองชั่วโมงเพราะคุยกันถูกปากมาก ซึ่งที่จริงเราจบชีวะ (หัวเราะ) คือชีวิตเราสนใจอะไรก็ไปทำตรงนั้น มันไม่ค่อยมีอะไรที่เป็นเส้นตรง จากที่เราคิดว่า เอ๊ะ ครอบครัวนี้เขารู้รึเปล่าว่ามันมีสิทธิที่จะเป็นไปได้น้อยมาก เขาจะรู้จริงมั้ย ปรากฏว่าทั้งคุณพ่อคุณแม่ของน้องไอนส์เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ เขารู้จักดี นอกจากนั้นเขายังคิดเรื่องปรัชญาของความเป็นความตาย ความเป็นคืออะไรความตายคืออะไรในสายตาของนักวิทยาศาสตร์ แล้วเทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงความหมายเรื่องความเป็นความตายยังไง มันก็เลยเป็นประเด็นที่เรากลับมาคิดเยอะเลยว่ามันน่าสนใจ กลับมาค้นคว้าเพิ่มเติม เสิร์ชเรื่องไครออนิกส์ อ่านเรื่องเทคโนโลยีอื่นๆ ที่สามารถทำให้เราอายุยืน

มันกลายเป็นสิ่งที่เราสนใจมากๆ เราก็กลับไปถ่ายกับครอบครัวเรื่อยๆ เขาก็น่ารักมาก คือให้ถ่ายตลอด ตอนแรกทั้งเราทั้งเขาไม่รู้หรอกว่ามันจะเป็นสารคดียาว เพราะตอนแรกจะทำเป็นข่าวสักสามนาที หรือให้ลูกค้าประจำของเราก็คือ National Geographic ยาวยี่สิบนาที แต่พอถ่ายไปถ่ายมา เราว่าไม่ใช่แล้ว สิ่งที่น่าสนใจที่สุดก็คือ อีโมชั่นความรักความเป็นมนุษย์ของครอบครัวนี้

Hope Frozen

ในการทำข่าว มองหาเรื่องราวจากอะไร

ตอนแรกเราก็ไม่รู้หรอกว่าอะไรเป็นเรื่องหรือไม่เป็นเรื่อง แต่พอทำไปเรื่อยๆ เราก็เห็นว่าคนชอบคลิกดูอะไรบ้าง เพื่อนๆ เราสนใจในประเด็นอะไรบ้าง คือต้องเป็นคนที่สังเกตคน เราต้องเข้าใจว่าไม่ใช่ทุกคนบนโลกนี้จะสนใจเหมือนเราทั้งหมด แต่มันมีธีมมีอรรถบทอะไรบ้างที่มันจะจับใจคนได้ เพราะเราเป็นลูกครึ่ง คุณพ่อเป็นอเมริกัน เราได้อยู่ทั้งอเมริกาทั้งไทย เรื่องที่เราเลือกส่วนใหญ่จะรู้ว่าไม่ใช่แค่คนไทยที่สนใจ แต่จะเป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายค่อนข้างโอเค เราเห็นว่าเราเป็นตัวโยงระหว่างเมืองไทยกับคนข้างนอก พอเราอยู่ตรงจุดนี้ก็จะเห็นว่า เรื่องนั้นๆ ป้าเราที่อยู่แคลิฟอร์เนียเขาจะสนใจมั้ย เรามีญาติที่อาจจะแทบไม่รู้จักเมืองไทยเลย หรือแทบไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเมืองไทยอยู่ไหน นี่คือคนอเมริกันทั่วไปเลยนะ และถ้าเราเอาเรื่องนี้ให้เขาดูจะสนใจมั้ย

สิ่งนี้มันคือความเป็นสากลใช่มั้ย

ค่ะ คืออาจจะมีคนทำสารคดีกลุ่มหนึ่ง เช่นทำเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เขาอาจจะไม่ต้องคำนึงถึงความเป็นสากลอะไรมาก เพราะเขาก็มีกลุ่มคนดูของเขาอยู่แล้ว มันอยู่ที่ว่าเรามองเห็นคนดูเป็นใครมากกว่า มันถึงจะรู้ว่าเราจะมีวิธีเล่าเรื่องยังไง สไตล์ของเราก็จะเปลี่ยนแปลงไปให้ตรงกับคนดูของเรา

