มาร์แซล โอฟูลส์ ผู้กำกับระดับตำนาน เสียชีวิตแล้วในวัย 97 ปี

มาร์แซล โอฟูลส์ ผู้กำกับระดับตำนานเชื้อสายเยอรมัน-ฝรั่งเศสเจ้าของหนังสารคดีคลาสสิกเรื่อง The Sorrow and the Pity (1969) เสียชีวิตแล้วอย่างสงบในวัย 97 ปี
 
ชีวิตของโอฟูลส์ผ่านช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งมาหลายครั้งหลายหนมากจริง ๆ เขาเกิดที่แฟรงก์เฟิร์ตในปี 1927 เป็นลูกของ ฮิลเด วอลล์ นักแสดงชาวเยอรมัน กับ มักซ์ โอฟูลส์ ผู้กำกับชาวเยอรมันยิวชื่อดัง ครอบครัวของเขาหนีจากเยอรมนีไปฝรั่งเศสหลังจากพรรคนาซีขึ้นครองอำนาจในปี 1933 แล้วก็ต้องหนีอีกครั้งเมื่อนาซีบุกเข้าฝรั่งเศส โดยหนีเข้าสเปนแล้วไปถึงสหรัฐอเมริกาในปี 1941
 
โอฟูลส์เรียนจบมหาวิทยาลัยที่แอลเอ เข้าทำงานในกองทัพอเมริกาที่ญี่ปุ่นปี 1946 ต่อมาครอบครัวโยกย้ายอีกครั้งกลับสู่ฝรั่งเศสในปี 1950 ซึ่งที่นั่นเองที่เขาเริ่มเข้าสู่วงการหนังผ่านการแนะนำของ ฟรองซัวส์ ทรูฟโฟต์
 
ปี 1967 โอฟูลส์เริ่มทำสารคดีเรื่องแรก เป็นซีรีส์ยาว 32 ชั่วโมงเกี่ยวกับวิกฤตการณ์มิวนิก จากนั้นสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลฝรั่งเศสมอบหมายให้เขาทำสารคดีเกี่ยวกับฝรั่งเศสยุคที่ตกอยู่ใต้การยึดครองของนาซี แต่สิ่งที่โอฟูลส์ทำส่งกลับคือ The Sorrow and the Pity สารคดียาว 4 ชั่วโมงครึ่งที่เปิดโปงว่าชาวฝรั่งเศสไม่สามารถเล่นบท “เหยื่อนาซี” ได้หรอก เพราะในความจริงฝรั่งเศสก็ร่วมมือกับนาซีไม่ใช่น้อย
The Sorrow and the Pity (1969)
ผลคือสถานีโทรทัศน์สั่งแบนงานชิ้นนี้ทันที โดยหัวหน้าสถานีแจ้งกับรัฐบาลว่าหนังเรื่องนี้จะ “ทำลายความเชื่อที่คนฝรั่งเศสยังต้องการมีอยู่” พร้อมกับวิจารณ์ที่โอฟูลส์ตำหนิประเทศฝรั่งเศสอย่างไม่เป็นธรรม จนกระทั่งปี 2004 เมื่อสำนักข่าวเดอะการ์เดียนไปถามเขาเรื่องนี้ เขาจึงตอบโต้ว่า หนังของเขาถูกตราหน้าว่าโจมตีฝรั่งเศส ซึ่ง “เป็นเรื่องไร้สาระที่ผมต้องทนฟังมา 40 ปีแล้ว ผมไม่ได้ต้องการจะโจมตีอะไรเลย ใครจะไปรู้ว่าประเทศไหนจะทำได้ดีกว่านี้ถ้าเจอสถานการณ์เดียวกัน” เขาก็แค่ต้องการถ่ายทอดข้อเท็จจริงเท่านั้น
 
The Sorrow and the Pity ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ในปี 1971 สาขาสารคดียอดเยี่ยม และกลายเป็นที่จดจำของคนวงกว้างเมื่อไปปรากฏในหนังเรื่อง Annie Hall ตอนที่ตัวละครของวู้ดดี้ อัลเลนชวนไดแอน คีตันไปดู (ตัวสารคดีเองเพิ่งจะได้ฉายทางทีวีฝรั่งเศสในปี 1981)
Annie Hall (1977)
เรื่องราวความขัดแย้งของมนุษยชาติเป็นธีมหลักในงานของโอฟูลส์มาตลอดนับแต่นั้น เขาทำ A Sense of Loss (1972) ว่าด้วยความวุ่นวายในไอร์แลนด์เหนือ, The Memory of Justice (1976) เกี่ยวกับความโหดร้ายในสงคราม, Hotel Terminus: The Life and Times of Klaus Barbie (1988) เล่าถึงอาชญากรสงครามนาซี ซึ่งเรื่องนี้ทำให้โอฟูลส์ได้รับรางวัลออสการ์สาขาสารคดียอดเยี่ยม, November Days (1991) ที่สัมภาษณ์ชาวเยอรมันตะวันออกเกี่ยวกับการล่มสลายของคอมมิวนิสต์และการรวมประเทศ, The Troubles We’ve Seen (1994) ว่าด้วยการรายงานข่าวสงครามที่ถ่ายทำในซาราเยโวระหว่างถูกล้อม
 
และแม้แต่ในช่วงชีวิตสุดท้าย เขาก็กำลังทำสารคดีว่าด้วยเหตุการณ์อิสราเอลยึดครองดินแดนปาเลสไตน์ โดยใช้ชื่อเรื่องชั่วคราวว่า Unpleasant Truths
 
Doc Club ขอร่วมไว้อาลัยต่อการจากไปของคนทำสารคดีผู้ยิ่งใหญ่มา ณ ที่นี้

โครงการพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านภาพยนตร์สารคดี

ได้รับการส่งเสริมจาก กองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม

More news