‘เด็กหญิงนาปาล์ม’ โต้กลับ ยืนยัน ‘นิค อึ๊ต’ ช่างภาพตัวจริง เตรียมฟ้องทีมสารคดี The Stringer

กลายเป็นมหากาพย์กว่าที่คิด สำหรับข่าวความอื้อฉาวของภาพถ่าย Napalm Girl (ภาพเด็กหญิงวิ่งหนีระเบิดนาปาล์มในสงครามเวียดนามปี 1972 อันโด่งดัง) ซึ่งถูกเปิดประเด็นเมื่อต้นปีโดยหนังสารคดีในเทศกาลหนังซันแดนซ์เรื่อง The Stringer ว่า คนถ่ายตัวจริงหาใช่ นิค อึ๊ต ช่างภาพชาวอเมริกัน-เวียดนามของสำนักข่าว AP ที่ได้ครองเครดิตนี้มากว่า 50 ปีไม่ แต่คือ เหงวียน แถ่ญ เหงะ ตากล้องฟรีแลนซ์ชาวเวียดนามซึ่งได้เงินจาก AP ไปแค่ 20 ดอลลาร์ต่างหาก
 
ข้อมูลนี้ในสารคดีดังกล่าวกลายเป็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขวาง จนล่าสุดเมื่อกลางเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ทาง World Press Photo ก็รับลูกถึงขั้นประกาศถอดเครดิต นิค อึ๊ต ออกจากการเป็นผู้ถ่ายภาพนี้ไปแล้วเรียบร้อย โดยยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าแล้วใครเป็นคนถ่ายกันแน่
(อ่านข่าวก่อนหน้านี้พร้อมรายละเอียดการสืบสวนของ World Press Photo ได้ ที่นี่)
 
อย่างไรก็ตาม ความวุ่นยังไม่จบ เมื่อวานนี้ ฟาน ถิ กีม ฟุก เด็กหญิงในภาพดังกล่าวซึ่งปัจจุบันอายุ 62 ปีแล้ว ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกประณามสารคดีเรื่องนี้และ คาร์ล โรบินสัน อดีตบรรณาธิการภาพสำนักข่าว AP (ซึ่งเป็นคนให้ข้อมูลแก่หนัง) ว่านำเสนอข้อมูลผิด ๆ โดยเธอยืนยันว่า แม้ในวันเกิดเหตุการณ์ เธอจะอยู่ในอาการช็อกจนจดจำรายละเอียดทั้งหมดไม่ได้ แต่ทั้งลุงของเธอและพยานทุกคนที่นั่นยืนยันตรงกันหมดว่า นิค อึ๊ตนี่แหละคือคนที่วิ่งเข้ามาถ่ายภาพเธอ
 
ไม่เพียงเท่านั้น เธอบอกด้วยว่า นิคยังเป็นตากล้องคนเดียวที่นั่นที่พาเธอไปส่งโรงพยาบาลตามคำขอร้องของลุงของเธอ และเขายังเคยกลับมาเยี่ยมเธอในปี 1973 ด้วย ซึ่งทำให้ครอบครัวของเธอกับนิคสนิทสนมกันและยังคงติดต่อกันจนถึงทุกวันนี้
 
(อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ฟาน ถิ กีม ฟุกเคยยืนยันมาแล้วว่านิค อึ๊ตเป็นคนถ่าย)
จดหมายเปิดผนึกของฟาน ถิ กีม ฟุก
ส่วนความเคลื่อนไหวของนิค อึ๊ตล่าสุด เขากำลังให้ทนายเตรียมเอกสารเพื่อฟ้องทีมงานสารคดี The Stringer โดยเขาบอกว่าเรื่องทั้งหมดเกิดมาจากความขัดแย้งส่วนตัวระหว่างเขากับ แกรี่ ไนท์ ช่างภาพและผู้ร่วมก่อตั้งเอเยนซี่ VII Photo Agency ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมเขียนบทสารคดีเรื่องนี้
 
มีข่าวด้วยว่า ช่างภาพที่มีชื่อเสียงระดับโลกหลายคนก็ออกมาปกป้องนิค อึ๊ต ด้วยการส่งจดหมายประท้วงการตัดสินใจของ World Press Photo
 
แล้วเรื่องนี้จะจบอย่างไร ทีมสารคดีจะโต้ตอบว่าอย่างไรหรือไม่ เราต้องติดตามกันต่อไป

โครงการพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านภาพยนตร์สารคดี

ได้รับการส่งเสริมจาก กองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม

More news