บทบาทการเป็นนักข่าวกับนักทำสารคดีต่างกันยังไง

มันมีอย่างหนึ่งเหมือนกันคือการจับประเด็น การเป็นนักข่าวคือการฝึกจับประเด็นที่ดีมาก มันแตกต่างตรงที่การเล่าเรื่อง การเป็นนักข่าวจุดประสงค์ของเราคือการให้ความรู้ที่จะทำให้สังคมดีขึ้น เกิดการเรียนรู้ การทำสารคดีก็อาจมีส่วนทำให้สังคมดีขึ้นและให้ความรู้ด้วย แต่สิ่งที่ให้ความสำคัญมากกว่าคือวิธีการเล่าเรื่องให้ดึงดูดความสนใจ การเป็นนักข่าวเน้นการให้ข้อมูล แต่สารคดีอย่าง Hope Frozen เนี่ย ไม่ได้เน้นไปที่การให้ข้อมูล แต่เป็นการดึงความสนใจให้คนดูมาอินกับเรื่องนี้ เราต้องทำยังไงให้คนสนใจกับสารคดี 75 นาทีนี้ มันยาวนะไม่ใช่ข่าว 90 วินาที เพราะฉะนั้นเราต้องใช้ทักษะการเล่าเรื่องที่ไม่เหมือนข่าว มีการปั้นคาแรกเตอร์ ปั้น narrative ปั้นพล็อต เราต้องมีความตื่นเต้นตรงไหน เศร้าตรงไหน มันต้องผ่านการวางแผนการเล่าเรื่องที่ดึงดูดความสนใจ มันไม่ใช่แค่ความสนใจแต่คือดึงดูดหัวใจเขามาด้วย ดึงดูดความรู้สึกเขา จุดประสงค์ของเราคืออยากให้คนรู้สึกว่าถ้าเป็นเราเราอาจจะทำเหมือนเขาก็ได้ เราก็เหมือนๆ กันนั่นแหละ เราก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน

อีกหนึ่งแรงบันดาลใจคือ เมื่อมันเป็นข่าว สิ่งที่ออกมาจากเมืองไทยมักเป็นเรื่องที่เรารู้ๆ กันอยู่ อาจจะเป็นเรื่องการเมือง การเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ แต่ผลสุดท้ายคือชาวต่างชาติอาจมองเห็นว่าเราด้อยกว่าเขา เรามีอะไรแตกต่างกับเขามาก มันทำให้เขารู้สึกว่านั่นมันเมืองไทยมันจะไม่เกิดขึ้นกับเขาหรอก แต่พอเราทำสารคดียาวและสร้างคาแรกเตอร์ให้คนรู้สึก เขาก็จะเริ่มเห็นคนไทยเป็นมนุษย์ด้วยกัน เมื่อเห็นเราเป็นมนุษย์ด้วยกันก็จะเริ่มเห็นว่าเราเท่าเทียมกัน นั่นคือความอึดอัดของการทำข่าวจนต้องมาทำสารคดีคือเราต้องการทำอะไรที่มันสื่อสารกับโลกว่า เมืองไทยก็มีนักวิทยาศาสตร์นะ เมืองไทยก็มีคนที่รักลูกเหมือนกันนะ เราก็เหมือนๆ กันนั่นแหละ เราต่างนึกถึงความเป็นความตาย นึกถึงเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า นี่คือสิ่งที่ทุกคนบนโลกใบนี้เห็นร่วมกัน คิดว่านี่คือผลประโยชน์ของสารคดีที่แตกต่างจากข่าว

