ประเด็นสำคัญในหนัง
- การถูกล่วงละเมิดทางเพศเป็นอาชญากรรมที่อาจเกิดขึ้นได้กับ “ทุกคน”
สังคมมักคิดว่า ผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศนั้น เป็นเพราะพวกเธอ “ทำตัวเสี่ยง” ไม่ว่าจะเพราะแต่งตัวโป๊ เข้าไปอยู่ในสถานที่เสี่ยง ไว้ใจคนผิด ไม่ระมัดระวังตัวเอง ฯลฯ แต่หนังเรื่องนี้แสดงให้เห็นข้อเท็จจริงว่า การถูกล่วงละเมิดทางเพศเป็นภัยร้ายที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน และบุคคลที่สมควรได้รับโทษไม่ใช่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ แต่คือผู้ลงมือกระทำต่างหาก นอกจากนั้น ไม่ใช่แค่ผู้หญิงเท่านั้นที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศได้ แต่ผู้ชายจำนวนมากก็ตกเป็นเหยื่อเช่นกัน
- สถานศึกษาไม่ใช่ที่ปลอดภัย
เรามักเข้าใจว่าหากมีนักศึกษาตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทางเพศแล้ว สถาบันการศึกษาจะเข้ามาให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีและรับมือกับสถานการณ์อย่างยุติธรรม แต่สิ่งที่ปรากฏในหนังกลับเป็นตรงกันข้าม มหาวิทยาลัยหลายแห่งเลือกจะ “ปิดปาก” ผู้ที่ถูกกระทำ กีดกันพวกเขาไม่ให้สามารถร้องเรียนหรือรายงานเหตุการณ์ได้โดยง่าย และหลาย ๆ ครั้งสถาบันการศึกษาก็ทำตัวเป็นคู่ขัดแย้งกับผู้ถูกกระทำเสียเอง
- ผู้กระทำมีแนวโน้มจะกระทำต่อเนื่อง
ในหนังเผยข้อมูลว่า การล่วงละเมิดทางเพศส่วนใหญ่ในมหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกา เกิดจากผู้ถูกกระทำแค่ไม่กี่คน (ผู้ชายในมหาวิทยาลัยไม่ถึง 8% เป็นคนกระทำการล่วงละเมิดทางเพศมากกว่า 90%) แต่เมื่อมหาวิทยาลัยไม่ยอมรับรายงาน ไม่จริงจังกับการสอบสวนและการพิจารณาคดีอย่างเหมาะสม ก็ทำให้ผู้กระทำเหล่านี้มีโอกาสไปทำผิดซ้ำ ๆ อย่างต่อเนื่อง
- สถาบันการศึกษาคือ “ธุรกิจ” ขนาดใหญ่
เป็นที่รู้กันว่า มหาวิทยาลัยในอเมริกานั้นเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ และอธิการบดีรวมถึงคณะกรรมการบริหารสถาบันก็มีหน้าที่ในการปกป้อง “แบรนด์” ไม่ให้เสื่อมเสีย เพื่อให้สถาบันยังสามารถสร้างรายได้มหาศาลต่อไปจากเงินบริจาคของบรรดาศิษย์เก่า นอกจากนั้น หนังยังให้ข้อมูลว่า อีกหนึ่งกิจกรรมที่สร้างกำไรให้แก่สถาบันมากที่สุด ก็คือการแข่งกีฬามหาวิทยาลัย ดังนั้นจึงมีหลายกรณีที่เมื่อนักกีฬาชื่อดังของสถาบันกระทำการล่วงละเมิดทางเพศ แล้วสถาบันไม่สนใจจะพิจารณาความผิดเลย เพราะไม่ต้องการให้เส้นทางนักกีฬาของพวกเขาถูกกระทบกระเทือน
- จาก “เหยื่อ” สู่ “ผู้รอด” และ “นักสู้”
