หนังชีวประวัตินักร้องนักดนตรี เป็น ‘สารคดี’ หรือแค่เครื่องมือการตลาด

ใครตามดูสารคดีบนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง คงสังเกตเห็นว่ายิ่งวันยิ่งเต็มไปด้วยสารคดีชีวิตศิลปินนักร้องดัง ๆ ซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นการเซอร์วิสแฟน ๆ ได้ดี แต่ในอีกแง่ บทความใหม่ของฮอลลีวู้ดรีพอร์ตเตอร์ตั้งคำถามว่า นี่อาจเป็นสัญญาณของความเสื่อมถอยและการสูญเสียบทบาทของสารคดีที่แท้จริงก็ได้
 
บทความชื่อ “ดนตรีกับหนังคนดังกำลังฆ่าสารคดีอยู่หรือเปล่า” เขียนโดย Steven Zeitchik กับ Ethan Millman เริ่มด้วยการตั้งคำถามว่า ทำไมรายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้าชิงรางวัลสารคดีเวทีสำคัญของอเมริกาอย่าง Emmy Awards ปีนี้ ถึงเต็มไปด้วยผลงานอย่างสารคดีชีวิตบรูซ สปริงสทีน, ซีลีน ดิออน, จอห์น วิลเลี่ยมส์, เดอะบีตเทิลส์ ซึ่งจะว่าไปแล้วแต่ละเรื่องก็ไม่ได้โดดเด่นด้านการตีความดนตรีเชิงลึก หรือเจาะลึกความคิดสร้างสรรค์ของตัวศิลปินแบบจริง ๆ จัง ๆ แถมยังไม่มีด้านมืดไม่มีแง่มุมพิเศษอะไรเลยด้วย จนยากจะมองเจตนาของมันเป็นอื่นไปได้ นอกจากเป็นเครื่องมือทางการตลาดให้แก่ตัวศิลปินและค่ายเท่านั้น
 
ถ้าเราลองย้อนมองอดีตของรางวัลเอมมี่ (รวมถึงรางวัลอื่น ๆ) จะพบว่าเวทีเหล่านี้เคยให้พื้นที่และรางวัลแก่สารคดีที่ถ่ายทอดประเด็นทางสังคมเข้มข้นหลากหลายมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นสารคดีชำแหละสงครามเวียดนาม สำรวจความโหดร้ายของเรือนจำ ความเหลื่อมล้ำทางเชื้อชาติ ฯลฯ แต่ 2-3 ปีมานี้อันเป็นช่วงเวลาที่โลกเต็มไปด้วยความขัดแย้งรุนแรง ความอยุติธรรม ภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อม สารคดี-ที่ควรจะยิ่งทำหน้าที่ถ่ายทอดความจริงเหล่านั้น-กลับได้รับความสำคัญน้อยลงเรื่อย ๆ
 
ในบทความมีคำให้สัมภาษณ์จากทั้งโปรแกรมเมอร์เทศกาลหนังและคนทำสารคดีรุ่นใหญ่ ซึ่งเห็นคล้าย ๆ กันว่า การที่ศูนย์กลางอำนาจของวงการสารคดีเปลี่ยนจากผู้เล่นเดิมอย่าง PBS กับ HBO ไปสู่แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งอย่าง Netflix, Disney และ Apple ทำให้เกมเปลี่ยนไป เพราะพวกเขาเหล่านี้ให้ความสำคัญกับยอดคนดูและรายได้มากกว่าความลึกซึ้งของเนื้อหาอยู่แล้ว
 
หนักกว่านั้น แพลตฟอร์มบางรายถึงขั้นเป็นฝ่ายจ่ายเงินให้ศิลปินเพื่อเป็นค่าสิทธิ์ในการนำเรื่องราวชีวิต เพลง ฟุจเตจ ภาพหาดูยาก ฯลฯ มาใช้ โดยแลกกับการยอมให้ศิลปินหรือต้นสังกัดเข้ามาควบคุมสิ่งที่จะเล่า แน่นอนว่าเราก็เลยได้เห็นหนังที่ไม่พยายามแตะแง่มุมใด ๆ อันจะเป็นภัยต่อภาพลักษณ์ของเจ้าตัวเลย และก็ส่งผลให้มันกลายเป็นแค่ “โฆษณาในคราบของสารคดี” ไปในที่สุด
 
กรณีชัด ๆ ที่เกิดขึ้นปลายปีที่แล้วก็คือ สารคดีชีวประวัติ Prince กำกับโดย เอซร่า เอเดลแมน (ซึ่งเคยชนะรางวัลเอมมี่จาก O.J.: Made in America) ที่ใช้เวลาทำอยู่หลายปี แต่สุดท้ายเมื่อทนายและบริษัทจัดการสิทธิ์ของพรินซ์เห็นว่าหนังนำเสนอด้านมืดหม่นเกินไป จึงออกโรงขู่จนทำให้ Netflix ตัดสินใจยกเลิกการเผยแพร่หนังทันที พร้อมกับที่ทางบริษัทจัดการสิทธิ์ก็ประกาศจะทำสารคดีพรินซ์เวอร์ชั่นใหม่ให้เล่าเรื่องในแบบที่พวกเขาต้องการ
 
ชะตากรรมคล้ายกันนี้ยังเกิดขึ้นกับ The Bibi Files สารคดีวิพากษ์เบนจามิน เนทันยาฮู นายกฯ อิสราเอล ที่กำกับโดย อเล็กซ์ กิบนีย์ และ The Last Republican สารคดีด่าโดนัลด์ ทรัมป์ ของ สตีฟ พิงค์ ซึ่งจนป่านนี้ก็ยังไม่มีค่ายไหนกล้าเอาไปจัดจำหน่าย
 
แม้ฝ่ายผู้ผลิตสารคดีศิลปินจะออกมาโต้ว่า ข่าวดนตรีทั่วไปน่ะไม่เคยนำชีวิตศิลปินมาเล่าเลย สารคดีกลุ่มนี้จึงต้องเกิดขึ้นเพื่อให้แฟน ๆ ได้รู้จักตัวตนของศิลปินที่รัก แต่ก็ยังมีคำถามกลับไปอีกอยู่ดีว่า จะรู้จักได้ลึกขนาดไหนกันเชียว ในเมื่อทุกเรื่องล้วนถูกบีบให้เสนอเฉพาะด้านบวก ซ้ำร้าย กระทั่งศิลปินที่สร้างชื่อเสียงจากผลงานและตัวตนที่มีความซับซ้อน สารคดีชีวิตพวกเขาก็ยังมักตัดความซับซ้อนเหล่านั้นทิ้งอยู่ดี
 
ผู้กำกับบางคนเล่าด้วยว่า เวลาไปประชุมโปรเจกต์สารคดีประเภทนี้ทีไร เขารู้สึกเหมือนไม่ได้มาทำสารคดีแบบที่คุ้นเคย แต่ถูกจ้างให้มาเติม “ช่องว่างในแผนการตลาด” ของศิลปินมากกว่า โดยเฉพาะในกรณีที่ต้นสังกัดเป็นผู้สร้างสารคดีเอง หนังเหล่านี้ก็จะถูกมองเป็นเพียงเครื่องมือเสริมเพื่อช่วยโปรโมตผลงานเพลงออกใหม่เท่านั้น

โครงการพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านภาพยนตร์สารคดี

ได้รับการส่งเสริมจาก กองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม

More news