ในการทำสารคดีหรือข่าว เราควรมีเส้นแบ่งของจรรยาบรรณแค่ไหน

พอเป็นนักข่าวเส้นนั้นมันจะตายตัว เราจะอยู่แค่จุดของผู้สังเกตการณ์ เราไปช่วยอะไรเขาไม่ค่อยได้ เราเป็นนักข่าว เขาคือข่าว เราไม่ได้เป็นเอ็นจีโอ แต่พอเรามาทำสารคดี เรามาอยู่กับเขาสองปีครึ่ง อาจจะเดือนละครั้งแต่เราก็เหมือนสนิทกัน มันมีเส้นมั้ยก็ต้องมีอยู่ โอเคเรามีความรู้สึกร่วมกับครอบครัวส่วนหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่เราต้องอยู่กับคนดู เรากำลังเล่าเรื่องที่เป็นความจริงที่สุด ใช่ แต่เราก็กำลังเล่าเรื่องที่จะทำให้คนดูรู้สึกร่วมกันด้วย เราคิดถึงคนดูก่อนจากนั้นจึงค่อยมาคิดถึงจรรยาบรรณของครอบครัวว่ามันจะส่งผลกระทบกับเขายังไง แล้วจะทำให้ผลกระทบร้ายๆ เกิดขึ้นกับเขาน้อยที่สุดยังไง สุดท้ายเราก็ไม่อยากเป็นส่วนที่ทำให้เกิดเรื่องร้ายๆ กับครอบครัวนี้ อย่างน้อยเขาก็เสียลูกไปคนนึงแล้ว มันก็คือความรับผิดชอบของเราเหมือนกัน

การที่เรามีกล้อง เรามีวิธีทลายกำแพงกับซับเจ็คต์ยังไง

ในเรื่องนี้เราคิดว่าถ้าจะให้คนอินที่สุดก็ต้องมาจากปากของครอบครัวเอง เพราะฉะนั้นคนดูก็จะไม่เห็นเราเลย ไม่ได้ยินเสียงเรา และถึงจุดหนึ่งก็จะไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีเราอยู่ด้วย มันต้องอาศัยการสังเกตและการสัมภาษณ์ ซึ่งเราสัมภาษณ์เยอะมาก ครั้งละหลายๆ ชั่วโมง รู้สึกสัมภาษณ์ดร.สหธรณ์ (พ่อ) 14 ครั้ง แต่ละครั้งอย่างน้อยชั่วโมงนึง ไปเรื่อยๆ สองปี การสัมภาษณ์ดร.สหธรณ์ประมาณครั้งที่ 1 หรือ 2 เขาก็จะเล่าให้ฟังถึงตอนเขาเด็กๆ เขาเลี้ยงปลาทอง วันหนึ่งไฟดับทำให้ตัวปั๊มอ็อกซิเจนในตู้ปลามันดับไปและปลากำลังจะตาย เขาเลยเอาปลาไปแช่แข็งในตู้ฟรีซ จากนั้นก็ค่อยนำปลากลับมาเลี้ยงใหม่ บวกกับความที่เขาเป็นเด็ก เหตุการณ์นี้มันเลยติดกับความทรงจำของเขามาโดยตลอด เราฟังก็คิดว่ามันต้องเริ่มเรื่องด้วยภาพนี้แล้ว

Hope Frozen

รู้ตอนไหนว่าแค่ไหนควรพอ

ไม่รู้เลยค่ะ (หัวเราะ) ยังคิดอยู่ตอนนี้ว่าถ้าจะให้ออกไปถ่ายก็ได้นะ เพียงแต่มันมีเดดไลน์เข้ามาเนื่องจากนักลงทุนเขามีกำหนดว่าเราต้องส่งงานนะ แต่ที่จริงแล้วมันจบได้หลายวิธีมาก เรามีสองเวอร์ชั่น อันแรกเราทำส่งนักลงทุน แล้วเอาไปฉายที่งานของเขาที่เชฟฟิลด์ อังกฤษ พอเสร็จเรารื้อตัดใหม่เลย ซึ่งเราก็คิดเหมือนกันนะว่าการที่เราทำสองครั้งเนี่ยมันทำให้อิทธิพลของภาพมันลดลง พอเราดูบ่อยๆ ความรู้สึกก็เริ่มจะหายไป แต่จริงๆ เวอร์ชั่นที่สองคือสิ่งที่เราอยากทำมาตั้งแต่แรก แล้วก็เป็นเวอร์ชั่นที่เข้าเทศกาลได้ ก็คิดว่าเราทำถูกแล้วแหละที่มานั่งทำกันใหม่