ซับเจ็กต์สำคัญในหนังเรื่องนี้คือนักศึกษาหญิงกลุ่มหนึ่งซึ่งเจ็บปวดซ้ำแล้วซ้ำเล่า หลังจากถูกล่วงละเมิดทางเพศและพยายามร้องเรียนไปยังมหาวิทยาลัย นอกจากไม่ได้รับความยุติธรรม พวกเธอยังถูกอาจารย์และเพื่อนนักศึกษาเหยียดหยาม แต่สิ่งเหล่านี้เป็นแรงผลักดันให้พวกเธอตัดสินใจรวมพลังกันแล้วลุกขึ้นสู้ ด้วยการยื่นฟ้องสถาบันของตน รวมทั้งสร้างเครือข่ายทั่วประเทศเพื่อเสริมพลังให้แก่นักศึกษาที่ถูกล่วงละเมิดคนอื่น ๆ ส่งผลให้ในปี 2015 มีสถาบันการศึกษาในสหรัฐอเมริกามากกว่า 100 แห่งที่ถูกรัฐบาลกลางสั่งสอบสวนในประเด็นนี้
ดูจบแล้วคุยอะไรกันดี
1. ก่อนดูหนังเรื่องนี้ คุณเคยรู้มาก่อนมั้ยว่าในมหาวิทยาลัยมีเหตุการณ์นักศึกษาถูกล่วงละเมิดทางเพศมากมาย หากเพิ่งรู้ คุณรู้สึกยังไงบ้าง
2. หลังจากดูหนังแล้ว คุณคิดว่าการล่วงละเมิดทางเพศเกิดจากอะไร และคิดว่าจะป้องกันมันได้อย่างไร
3. คุณกับครอบครัวของคุณมีทัศนคติอย่างไรกับการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยดัง ๆ และหลังดูหนังเรื่องนี้แล้ว ความคิดที่เคยมีต่อมหาวิทยาลัยเปลี่ยนไปบ้างไหม อย่างไร
4. ถ้าเกิดเหตุการณ์มีคนถูกล่วงละเมิดทางเพศ คุณคิดว่าสังคมรอบตัวคุณมีวิธีรับมืออย่างไร มีความคิดอย่างไรต่อผู้ถูกกระทำ และมีการช่วยเหลืออย่างไร
5. เหยื่อหลาย ๆ คนในหนังเรื่องนี้ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากอาจารย์หรือผู้บริหารมหาวิทยาลัย หนักกว่านั้นคือหลายกรณีกลับโดนดูถูกและกลั่นแกล้งด้วย คุณเห็นแล้วรู้สึกอย่างไร คุณอยากให้มหาวิทยาลัยมีปฏิกิริยาอย่างไร
6. ลองนึกถึงสังคมที่คุณอยู่ เคยมีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นไหม (ที่ผู้ถูกกระทำกลับตกเป็นฝ่ายถูกเหยียดหยามหรือถูกแกล้งซ้ำอีก)
7. ในหนัง เราได้เห็นว่าเหตุผลหนึ่งที่หลาย ๆ มหาวิทยาลัยไม่ยอมช่วยผู้ถูกกระทำ แถมยังหนุนหลังผู้กระทำด้วย ก็คือเรื่องของธุรกิจ (ห่วงเงินบริจาค ห่วงชื่อเสียง) คุณคิดว่ามหาวิทยาลัยจะมีวิธีที่ดีกว่านี้ได้อย่างไรบ้าง ในอันจะรักษาชื่อเสียงของสถาบันพร้อม ๆ กับปกป้องนักศึกษาและรักษาความถูกต้องให้ได้ด้วย
8. ผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศหลาย ๆ คนไม่กล้าเล่าเรื่องของตัวเองให้พ่อแม่ฟัง คุณคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ พ่อแม่ควรทำตัวอย่างไรเพื่อให้ลูกพูดคุยด้วย
9. ถ้าคุณมีเพื่อนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ คุณจะบอกเพื่อนว่าอย่างไร จะช่วยพวกเขาอย่างไรได้บ้าง