Midnight Traveler ความจริงอันเจ็บปวดหลังกล้อง

“ผมรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นแค่ปรสิต เป็นสิ่งมีชีวิตไร้ค่า บางครั้งผมรู้สึกหมดหวัง แต่เพราะหนังเรื่องนี้ ผมจึงยังพอมีหวังอยู่ หนังเรื่องนี้ทำให้ผมรู้สึกว่าผมยังมีความเป็นคน” – ฮัสซัน ฟาซีลี

4 ปีหลังถูกตอลีบานออกใบสั่งฆ่า คู่สามีภรรยานักทำหนัง ฮัสซัน ฟาซีลี กับ ฟาติมา ฮุสเซนี ต้องหอบลูกสาวเล็ก ๆ สองคนหนีจากอัฟกานิสถาน ระหกระเหินผ่านป่าเขา ถูกหลอก ถูกพาเข้าประเทศคนขาวที่เต็มไปด้วยการเหยียดหยาม และพบตัวเองติดกับอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยโดยยังไร้อนาคต

ตลอดเวลานั้น ทั้งคู่ใช้โทรศัพท์มือถือ 3 เครื่องถ่ายการผจญภัยเสี่ยงตาย สลับกับการพยายามใช้ชีวิตอย่าง “ปกติ” กับลูก ๆ และฟุตเตจหลายร้อยชั่วโมงที่ได้ก็ถูกส่งต่อมาถึงมือสหาย เพื่อตัดต่อกลายเป็นหนังเรื่อง Midnight Traveler

เอมิลี มาห์ดาเวียน ผู้เป็นทั้งเพื่อน โปรดิวเซอร์ และคนตัดต่อ รู้จักครอบครัวนี้ผ่านกลุ่มคนทำหนังในทาจิกิสถานตั้งแต่ปี 2015 ระหว่างที่พวกเขายื่นเรื่องขอลี้ภัย นับจากนั้น มาห์ดาเวียนก็หาทางนัดเจอฟาซีลีในทุกประเทศที่ฟาซีลีต้องหนีผ่าน เพื่อส่งแล็ปท็อปและฮาร์ดไดรฟ์บันทึกหนังที่ถ่ายแต่ละช่วง ให้เธอนำกลับมาตัดต่อในสหรัฐอเมริกา

“สิ่งที่ครอบครัวนี้ถ่ายมันเหนือกว่าภาพข่าวว่าด้วยวิกฤติผู้อพยพใดๆ เพราะนอกจากประสบการณ์ที่เต็มไปด้วยความกดดันเสี่ยงตายแล้ว มันยังมีอารมณ์ขัน ความสุข มีมิติที่หลากหลายในชีวิตคนเรา ซึ่งไม่มีวันพบได้ในหนังที่เล่าด้วยสายตาคนนอก” เธอบอก

แต่การเล่าในฐานะ “คนใน” ก็ต้องแลกมาด้วยความเจ็บปวดของตัวฟาซีลีเช่นกัน เขาให้สัมภาษณ์กับสื่อ (ผ่านวิดีโอและอีเมล) ว่า สิ่งยากที่สุดในการทำ Midnight Traveler ก็คือ การที่เขาต้องหาสมดุลระหว่างบทบาท “คนทำหนัง” และ “พ่อ”

“ยิ่งครอบครัวผมเจอปัญหาหนักเท่าไหร่ ยิ่งผมได้เจอเรื่องน่าเจ็บปวดมากแค่ไหน แปลว่าหนังก็ย่อมเข้มข้นขึ้นเท่านั้น นั่นคือสิ่งที่ผมคิดในฐานะคนทำหนัง แต่ในฐานะพ่อและสามีล่ะ ผมควรจะรู้สึกยังไงกันแน่ ผมอยากเล่าเรื่องเหล่านี้ให้ชาวโลกได้รู้ แต่มันจะมีประโยชน์อะไรบ้างไหม”

“บางฉากผมมีความสุขกับการได้ถ่ายภาพสวยงาม แต่ขณะเดียวกันตัวผมก็ร้องไห้อยู่หลังกล้อง บางครั้งลูกเมียผมกำลังกลัวและมองผมเพื่อจะได้รู้สึกปลอดภัย ผมต้องแสร้งทำหน้าตาเข้มแข็งทั้งที่จริงๆ ผมก็กลัวและไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรต่อ ผมอับอายที่ไม่สามารถทำอะไรเพื่อพวกเขาได้ ในเวลาแบบนั้นผมรู้สึกเกลียดตัวเอง เกลียดหนัง อยากจะพังโทรศัพท์ทิ้งแล้วทุบตีตัวเองแรงๆ และผมก็ต้องปลอบตัวเองด้วยความคิดที่ว่า เราไม่ใช่คนสร้างปัญหานี้ มันไม่ใช่ความผิดของผม เพื่อที่ผมจะได้มีกำลังใจทำงานต่อไป”

“ในโลกมีหนังมากมายเล่าเรื่องปัญหาของคนอพยพ แต่ผมอยากเล่ามันผ่านเรื่องครอบครัวผมเอง เพราะผมอยากให้คนดูรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของเรา อยู่ข้างๆ เรา หัวเราะร้องไห้ เป็นทุกข์และมีความฝันไปพร้อมกับเรา ครอบครัวเราใกล้ชิดกันมาก เราต่อสู้ทุกปัญหาด้วยกัน เมื่อไหร่ที่ผมรู้สึกสิ้นหวัง เพียงแค่เห็นลูกๆ ทำอะไรสักอย่างที่น่ารัก ผมก็จะมีความหวังขึ้นมาใหม่ โลกของลูกสาวผมมีแต่ความจริงใจ การอยู่ใกล้ลูกเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิต และตลอดการหลบหนีนี้ พลังทั้งหมดของเราก็เกิดจากการที่เราอยู่ด้วยกัน ผมเลยคิดว่านี่ล่ะเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่ผมอยากถ่ายทอด”