พองานทั้งสองอย่างมันใช้ทักษะคล้ายกัน เรามีวิธีคิดหรือการทำงานที่แตกต่างกันอย่างไร

เราต้องเคลียร์แต่แรกว่าคนดูของเราคือใคร ข่าวชิ้นนี้ให้ใคร เผยแพร่ที่ไหน เขารู้จักเมืองไทยมากน้อยแค่ไหน รายละเอียดทุกอย่างมันเกี่ยวกับคนดูทุกครั้ง เราจะทำให้นิวยอกร์กไทมส์หรืออัลจาซีรา คนดูไม่เหมือนกันนะ อย่าง Hope Frozen เราไม่ได้ทำให้สำนักข่าวไหน เรามุ่งไปที่เทศกาล คนดูคือใคร เขาต้องจ่ายตั๋วเข้ามาดูนะ มันไม่เหมือนดูทีวีมันเปลี่ยนช่องง่ายนะ เพราะฉะนั้นเราก็มีรายละเอียดได้ แต่เราต้องอยู่กับคนดูตลอด แล้วขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราอยากทำด้วย อย่างข่าวเราทำให้กับบก. แต่พอเรามาทำเพื่อเราเอง ก็ต้องคิดหนักหน่อยว่าสไตล์ของเราคืออะไร เรายังต้องมีความเป็นตัวเอง เราจัดกิจกรรมฉายสารคดีที่ FCCT (สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย) นั่นเป็นจุดมุ่งหมายของเราเลยที่อย่างน้อยต้องได้ดูสารคดีอาทิตย์ละเรื่อง เราก็เลยจัดอีเวนต์นี้ขึ้นมาเป็นการบังคับให้เราดูทุกอาทิตย์ ไหนๆ เราต้องดูแล้วก็ฉายให้คนอื่นบ้าง ซึ่งเราก็ไม่ได้ดูเหมือนคนดูทั่วไป เราจะเขียนโน้ตตลอดว่าชอบตรงนี้ ไม่ชอบตรงนี้ บุคลิกของการเล่าเรื่องของเราเองคืออะไร สี่ปี่ที่เราทำตรงนี้ก็ทำให้เราพัฒนาตัวเองอยู่เรื่อยๆ

พอได้รางวัล เคยมานั่งทบทวนมั้ยว่าเดินทางมาถึงจุดนี้ได้ยังไง

ไม่รู้ (หัวเราะ) ยังตกใจอยู่เลย (ถอนใจ) มันเป็นการเดินทางที่ยาวนาน 4 ปีแล้วนะ มันเริ่มจากเราไม่รู้ว่าเงินทุนอยู่ตรงไหน เราเขียนขอทุนไป 14 ที่ ไปพิตชิ่งถึง 7 ครั้ง เป็นเรื่องที่ทุกคนสนใจ เข้าถึงรอบสุดท้ายของแต่ละฟอรั่ม แต่ก็ไม่ได้สักที จริงๆ เกือบจะยอมแพ้แล้วเพราะเราถ่ายไปสองปีกว่า ช่วงสุดท้ายเราอยากถ่ายเกี่ยวกับน้องแมทริกซ์ (พี่ของน้องไอนส์) แต่เราไม่มีทุนแล้ว ก็โอเคเริ่มยอมแพ้และเริ่มมาคิดแล้วว่าจะปรับการเล่าเรื่องยังไง จนได้เข้ารอบสุดท้ายที่เชฟฟิลด์ ทุนชื่อ The Wicker แล้วชนะ ซึ่งทุนของเขามัน 80,000 ปอนด์ พอได้ปั๊บชีวิตเราเปลี่ยนไปเลย จากที่เราลงทุนเอง เพื่อนทำงานให้ฟรี กลายเป็นว่าเราจ้างคนมาต่อได้ จ้างคนมาจัดการฟุตให้เราได้ จ้างคนมาแปลซับไตเติลได้ ความคิดแรกที่อยากเอาเข้าเทศกาลก็กลับมา แล้วมาตามถ่ายครอบครัวเขาอีก 7-8 เดือน

เราเพิ่งจะมาส่งเทศกาลเมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งเราก็เข้ารอบเทศกาลไม่ได้เลยสักที่เดียว Hot Docs เทศกาลเดียวเลย ตอนแรกสารคดีของเราไม่ได้อยู่ในสายประกวด แต่มันเหมือนมีสักเรื่องที่เขาเลือกไว้ที่ไม่ได้มาพรีเมียร์ที่เทศกาลแล้ว เขาเลยเปลี่ยน category เราไปสายแข่งขันในวินาทีสุดท้าย (หัวเราะ) เรายังอึ้งอยู่เลย ซึ่งวันประกาศผลมันจัดวันศุกร์ แผนคือเราจะกลับตั้งแต่วันพฤหัสฯ แล้ว เราคิดว่าคงไม่ได้รางวัลแน่ๆ เพราะเรื่องอื่นมีตั้งแต่เรื่องซีเรีย เรื่องสิทธิการทำงาน มันเป็นประเด็นที่ใหญ่มาก ทุนเขาก็เยอะ เราสู้ไม่ไหวอยู่แล้ว พอวันพุธได้อีเมล์จากเทศกาลว่าอยากให้เราอยู่ถึงวันประกาศผล เราก็ “จริงเหรอ” (หัวเราะ) มันอาจจะเป็นรางวัลเล็กๆ น้อยๆ เช่นรางวัลผู้กำกับใหม่รึเปล่า ทีมงานก็กลับไปกันหมดแล้วเหลือเรากับคนตัดต่อ แต่ละรางวัลก็ใช้เวลานาน สปีชแต่ละคนก็ยาวมาก เราก็นั่งเบื่อเมื่อไหร่จะถึงตาเราบ้าง จนมาถึง Special Jury ก็เป็นสารคดีซีเรียที่เข้าคานส์ (For Sama) เราก็เอ๊ะ มันน่าจะเป็นเรื่องที่ชนะรางวัลใหญ่นะ แล้วใครที่จะชนะเลิศ พอรางวัลถัดมาก็เป็นคนอื่นอีก เอ๊ะ เขาส่งอีเมล์มาผิดรึเปล่าเนี่ย จนรางวัลสุดท้ายเขาก็บอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของครอบครัวในเมืองไทย เรายังหันไปคุยกับคนตัดต่อว่าเราไม่ได้ฟังผิดใช่มั้ย ไม่ได้เตรียมสปีชไปเลย ขอบคุณมั่วมาก พอขึ้นไปถ่ายรูปบนเวทีด้วยความมือสั่นก็ทำรางวัลตก รางวัลแก้วด้วยนะ แต่ดีที่ไม่แตก ตอนนั้นไม่รู้ด้วยว่าถ้าชนะเราจะมีสิทธิเข้าออสการ์ได้ พูดจริงๆ เลยว่าเราไม่รู้ว่าเส้นทางที่เรามาถึงตรงนี้คืออะไร มันไม่มีอะไรที่แน่นอน

ไพลิน วีเด็ล ผู้กำกับ-โปรดิวเซอร์ กับ Nina Ijas ผู้ร่วมตัดต่อและผู้เขียนบท Hope Frozen ที่เทศกาล Hot Docs Canadian International Documentary Festival (ภาพจากเฟซบุ๊คเพจ Hope Frozen)

มันส่งผลอะไรบ้าง

เรายังไม่รู้เพราะมันใกล้ตัวเกินไป แต่ถ้าในเรื่องของการทำสารคดี เราหวังว่าถ้าเราจะทำเรื่องที่สองจะง่ายขึ้น เพราะการหาทุนนี่ยากมากๆๆๆ ตอนแรกที่เราเริ่มทำสารคดี โปรดิวเซอร์บอกว่าจะใช้เวลาสี่ปี เราว่าไม่จริงหรอกเพราะเราเคยทำข่าวมาก่อน ไม่น่าเกินปีนึง สรุปสี่ปีจริงๆ โดยเฉพาะการที่เรามาจากภูมิภาคนี้ ซึ่งคนให้ทุนเขาน่าจะอยากได้ประเด็นพวกสิทธิมนุษยชน หรือไม่ก็สิ่งแวดล้อม สิ่งที่เขาคิดว่าเรื่องที่สามารถที่จะเป็นประเด็นที่พอนำเสนอไปแล้วโลกดีขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วถ้ามีแต่เรื่องสิทธิมนุษยชนที่ออกไปจากทวีปนี้คนก็จะเห็นคนในทวีปนี้ไร้สิทธิ และเป็นเหยื่อตลอด ซึ่งมันก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีนะ เราสามารถเป็นอะไรก็ได้ เป็นนักวิทยาศาสตร์ หรือเป็นมะเร็ง

มันไม่ใช่สิ่งที่เขาคาดหวังว่าจะได้รับจากซับเจ็กต์ในภูมิภาคนี้เหรอ

มากกว่านั้นค่ะ เขาคิดว่าการนำเสนอสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นมันจะทำให้ประเทศนั้นดีขึ้น มันก็คือความคิดของนักข่าวว่าถ้าเราให้ข้อมูลกับโลก ทุกคนก็จะมีความรู้ แล้วทุกคนก็จะจับมือช่วยกันเปลี่ยนให้มันดีขึ้น ซึ่งเป็นความคิดที่ถูกและดี แต่ถ้าเรานำเสนอแค่นี้มันก็ไม่ได้ครอบคลุมความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ภาพที่สร้างขึ้นมาไม่ใช่ภาพของความจริง มันกลายเป็นว่าคนในภูมิภาคนี้กำลังต่อสู้ตลอด ต่อสู้กับรัฐบาล มันไม่ได้ครอบคลุมชีวิตที่หลากหลายของภูมิภาคนี้

ก็จริง เหมือนเมื่อสักครู่พูดถึงสารคดีซีเรีย โดยที่ยังไม่ได้ดูเราก็มีภาพในหัวแล้วว่าสารคดีจะเล่าเกี่ยวกับอะไร

ใช่มั้ย? เราก็ยังไม่ได้ดูหรอกแต่ก็พอเดาได้ว่าจะต้องเกี่ยวกับสงครามและผู้คนที่ได้รับผลกระทบ

ภาพที่เขามีต่อเมืองไทยเป็นอย่างไร

(ถอนใจ) เราก็มีเพื่อนต่างชาติเยอะ แล้วเราก็เรียนมหาวิทยาลัยรัฐด้วย เป็นรัฐที่ไม่ค่อยรวย เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าประเทศไทยอยู่ไหน เพราะฉะนั้นภาพพจน์เราสำหรับเขาคือ…ไม่มีเลย เขาอาจจะสับสนด้วยซ้ำกับไต้หวัน นั่นคือสิ่งแรก และคนส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนั้น ส่วนคนที่อ่านข่าวมาบ้างก็จะพอรู้ว่าเราเป็นประเทศที่มีโสเภณีเยอะ น่าเที่ยว มีการค้ามนุษย์เยอะ แต่ถ้าเป็นเรื่องการเมืองนี่เขายิ่งไม่รู้เรื่องเลยเพราะมันซับซ้อนมาก คนที่มาเที่ยวเขาไม่รู้หรอกนะว่าเรามีปัญหาการเมืองกันอยู่ เพราะมันไม่มีผลกระทบกับเขาไง ในฐานะที่เขาเป็นนักท่องเที่ยวมาหรือพอจะอ่านข่าวมาบ้าง สิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองไทยมันไม่มีผลกระทบกับเขาเลย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขาจะจดจำก็เลยเป็นข่าวที่เขาทึ่ง แปลก ใหม่ ร้ายแรง มีความที่สุด

การเป็นผู้กำกับหญิงเกี่ยวมั้ยกับการที่เราได้รับความสนใจระดับนี้

เกี่ยว ผู้ตัดสินใจว่าจะให้หนังเข้าไปในเทศกาลเขาหรือไม่นั้นมีหลากหลายกว่าเดิม เมื่อก่อนอาจจะส่วนใหญ่เป็นผู้ชายผิวขาว เดี๋ยวนี้อาจจะหลากหลายสี หลากหลาย gender เรื่องที่เขาเลือกก็มีความหลากหลายขึ้น ใช่ ยุคนี้เป็นยุคที่งานของผู้หญิงจากโลกที่สามมีโอกาสมากขึ้น เพราะคนเลือกเขาเปิดรับมากขึ้น แต่ละเทศกาลเริ่มสังเกตเห็นว่าผู้กำกับหญิงที่เข้ามาในเทศกาลเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ เขาจะเริ่มดูซึ่งถ้าน้อยมันเป็นเพราะอะไร เขามีข้อจำกัดอะไรรึเปล่าถึงทำให้หนังมาไม่ถึงเทศกาลเขา ก็จะเริ่มหาคนที่เขาไม่เคยจะแลมาก่อนว่าทำอะไรกันบ้าง เมื่อรู้ว่าในความเป็นจริงมันมีการกีดกั้นอยู่ เขาก็จะมีคนของเขาไปตามเทศกาลต่างๆ

โปรแกรมเมอร์ซันแดนซ์ก็เพิ่งมาเมืองไทยเมื่อปีที่แล้วเพื่อหาคำตอบว่าทำไมหนังจากอาเซียนไม่ค่อยมีใครส่งไปซันแดนซ์เลย เขาเห็นว่าเปอร์เซ็นต์น้อยมาก เขาเลยส่งตัวแทนมาถาม มาเสวนากัน ว่าทำไมไม่ส่งกันมาเลย ผู้กำกับของเราหลายๆ คนก็บอกว่า “ก็เราไม่คิดว่าจะเข้าได้น่ะ” (หัวเราะ) คนชนะแต่ละปีแทบไม่มีจากแถบเราเลย สิงคโปร์เข้าได้สองเรื่องแล้ว ตอนเราส่งไปซันแดนซ์เขาน่ารักมาก คนส่งหนังเข้าซันแดนซ์หมื่นสี่พันกว่าเรื่อง เขาดูได้ไม่ครบอยู่แล้ว แต่พอเขาเห็นเราส่งไปเขาก็ส่งอีเมล์มาบอกว่าได้ดูแล้วนะ แต่มันมีจุดด้อยอยู่ตรงไหนบ้าง ซึ่งดีมากเลยเพราะข้อติเขาช่วยเราในการตัดใหม่ได้เยอะมาก มันทำให้เรามานั่งคิดว่าทำไมเขาถึงคิดอย่างนั้น มีอะไรที่เขาไม่เข้าใจมั่ง เนี่ย การที่เขาสนใจในงานแม้จะไม่ได้เข้ารอบมันก็กลายเป็นเรื่องที่ดี

เราคิดว่าไม่เคยมีจังหวะในประวัติศาสตร์เราที่เทศกาลซันแดนซ์ให้ความสนใจในภูมิภาคเราขนาดนี้ เพราะเริ่มมีการรู้ตัวว่าเรื่องที่น่าสนใจไม่ได้อยู่แค่ในอเมริกากับยุโรปนะ และเรื่องที่ไม่มีความหลากหลายมันมีผลกระทบต่อสังคมนะ และควรจะทำอะไรมากกว่านี้เพื่อจะมีความหลากหลายในการเล่าเรื่อง